วันนี้ (15 พฤษภาคม) สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ( เครดิตบูโร ) โพสต์ Facebook โดยเปิดเผยรายงานสินเชื่อบ้านไตรมาสที่ 1/67 จากข้อมูลสถิติของเครดิตบูโร
สุรพลระบุว่า ในไตรมาสที่ 1/67 เครดิตบูโรเห็นอะไรจากข้อมูลที่สมาชิกสถาบันการเงินส่งเข้ามาในระบบ รายละเอียดดังนี้
บรรยากาศที่พบเจอในการยื่นขอสินเชื่อบ้าน จะพบว่ามีเสียงอื้ออึงว่าถูกปฏิเสธสูงมาก เรียกได้ว่า 100 ใบสมัครผ่านการพิจารณาเบื้องต้นเพียง 50 ใบ เหตุเพราะมีการตรวจประเมินรายได้เข้มข้น เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ขอกู้มีศักยภาพ คำว่าศักยภาพมันก็ต้องมีรายได้แน่นอน มั่นคง เพียงพอ สม่ำเสมอ เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ว่าลูกหนี้จะต้องมีความสามารถในการชำระหนี้ตามตารางการชำระหนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง ตรวจรายได้เสร็จก็ไปตรวจเครดิตบูโรต่อว่ามีหนี้มากแค่ไหน มีประวัติการค้างชำระหรือไม่ เพื่อประเมินความตั้งใจในการชำระหนี้ เพราะมันก็เป็นไปตามกฎว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา
บัญชีที่เปิดใหม่ของสินเชื่อบ้านในแต่ละปีมีกี่มากน้อย และคนวัยไหนเป็นผู้ได้สินเชื่อ พบว่าส่วนใหญ่คือ Gen Y ครับ สัดส่วนสูงขึ้นทุกๆ ปี ที่สำคัญคือวงเงินสินเชื่อบ้านระดับที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท น่าจะเป็นกลุ่มหลัก
เมื่อดูการเปิดบัญชีใหม่ของสินเชื่อบ้านในแต่ละปีก็จะพบว่า ปี 2018 หรือ 2561 มีจำนวนเกินกว่า 4.3 แสนบัญชี ปีก่อนโควิดก็อยู่ที่ระดับ 3.7 แสนบัญชี ปีที่แล้วอยู่ที่ 3.3 แสนบัญชี ไตรมาสแรกของปีนี้ได้เพียง 5.9 หมื่นบัญชี ดูแล้วมันมีแต่แผ่วลง ซึ่งฝั่งผู้ประกอบการต่างก็บ่นกันมากเรื่องขายได้ยาก กู้ไม่ผ่าน ของเหลือมาก อยากให้ลดเงื่อนไขเช่น LTV หลังที่สองหลังที่สาม แต่ยังไม่มีเสียงตอบรับที่ปลายสาย เป็นต้น
ประเด็นถัดมาคือสถานการณ์ในภาพรวมของสินเชื่อบ้าน โดยหนี้บ้านที่เคยเป็น NPL แล้วมีการนำมาปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา (หนี้ทำ TDR) ภาพมันบอกว่าปรับกันมาก
ขณะที่หนี้เสียในไตรมาสนี้มีการยกตัวขึ้นมาอยู่ที่ 2.00 แสนล้านบาทเติบโต 18%YoY สัดส่วนในหนี้เสียรวม (1.09 ล้านล้านบาท) ก็ประมาณ 20% ถือว่าไม่น้อยนะครับ
ส่วนหนี้บ้านที่เริ่มค้างชำระแต่ยังไม่เลย 90 วัน เรียกหนี้ตรงนี้ว่าหนี้กำลังจะเสีย หรือ SM มันมาหยุดที่ 1.8 แสนล้านบาท เติบโต 15%YoY ดีขึ้นกว่า 4Q66 ที่เติบโต 31%YoY ที่สำคัญคือ 1.2 แสนล้านบาทอยู่ในความดูแลของแบงก์รัฐ การปรับโครงสร้างหนี้จะมีความยืดหยุ่น ผ่อนปรน ไม่ขึงตึงเท่าทางฝั่งเอกชน ท่านจะดูเป็นยอดเงิน จำนวนบัญชี หรือเป็น % ก็ตามสะดวกนะครับ
เพื่อขยายความเพิ่ม กราฟแท่งสีแดงคือหนี้ที่ค้างเกิน 90 วัน หรือหนี้เสียของสินเชื่อบ้าน แท่งสีเหลืองคือหนี้กำลังจะเสียหรือ SM สินเชื่อบ้าน กราฟแท่งด้านซ้ายคือจำนวนบัญชีแยกตามช่วงวัยของ Generation ในแต่ละไตรมาส เช่น ไตรมาส 1 ปี 2567 Gen Y ถือสัญญาสินเชื่อบ้านที่เป็น NPL เท่ากับ 83,281 สัญญา คิดเป็นเงิน 1.24 แสนล้านบาท
50% ของหนี้รอเน่าเป็นของ Gen Y
ในกรณีของ SM บ้านที่อยู่ในมือคน Gen Y ช่วงเวลาเดียวกันนี้มีจำนวน 76,276 สัญญา คิดเป็นเงิน 1.18 แสนล้านบาท คิดแบบเร็วๆ ครับ คน Gen Y เป็นหนี้เสียบ้านกว่า 50% ของหนี้เสียบ้านทั้งหมด (1.24/2.00 แสนล้านบาท) และก็กว่า 50% อีกเหมือนกันที่คน Gen Y เป็นหนี้กำลังจะเสียส่วนใหญ่ (1.18/1.80 แสนล้านบาท)
คนวัยกำลังทำงานจะไปต่ออย่างไรในบรรยากาศเศรษฐกิจโตต่ำ มีปัญหาให้แก้แทบทุกด้าน จะเป็นหลานอาม่าในวันนี้มันไม่ง่ายเหมือนในหนังที่มีคนรุ่นก่อนเก็บเงินไว้ให้นะครับ ชีวิตจริงกับในหนังมันแตกต่างกันพอสมควร
ผมขอเสนอภาพความรู้สึก การประเมิน และข่าวร้ายๆ เกี่ยวกับคนที่เป็นลูกหนี้ ว่าในสภาพที่รุมเร้าแบบนี้ ทางออกของใครบางคนมันก็ไม่พึงประสงค์ แต่คนเรานะครับ เมื่อมันสุดของสุด การตัดสินใจแบบนี้เราอาจจะเห็นมากขึ้น ได้แต่ภาวนาว่าอย่าเป็นเช่นนั้นเลย อันนี้มาจากภาพข่าวของสื่อ
ทั้งนี้ สุรพลระบุในข้อความว่า ขอเชิญชวนทุกๆ ท่านไปฟังการบรรยาย เรื่องหนี้ครัวเรือนไทยและการแก้ไขปัญหา จากมุมมองของคนที่รับผิดชอบโดยตรงซึ่งก็คือวิทยากรจากแบงก์ชาติ ในงาน MONEY EXPO ที่เมืองทองธานี ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 นี้นะครับ ไปฟัง ไปถามครับ ว่าเราจะทำอย่างไร ถ้าเราคือคนที่มีปัญหาการค้างชำระหนี้บ้านในเวลานี้