×

เปิดประชุมสภาต้น ธ.ค. นี้ รัฐดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมเต็มที่ พบมีแค่เพื่อไทยเสนอพรรคเดียวจากซีกรัฐบาล

โดย THE STANDARD TEAM
31.10.2023
  • LOADING...
กฎหมายสมรสเท่าเทียม

วันนี้ (31 ตุลาคม) ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เร่งรัดให้นำร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม รับฟังความเห็นประชาชน (ประชาพิจารณ์) และนำมาให้ ครม. พิจารณาเพื่อส่งต่อไปยังสภาผู้แทนราษฎรภายใน 15 วัน 

 

หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้เป็นร่างของหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพ เพราะการเสนอกฎหมายจะต้องผ่านที่ประชุมรัฐสภา แต่เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ทำให้ร่างกฎหมายทั้งหมดในสภาตกไป

 

การจะเสนอร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ได้ต้องผ่านผู้มีสิทธิทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ ครม., สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ไม่น้อยกว่า 20 คน และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อกัน 10,000 ชื่อขึ้นไป 

 

ฝ่ายภาคประชาชนเคยมีการเปิดให้ประชาชนเข้าชื่อและร่วมลงชื่อเสนอร่างดังกล่าวแล้ว

 

ขณะที่ สส. พรรคก้าวไกลก็เสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมอีกครั้งในสภาชุดนี้ ซึ่งเป็นฉบับที่มีเนื้อหาเดียวกับร่างที่เคยเสนอต่อรัฐสภา โดยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา 

 

เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่เคยแสดงจุดยืนเพื่อ LGBTQIA+ ไทยว่า พรรคพร้อมสนับสนุนและร่วมเป็นแรงส่งในการผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ ด้วยหลักของสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งพรรคเคยเสนอแนวคิดให้คนรักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมายในสมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร แต่ถูกต่อต้าน 

 

ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความพยายามให้มีกฎหมายรับรองคู่รักเพศเดียวกันอีกครั้ง ในการเสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ล่าสุดรัฐบาลเศรษฐาได้จัดประชุมเกี่ยวกับกฎหมาย 3 ฉบับ ‘ภาคีกฎหมายภาคประชาชน 3 ฉบับ เพื่อความเป็นธรรมทางเพศ’ จากองค์กรภาคสังคม 36 องค์กร ที่ได้มีการยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 

 

  1. กฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือ (ร่าง) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ….
  2. กฎหมายการรับรองเพศสภาพ หรือ (ร่าง) พระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพและคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. ….
  3. การทำให้พนักงานบริการถูกกฎหมาย หรือ (ร่าง) พระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539

 

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ในวาระแรกของการเปิดประชุมสมัยต่อไปที่จะเริ่มต้นขึ้นประมาณต้นเดือนธันวาคม จะผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเต็มที่ ขอให้สบายใจว่าทำได้ และเข้าใจว่าเรื่องที่ทุกท่านกำลังคุยมานี้ยังมีอีกหลายเรื่อง รวมไปถึงเรื่องการใช้คำนำหน้า

 

หากย้อนดูคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีเศรษฐาที่แถลงต่อรัฐสภา พบว่า มีการระบุว่า “รัฐบาลจะผลักดันให้มีกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ” ซึ่งก็ต้องจับตากันต่อไปว่า ครม. จะเสนอร่างกฎหมายที่รับรองสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าสภาทันวาระแรกหรือไม่ และมีเนื้อหาอย่างไร

 

ขณะเดียวกัน โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยกับทีม THE STANDARD ว่า ร่างกฎหมายที่นำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. มาจาก สส. ฝั่งรัฐบาล คิดว่าน่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยพรรคเดียว เพราะพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีพรรคไหนเสนอ มีเพียงพรรคเพื่อไทยที่เรารับปากตั้งแต่หาเสียงและเป็นนโยบายหลักของเรา

 

เมื่อถามว่า จะไม่ถูกมองว่าเป็นการปาดหน้าพรรคก้าวไกลที่เสนอเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นหรือไม่ ชัยกล่าวว่า “เราไม่ได้มองประเด็นนั้นเลย ในที่ประชุมไม่ได้มีการพูดถึงก้าวไกลจะเสนอแล้วเราต้องเร่งสปีดเพื่อแซงหน้าเขา ในที่ประชุมเราไม่พูดถึงก้าวไกลเลยดีกว่าด้วย พูดถึงแต่เรื่องกฎหมายของเรา ส่วนมันจะไปปาดหน้าไหม จะไปตามหลังเขาไหม ไม่ได้คุยกัน” 

 

ชัยยังกล่าวด้วยว่า การรับข้อเสนอของกลุ่ม ‘ภาคีกฎหมายภาคประชาชน 3 ฉบับ เพื่อความเป็นธรรมทางเพศ’ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีพูดถึงประเด็นกลุ่มต่างๆ ได้ถูกใจกลุ่มที่มาสะท้อนถึงความเข้าใจของนายกรัฐมนตรีว่า สิทธิเสรีภาพของคนไม่ควรถูกจำกัดด้วยเพศสภาพ และต้องยอมรับเพศสภาพแทนที่จะยึดถือเพศกำเนิด ฉะนั้น ต้องแก้ไขและใส่ไปในบทบัญญัติใหม่เพื่อตอบสนองต่อจุดยืนนี้

 

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ครม. ยังมอบหมายให้ พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหัวเรือใหญ่ในการเข้าไปจัดงาน Bangkok World Pride ที่จะจัดขึ้นในปี 2568 โดยจะมีการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกันในเร็วๆ นี้

 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งนำร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดเข้ามาพิจารณาใน ครม. ภายใน 15 วัน ก่อนจะส่งต่อไปยังสภา เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องภาวะปัญหา PM2.5 ซึ่งครั้งนี้คาดว่าจะเริ่มมีปัญหาในช่วงปลายเดือนมกราคม 2567 จึงอยากเร่งรัดในการจัดการแก้ไขปัญหานี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising