วันนี้ (23 พฤษภาคม) สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกแถลงการณ์ยืนยันบทลงโทษเจ้าหน้าที่ทีมของทีมชาติไทยและนักกีฬา ตามที่คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนจรรยา กรณีปัญหาในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลชาย ซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ประจำปี 2023 นัดชิงชนะเลิศ ระหว่างทีมชาติไทยกับทีมชาติอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
เหตุการณ์ดังกล่าวสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้นำเสนอข่าวขณะเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่สนใจของประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของวงการกีฬาฟุตบอลไทยและประเทศไทย
คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งมี พล.ต.ท. อำนวย นิ่มมะโน เป็นประธาน ได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐาน สืบสวนสอบสวนตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 และเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566
โดยคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริ มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ตรงกันว่า แม้ว่า ประสบโชค โชคเหมาะ ผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตู, มายีด หมัดอะด้ำ เจ้าหน้าที่ทีม และ ภัทราวุธ วงษ์ศรีเผือก เจ้าหน้าที่ทีม ซึ่งโดยตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบนอกจากจะทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนนักกีฬาฟุตบอลหรือปฏิบัติหน้าที่อื่นตามความรับผิดชอบในทีมฟุตบอลแล้ว ด้วยความรู้ ประสบการณ์ วัยวุฒิ คุณวุฒิ และวุฒิภาวะ จะต้องมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลพฤติกรรมความประพฤติของนักกีฬาฟุตบอลด้วย โดยเฉพาะทีมชาติชุดนี้เป็นชุดรุ่นอายุไม่เกิน 22 ปี ซึ่งถือว่ายังเยาว์วัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี คอยตักเตือนสั่งสอนอบรมนักกีฬาที่ประพฤติปฏิบัติไม่ถูกต้องหรือมีพฤติการณ์ที่ส่อว่าจะประพฤติปฏิบัติไม่ถูกต้อง หาใช่เป็นผู้นำในการกระทำผิดหรือเข้าร่วมในการกระทำผิดเสียเองเช่นกรณีนี้
จึงไม่มีเหตุอันควรปรานี อาศัยอำนาจตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยจรรยาสำหรับนักกีฬาอาชีพและบุคลากรกีฬาอาชีพ ในความดูแลของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2560 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 1) พ.ศ. 2565 หมวด 1 จรรยาของนักกีฬาอาชีพและบุคลากรกีฬาอาชีพ ข้อ 3 (4) และ (11) หมวด 2 กลไกและระบบการบังคับใช้จรรยา ข้อ 7 ประกอบกับหมวด 3 บทกำหนดโทษ ข้อ 10.9 เห็นควรลงโทษ ‘พักการปฏิบัติหน้าที่ในนามทีมชาติไทยทุกชุด เป็นเวลา 1 ปี’
ส่วน โสภณวิชญ์ รักญาติ นักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย ในตำแหน่งผู้รักษาประตู อายุ 22 ปี และ ธีรภักดิ์ เปรื่องนา ผู้เล่นสำรองทีมชาติไทยหมายเลข 18 อายุ 21 ปี ที่ร่วมกระทำผิดด้วยนั้น นอกจากจะตกอยู่ในสภาวะกดดันด้านจิตใจ ด้วยเหตุมุ่งไปที่ผลการแข่งขัน และมีเหตุการณ์ยั่วยุกันไปมาจนทำให้เกิดเหตุความรุนแรงขึ้น ภายหลังเกิดเหตุรู้สึกสำนึกในการกระทำผิดและออกมาขอโทษต่อสาธารณะ ประกอบกับทั้งสองคนยังอยู่ในช่วงเยาว์วัย
จึงมีเหตุอันควรปรานี อาศัยอำนาจตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยจรรยาสำหรับนักกีฬาอาชีพและบุคลากรกีฬาอาชีพ ในความดูแลของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2560 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 1) พ.ศ. 2565 หมวด 1 จรรยาของนักกีฬาอาชีพและบุคลากรกีฬาอาชีพ ข้อ 3 (4) และ (11) หมวด 2 กลไกและระบบการบังคับใช้จรรยา ข้อ 7 ประกอบกับหมวด 3 บทกำหนดโทษ ข้อ 10.8 เห็นควรลงโทษ ‘พักการปฏิบัติหน้าที่ (เข้าร่วมแข่งขัน) ในนามทีมชาติไทยทุกชุด เป็นเวลา 6 เดือน’