×

PwC เผย 5 เทรนด์สำคัญโลกการเงิน มองไทยได้ประโยชน์หากเปิดให้บริการ Virtual Bank

19.03.2022
  • LOADING...
PwC

PricewaterhouseCoopers (PwC) บริษัทที่ปรึกษาชื่อดังของโลก เปิดเผยเทรนด์สำคัญของโลกการเงิน และวิเคราะห์ความพร้อมของประเทศไทยในการรับมือกับเทรนด์ดังกล่าว โดยจอห์น การ์วีย์ หุ้นส่วนของ PwC ณ กรุงนิวยอร์ก และหัวหน้าสายงานบริการทางการเงินโลกของ PwC ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ THE STANDARD WEALTH ถึง 5 เทรนด์สำคัญที่กำลังเกิดขึ้นและจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในโลกการเงินไว้ดังนี้

 

  1. การเข้ามาของผู้เล่นใหม่ เช่น ฟินเทคและกลุ่มที่มีรากฐานมาจากการเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี โดยการ์วีย์ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงโควิดที่เร็วขึ้นจากปกติ 5-10 ปี เช่น การหันมาทำธุรกรรมการเงินต่างๆ บนมือถือมากขึ้น ทำให้กลุ่มผู้เล่นหน้าใหม่ที่มีจุดแข็งในด้านเทคโนโลยีและการมีต้นทุนทางธุรกิจที่ถูกกว่าเหล่านี้สามารถเข้ากินส่วนแบ่งตลาดไปจากธนาคารดั้งเดิมได้แล้วถึง 20%

 

  1. การปรับตัวของหน่วยงานกำกับดูแล การ์วีย์กล่าวว่า การมาถึงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินที่มีต้นทุนถูกกว่าและช่วยให้คนเข้าถึงการเงินในระบบได้มากขึ้น กำลังทำให้หน่วยงานกำกับต้องขยับตัวเองตามด้วยการเปิดกว้างมากขึ้น ดังนั้นทิศทางที่หน่วยงานกำกับต่างๆ จะมุ่งไปในช่วงนี้คือการรักษาสมดุลในด้านดูแลเรื่องความเสี่ยงและเสถียรภาพไปพร้อมๆ กับสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรม

 

  1. รูปแบบการทำงานของ Talents หรือแรงงานทักษะที่จะเปลี่ยนไป หลังจากโควิดทำให้เกิดกระแสการทำงานแบบ Work from Anywhere โดยการ์วีย์มองว่า การทำงานของ Talents ในระยะข้างหน้าจะเน้นไปที่การทำงานเป็นโปรเจกต์ที่น่าสนใจและให้อิสระมากกว่าการทำงานประจำกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้จะก่อให้เกิด The great resignation หรือการลาออกครั้งใหญ่

 

“หนึ่งในตัวอย่างที่ผมเพิ่งเจอมาคือ บริษัทลูกค้าของเราแห่งหนึ่งในแอฟริกาใต้เสียนักคณิตศาสตร์ประกันภัยให้กับบริษัทในเยอรมนีที่จ่ายค่าจ้างให้สูงกว่า แต่ก็ได้คนจากอินเดียมาแทนที่ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีการย้ายประเทศเลย เทคโนโลยีจะทำให้แรงงานทักษะสูงทำงานจากที่ใดก็ได้” การ์วีย์กล่าว

 

  1. กระแส ESG หรือการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ที่จะเข้ามามีบทบาทให้อุตสาหกรรมการเงินหันมาทำเรื่อง Green Finance โดยการปล่อยกู้ระยะข้างหน้าจะต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและมลภาวะ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานกำกับในหลายประเทศเริ่มบังคับให้สถาบันการเงินเก็บข้อมูลและรายงานกลับมา รวมถึงส่งเสริมให้มีการกำหนดแผน Net Zero

 

  1. ความสนใจใน DeFi & Crypto ที่คาดว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการบริการทางการเงินแบบรวมศูนย์ในปัจจุบันไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการบางประการของผู้บริโภคได้ โดยหน่วยงานกำกับทั่วโลกอยู่ระหว่างวางแนวทางดูแลเรื่องนี้

 

การ์วีย์กล่าวอีกว่า หากพิจารณาถึงความพร้อมของภาคการเงินไทยในการรับมือกับเทรนด์ต่างๆ เหล่านี้ เขามองเห็นสัญญาณเชิงบวกหลายประการ เช่น การที่ไทยมีสัดส่วนประชากรที่ใช้สมาร์ทโฟนสูงมาก เช่นเดียวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลก็ถือว่าล้ำหน้ากว่าหลายประเทศ

 

นอกจากนี้เขายังมองเห็นการตื่นตัวของสถาบันการเงินไทยในเรื่อง ESG ที่มีการทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ Green Finance ออกมา โดยได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานกำกับดูแล และในเร็วๆ นี้ยังมีแนวโน้มที่จะออกใบอนุญาต Virtual Bank หรือธนาคารที่ให้บริการในรูปแบบใหม่บนช่องทางดิจิทัลโดยไม่มีสาขาอีกด้วย

 

การ์วีย์มองว่าการมาถึงของ Virtual Bank จะช่วยให้คนในประเทศไทยเข้าถึงบริการสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น เนื่องจากผู้เล่นรายใหม่เหล่านี้จะมุ่งเน้นไปที่การทำธุรกิจสินเชื่อรายย่อยและการชำระเงินกับร้านค้าต่างๆ เป็นหลัก และมีความเป็นไปได้ที่เทคโนโลยีของผู้เล่นกลุ่มนี้จะสามารถเจาะถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในตลาดได้

 

“ในฮ่องกงมีผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำ Virtual Bank ได้ 8 ราย มีทั้งกลุ่มที่เป็นผู้เล่นรายใหม่และธนาคารแบบดั้งเดิม สิ่งที่เราเห็นคือผลิตภัณฑ์ที่ดีของผู้เล่นรายใหม่จะถูกธนาคารแบบดั้งเดิมลอกเลียนอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันธนาคารแบบดั้งเดิมก็จะปรับปรุงโมเดลการทำงานของตัวเอง เช่น พัฒนาเรื่องความเร็วในการให้บริการ และลดค่าธรรมเนียมให้ถูกลงเพื่อให้แข่งขันได้” การ์วีย์กล่าว

 

อย่างไรก็ดีการ์วีย์กล่าวว่า ผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาบางรายอาจมีจุดแข็งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีที่มีฐานข้อมูลจากแพลตฟอร์มของตัวเองและอัลกอริทึมที่สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงได้ดีกว่าและไม่สามารถลอกเลียนได้ เช่น ในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มที่สามารถอนุมัติสินเชื่อบ้านได้ภายใน 10 นาที จากที่ธนาคารปกติต้องใช้เวลา 2-3 สัปดาห์

 

“ในระยะยาวธนาคารแบบดั้งเดิมคงไม่ได้ถูกแทนที่ทั้งหมด ภาพที่จะเกิดขึ้นคือจะมีทั้งผู้เล่นรายใหม่และรายเก่าที่ปรับตัวได้และไม่ได้ คนที่ปรับตัวได้ก็จะอยู่รอด ส่วนรายที่ปรับตัวไม่ได้คงล้มหายไป แต่ธนาคารรูปแบบเดิมจะยังมีตลาดลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่ผู้เล่นรายใหม่ไม่ได้เข้าไป” การ์วีย์กล่าว

 

วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา และหัวหน้าสายงานกลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน บริษัท PwC ประเทศไทย ระบุว่า ขณะนี้คงยังต้องรอความชัดเจนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเรื่อง Virtual Bank ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง และลักษณะของผู้ได้รับใบอนุญาตจะเป็นอย่างไร

 

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าหากมีการเปิดให้บริการ Virtual Bank ในไทย ผลตอบรับน่าจะไม่แตกต่างจากหรือใกล้เคียงกับประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่เปิดให้บริการไปก่อนหน้านี้แล้ว

 

วิไลพรกล่าวว่า PwC ได้เคยจัดทำผลสำรวจความเห็นของลูกค้าในมาเลเซียและสิงคโปร์ที่มีต่อ Virtual Bank พบว่า 74% ของลูกค้าในมาเลเซียให้ความสนใจจะใช้บริการ Virtual Bank ขณะที่สัดส่วนดังกล่าวในสิงคโปร์และฮ่องกงอยู่ที่ 61% และ 56% ตามลำดับ

 

การสำรวจดังกล่าวยังพบด้วยว่าลูกค้าที่มีอายุมากกว่า 55 ปี มีแนวโน้มจะใช้บริการ Virtual Bank มากเป็น 2 เท่า ซึ่งเป็นผลมาจากการมีประสบการณ์ไม่ดีกับธนาคารแบบดั้งเดิมที่ใช้บริการอยู่ 

 

อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจคือ ในการสำรวจมีผู้ที่ตอบว่าเชื่อมั่นในระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลลูกค้าของ Virtual Bank เพียง 36% เท่านั้น ซึ่งตัวเลขนี้อาจสะท้อนถึงความจำเป็นของการลงทุนในเรื่อง Cyber Security หรือความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอุตสาหกรรมการเงิน

 

การ์วีย์กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า การเคลื่อนย้ายระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ขึ้นไปไว้บนคลาวด์ของผู้ให้บริการทางการเงินจะทำให้ความเสี่ยงในการถูกเจาะข้อมูลเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการใช้จ่ายด้านนี้จะเป็นหนึ่งในต้นทุนของผู้ให้บริการ เพราะนอกจากจะต้องเลือกใช้ผู้ให้บริการคลาวด์ที่น่าเชื่อถือและมีระบบป้องกันที่ดีแล้ว ยังต้องลงทุนพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เท่าทันเทคนิคใหม่ๆ ของอาชญากรทางไซเบอร์ตลอดเวลา

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising