×

รัสเซียต้องการอาวุธ แล้วเกาหลีเหนือได้อะไร? วิเคราะห์ภารกิจปูตินเยือนเกาหลีเหนือรอบ 24 ปี

19.06.2024
  • LOADING...

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย เดินทางถึงกรุงเปียงยางของเกาหลีเหนือ ในทริปการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 24 ปี ท่ามกลางการต้อนรับอย่างหรูหราสมเกียรติ โดยสหายคนสำคัญอย่าง คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่ไปรอให้การต้อนรับด้วยตนเอง แม้ว่าเครื่องบินของผู้นำรัสเซียจะเดินทางไปถึงในช่วงเวลาเช้ามืด คือประมาณ 03.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ขณะที่ถนนหลายสายในเปียงยางประดับประดาด้วยภาพปูตินและธงรัสเซีย

 

การเยือนครั้งนี้เกิดขึ้นตามคำเชิญของคิมที่ไปเยือนภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซียเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว แต่แน่นอนว่าจุดมุ่งหมายของการเยือนสำหรับปูตินนั้นไม่ใช่แค่การไป ‘เยี่ยมบ้านเพื่อน’ และอาจมีเป้าประสงค์ที่หลายฝ่ายคาดเดากันว่าน่าจะเป็น ‘อาวุธ’ ที่รัสเซียต้องการนำไปใช้ในสงครามยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อและไม่จบง่ายๆ 

 

โดยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เกาหลีเหนือถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนอาวุธให้รัสเซีย และแสดงจุดยืนสนับสนุนการก่อสงครามรุกรานของรัสเซียอย่างเหนียวแน่น

 

อย่างไรก็ตาม รอยยิ้มและการสวมกอดทักทายอย่างอบอุ่น ไม่อาจยืนยันได้ว่าความสัมพันธ์ฉันมิตรของทั้งสองฝ่ายจะเป็นไปในลักษณะของการให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าอะไรคือสิ่งที่คิมจองอึนต้องการเพื่อแลกเปลี่ยนกับการสนับสนุนรัสเซียโดยไม่สนใจท่าทีต่อต้านจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตก 

 

มอสโก-เปียงยาง ต้องการอะไร?

 

ในอดีตที่ผ่านมา ภาพความสัมพันธ์ระหว่างปูตินและคิมจองอึนไม่ค่อยชัดเจนนัก จนกระทั่งช่วงปีที่แล้ว หลังจากที่สงครามในยูเครนยาวนานและยากลำบากกว่าที่วางแผน ทำให้อาวุธในคลังแสงของกองทัพรัสเซียลดน้อยลง และเกาหลีเหนือกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถช่วยเหลือได้ แม้ว่าจะมีอาวุธที่เทคโนโลยีเก่าแก่และล้าหลังกว่า

 

ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ทั้งสองร่วมประชุมสุดยอดที่ศูนย์อวกาศวอสตอชนี คอสโมโดรม (Vostochny Cosmodrome) ในภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย โดยคิมเดินทางด้วยรถไฟหุ้มเกราะไปพบปูติน และหลังจากนั้นก็มีรายงานอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากของเกาหลีเหนือถูกส่งไปให้แก่รัสเซีย 

 

ข้อมูลจากสหรัฐฯ ที่เปิดเผยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาระบุว่า รัสเซียได้รับตู้คอนเทนเนอร์มากกว่า 10,000 ตู้จากเกาหลีเหนือ ซึ่งเทียบเท่ากับอาวุธยุทโธปกรณ์หรือวัสดุที่เกี่ยวข้องกับอาวุธยุทโธปกรณ์น้ำหนัก 2.6 แสนเมตริกตัน

 

แต่สำหรับการพบกันในเปียงยางรอบนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่รัสเซียต้องการอาวุธมาใช้ในสงครามมากยิ่งขึ้น มีการคาดหมายกันว่าความต้องการอาวุธจากเกาหลีเหนือน่าจะเป็นประเด็นสำคัญในการพูดคุยของทั้งสองผู้นำ นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจ 

 

ทั้งนี้ปูตินและคิมยังได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ฉบับใหม่ ซึ่งคาดว่าครอบคลุมด้านความมั่นคงด้วย

 

โดยก่อนหน้านี้ปูตินเผยว่า เขาและคิมจะ ‘กำหนดรูปแบบสถาปัตยกรรมของความมั่นคงในยูเรเชียที่เท่าเทียมและไม่แบ่งแยก’ 

 

รายงานจากสื่อทางการรัสเซียระบุว่า ปูตินยังได้มอบของขวัญแก่คิมเป็นรถหรูยี่ห้อ Aurus ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์หรูของรัสเซีย พร้อมด้วยมีดสั้นพลเรือเอกและชุดน้ำชา

 

แต่ของขวัญเหล่านี้อาจไม่ใช่สิ่งแลกเปลี่ยนที่ดีพอสำหรับคิม เมื่อเทียบกับการต้องสนับสนุนอาวุธให้เครมลินในภาวะนี้

 

โดยหนึ่งในสิ่งที่นักวิเคราะห์หลายรายมองว่าเกาหลีเหนือต้องการจากรัสเซีย คือเทคโนโลยีอาวุธที่ก้าวล้ำ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม การออกแบบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ หรือการขับเคลื่อนพลังงานนิวเคลียร์สำหรับเรือดำน้ำ

 

นอกจากนี้เปียงยางยังต้องการให้เครมลินช่วยเหลือในการพัฒนาโครงการอวกาศและดาวเทียม ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้เกาหลีเหนือปรับปรุงขีดความสามารถทางทหารภาคพื้นดินได้ เช่น สามารถกำหนดเป้าหมายโจมตีขีปนาวุธไปยังกองกำลังของศัตรูได้แม่นยำยิ่งขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่ปูตินจะให้ความร่วมมือสนับสนุนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์ซึ่งค่อนข้างเป็นประเด็นอ่อนไหว 

 

โดยในอดีตรัสเซียก็มีจุดยืนไม่ต่างจากชาติตะวันตกนัก ในการสนับสนุนให้มีการควบคุมโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ อีกทั้งจีนซึ่งเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดของรัสเซียก็ไม่ต้องการเห็นการเผชิญหน้าทางนิวเคลียร์ในภูมิภาคนี้

 

ด้านโฆษกเครมลินตอบคำถามเกี่ยวกับความกังวลของชาติตะวันตก ที่จับตามองว่ารัสเซียอาจพิจารณามอบเทคโนโลยีที่มีความละเอียดอ่อนให้แก่เปียงยาง โดยระบุว่า “ศักยภาพในการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีนั้นลึกซึ้ง และไม่ควรสร้างความกังวลให้กับใครก็ตาม อีกทั้งไม่ควรและไม่สามารถที่จะถูกท้าทายโดยใครก็ตาม”

 

แต่ถึงกระนั้น เทคโนโลยีที่อาจสนับสนุนเกาหลีเหนือได้ก็ยังมีอีกหลายอย่าง เช่น การช่วยปรับปรุงเรดาร์หรือระบบยิงขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ

 

จับมือต้านชาติตะวันตก

 

การเลือกเยือนเกาหลีเหนือของผู้นำรัสเซียช่วงนี้เป็นไปอย่างเหมาะเจาะ และสะท้อนภาวะการแบ่งขั้วอย่างชัดเจน 

 

โดยเมื่อเดือนที่ผ่านมา ปูตินเพิ่งเดินทางไปเยือนจีนเพื่อพบกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ขณะที่กลุ่ม G7 เองก็ใช้เวทีประชุมสุดยอดในอิตาลีเพื่อแสดงความสามัคคีในการต่อต้านการทำสงครามของมอสโก

 

ในขณะเดียวกัน เกาหลีเหนือก็แสดงท่าทีต่อต้านความร่วมมือด้านความมั่นคงที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และพันธมิตรอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนวาทกรรมโต้แย้งที่ดุเดือด และการเดินหน้าโครงการทดสอบขีปนาวุธของเปียงยาง

 

เอ็ดเวิร์ด โฮเวลล์ (Edward Howell) อาจารย์ด้านการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเชี่ยวชาญสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี มองว่าความสัมพันธ์ของปูตินและคิมไม่ได้เกี่ยวข้องเพราะความจำเป็นเพียงแค่นั้น แต่มองว่าทั้งรัสเซียและเกาหลีเหนือกำลังเพิ่มความเหนียวแน่นในการสร้างแนวร่วมที่เป็นเอกภาพ และจับมือกันต่อต้านสหรัฐฯ และชาติตะวันตก”

 

ขณะที่การสนับสนุนจากปูตินซึ่งเป็นผู้นำประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคิม ที่เรียกได้ว่าค่อนข้างโดดเดี่ยวในเวทีโลก 

 

เช่นเดียวกับรัสเซียที่ถูกต่อต้านอย่างหนักจากประชาคมโลกนับตั้งแต่เปิดฉากสงครามในยูเครน การที่เลือกเยือนจีนและเกาหลีเหนือยังเป็นโอกาสที่ดีในการส่งสัญญาณว่า รัสเซียไม่ได้โดดเดี่ยวและยังมีเพื่อนฝูง

 

ภาพ: Sputnik/Gavriil Grigorov/Pool via REUTERS

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X