การเติบโตปีละ 10% ของตลาดร้านกาแฟมูลค่า 2.8 หมื่นล้านบาท ทำให้ ‘ร้านกาแฟพันธุ์ไทย’ ซึ่งวันนี้รั้งเบอร์ 4 ของตลาด (อีก 3 แบรนด์ยักษ์คือ คาเฟ่ อเมซอน, สตาร์บัคส์ และอินทนิล) ได้ประกาศเป้าหมายใหญ่ในการขยายจาก 511 สาขา พุ่งเป็น 5,000 สาขาภายใน 5 ปี
ไม่แปลกที่จะตั้งเป้าหมายเช่นนี้ เพราะ Grab ได้เผยอินไซต์ของลูกค้าในประเทศไทยพบว่ากาแฟคือเครื่องดื่มยอดนิยม ซึ่งคนไทยนิยมดื่มกาแฟมากกว่าเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ ทุกๆ 1 นาทีจะมีผู้ใช้บริการสั่งกาแฟผ่าน GrabFood ถึง 15 แก้ว หรือมากกว่า 7.8 ล้านแก้วตลอดทั้งปีเลยทีเดียว!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 10 ปี ‘กาแฟพันธุ์ไทย’ ฝันใหญ่อยากแซง ‘อินทนิล’ ขึ้นเป็นเบอร์ 2 ของเชนร้านกาแฟในปั๊มน้ำมัน ใช้กลยุทธ์ Underdog สร้างความต่าง
- ‘ไก่ทอด’ คว้าเมนูขายดีบน GrabFood ส่วน ‘กาแฟ’ เป็นเครื่องดื่มยอดนิยม ทุกๆ 1 นาที มียอดสั่งซื้อกว่า 15 แก้ว
- ธุรกิจ ร้านกาแฟ ‘รายเล็ก’ ต้านพิษต้นทุนไม่ไหว แห่ปิดกิจการ ส่วนค่ายใหญ่เร่งเปิดสาขา ชิงทำเลทราฟฟิกสูง
กาแฟพันธุ์ไทยก่อตั้งได้ครบ 10 ปีแล้ว อันเป็นธุรกิจร้านกาแฟที่อยู่ภายใต้เครือ PTG ถือเป็นกลุ่มหลักในธุรกิจ Non-Oil ซึ่งปีที่ผ่านมามีสาขาของธุรกิจ Non-Oil รวมกัน 1,526 สาขา โดยก่อนหน้านี้ได้ประกาศเป้าหมายชัดอย่างการขยับขึ้นเป็นอันดับ 2 ของเชนร้านกาแฟในปั๊มน้ำมัน
พิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ระบุว่า ร้านกาแฟพันธุ์ไทยวางทิศทางการเติบโตตามแผนกลยุทธ์ 4 ด้าน คือ
- มุ่งขยายสาขาร้านกาแฟพันธุ์ไทยในรูปแบบของ ‘แฟรนไชส์’ ทั้งภายในและนอกสถานีบริการน้ำมัน PT
- รังสรรค์เครื่องดื่มใหม่ๆ
- เน้น Delivery Platform ให้มากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มการรับรู้ (Awareness) การมองเห็น (Visibility) และการเข้าถึงแบรนด์ของลูกค้า (Accessibility)
- นำข้อมูลลูกค้าจากบัตรสมาชิก PT Max Card และ PT Max Card Plus มาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า เพื่อเพิ่มยอดขายและความถี่ของการเข้าใช้บริการร้านกาแฟพันธุ์ไทย
ข้อมูลจาก บล.โนมูระ เผยว่า PTG วางงบการลงทุนในปี 2566 ไว้ที่ 5-6 พันล้านบาท ในจำนวนนี้ 2-2.5 พันล้านบาทจะลงทุนในธุรกิจ Non-Oil โดยเฉพาะร้านกาแฟพันธุ์ไทยที่ตั้งเป้าขยาย 1,000 สาขา ซึ่งกว่า 50% จะเป็นการขยายในรูปแบบแฟรนไชส์
สิ่งที่น่าจับตาคือ ผลกระทบด้านต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น แต่ PTG มองว่า การขยายสาขาที่มากขึ้น ทำให้เกิด Economies of Scale ซึ่งจะเข้ามาชดเชยผลกระทบด้านต้นทุน ทำให้ยังคงการขายที่ราคาเดิมได้
บล.พาย ประมาณการกำไรปี 2566 ไว้ที่ 1.51 พันล้านบาท โตขึ้น 62% ซึ่งเกิดจากการเติบโตของปริมาณขายทั้งในธุรกิจนํ้ามันและ Non-Oil ตลอดจนค่าการตลาดค้าปลีกนํ้ามันที่กลับสู่ระดับปกติ
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากธุรกิจร้านกาแฟพันธุ์ไทย PTG ยังได้ตั้งเป้า Retail Oil Market Share กว่า 25% มีจำนวนสมาชิก Max Card เพิ่มเป็น 30 ล้านราย จากฐานสมาชิกเดิมที่มีอยู่ทั้งสิ้น 19 ล้านราย
“ความสำคัญของ Max Card และ Max Card Plus คือเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า เพิ่มยอดขาย และเพิ่มความถี่ของการเข้ามาใช้บริการธุรกิจในเครือเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เรามีเครื่องมือ Max Me ที่เป็นแอปพลิเคชัน และ E-Wallet ที่จะช่วยต่อยอดฐานสมาชิกในโลกออนไลน์”