×

หม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล สร้างความแปลกใหม่อะไรบ้างให้วงการบันเทิงไทย

20.09.2022
  • LOADING...
หม่อมน้อย

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ย้อนหลังไปเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว ผลงานของหม่อมน้อยนับเป็นความแปลกใหม่ของวงการภาพยนตร์มากๆ โดยเฉพาะการหยิบยกชีวิตผู้คนที่สังคมยุคนั้นไม่ค่อยพูดถึงขึ้นมาเล่า
  • หม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ฝากผลงานกำกับภาพยนตร์เอาไว้ 15 เรื่อง ละครโทรทัศน์ 11 เรื่อง และละครเวที 13 เรื่อง ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือบทสนทนาและจังหวะจะโคนกลิ่นอายละครเวที รวมทั้งการวางคาแรกเตอร์ตัวละครที่มีความล้ำลึก มีมิติ ผนวกเข้ากับองค์ประกอบศิลป์ และเครื่องแต่งกายในสไตล์วิกตอเรียน
  • ​อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของหม่อมน้อย คือการเป็นครูของนักแสดงทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ที่ขอสมัครมาเป็นลูกศิษย์ หม่อมน้อยได้เล่าถึงคลาสเรียนการแสดงว่า มันเหมือนเป็นการฝึกสมาธิที่ท่านได้จากการปฏิบัติธรรม โดยลูกศิษย์ต้องหัดลดตัวตนหรือ ‘อัตตา’ และเพิ่มความเป็น ‘มนุษย์’ เพื่อให้เข้าใจตัวเองและคนอื่นจนรู้ถึงชีวิตและวิธีคิด จนสวมบทบาทของคนคนนั้นได้อย่างแท้จริง

การจากไปของ หม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งของวงการบันเทิงไทย เพราะนอกจากจะฝากผลงานในฐานะผู้กำกับ นักเขียนบท ยังเป็นครูการแสดงผู้ขัดเกลาเหล่า ‘ดารา’ ให้ได้ชื่อว่าเป็น ‘นักแสดง’ เข้าสู่วงการบันเทิงไทย และจะเรียกว่าลมหายใจของหม่อมน้อยคืองานก็ว่าได้ เพราะในวันที่ท่านจากไป คือวันที่ภาพยนตร์เรื่อง Six Characters มายาพิศวง ที่รวบรวมลูกศิษย์ลูกหาในวงการเอาไว้เข้าฉายเป็นวันแรก เหมือนเป็นบทส่งท้ายที่ท่านฝากไว้ให้กับผู้ชม  

 

ย้อนหลังไปเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว ผลงานของหม่อมน้อยนับเป็นความแปลกใหม่ของวงการภาพยนตร์มากๆ โดยเฉพาะการหยิบยกชีวิตผู้คนที่สังคมยุคนั้นไม่ค่อยพูดถึงขึ้นมาเล่า อย่างเช่น ช่างมันฉันไม่แคร์ (2529) กับการเล่าเรื่องผู้ชายขายตัว, ฉันผู้ชายนะยะ (2530) ว่าด้วยชีวิตของ LGBTQIA+ ในยุค 80, ความรักไม่มีชื่อ (2533) เค้าโครงชีวิตจริงของ เพ็ญพร ไพฑูรย์ นางแบบที่สังคมมองว่าเป็นผู้หญิง ‘แรง’ ในยุคนั้น จนกระทั่งห่างหายจากวงการภาพยนตร์ไปมากกว่า 10 ปี และกลับมากับสไตล์หนังที่ว่าด้วยเรื่อง กิเลสตัณหา สอดแทรกปรัชญาพุทธเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น ชั่วฟ้าดินสลาย (2553), จัน ดารา (2555) แม่เบี้ย (2558) ฯลฯ ผู้เขียนขอพาย้อนรำลึกถึงชีวิต และผลงานของหนึ่งในผู้กำกับที่มีสไตล์ที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย ‘หม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล’

หม่อมน้อย

 

ชีวิต ผลงาน และสไตล์ส่วนตัว

 

​หม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ฝากผลงานกำกับภาพยนตร์เอาไว้ 15 เรื่อง ละครโทรทัศน์ 11 เรื่อง และละครเวที 13 เรื่อง ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือบทสนทนาและจังหวะจะโคนกลิ่นอายละครเวที รวมทั้งการวางคาแรกเตอร์ตัวละครที่มีความล้ำลึก มีมิติ ผนวกเข้ากับองค์ประกอบศิลป์ และเครื่องแต่งกายในสไตล์วิกตอเรียน ที่คนดูหลับตาก็พอจะนึกภาพออกว่า นี่คือผลงานของหม่อมอย่างแน่นอน

 

หลังจากลาออกขณะเรียนอยู่ชั้นปี 4 ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หม่อมน้อยก็ทำงานอยู่เบื้องหลังหนังหลายๆ เรื่อง เช่น ฝนเสน่หา ชีวิตบัดซบ ฯลฯ จนกระทั่งปี 2527 ผลงานกำกับการแสดงเรื่องแรก เพลิงพิศวาส ก็แจ้งเกิดให้กับ สินจัย เปล่งพานิช และกลายเป็นศิษย์เอกของหม่อมน้อยนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตามมาด้วย ช่างมันฉันไม่แคร์ ที่หน้าฉากคือเรื่องราวดราม่าความรักระหว่างสาวนักโฆษณากับผู้ชายขายตัว แต่สอดแทรกประเด็นการเมืองในวาระครบรอบ 10 ปี 6 ตุลาคม 2519 โดยสร้างคาแรกเตอร์นางเอกให้เป็นอดีตนักศึกษาที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์นั้น แต่ละทิ้งอุดมการณ์มารับใช้ระบบทุนนิยม โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประจำปี 2529

 

หม่อมน้อย

หม่อมน้อย

 

​ในปีถัดมาผลงานเรื่องที่ 3 ฉันผู้ชายนะยะ ดัดแปลงจากละครบรอดเวย์ The Boys in the Band ก็สร้างความฮือฮาอีกครั้ง ด้วยการเล่าเรื่องค่ำคืนหนึ่งของกลุ่มเพื่อนสาวชาวเกย์ ที่ย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต และพูดถึง Bisexual เป็นครั้งแรกๆ ในวงการหนังไทย ตามมาด้วย นางนวล (2530) โศกนาฏกรรมความรักของสาวใสบริสุทธิ์ ที่พบรักกับลูกชายนักแสดง จับพลัดจับผลูมาเป็นดารา และถูกสังคมหล่อหลอมให้เสียผู้เสียคน จบลงด้วยการเป็นดาราหนังโป๊ และต้องตายด้วยน้ำมือของผู้ชายที่ค้นพบเธอ ส่วน ความรักไม่มีชื่อ ก็พาผู้ชมเข้าไปสัมผัสชีวิตของผู้หญิงที่ถูกสังคมตราหน้าว่าไม่ดี ผ่านส่วนหนึ่งของชีวิต เพ็ญพร ไพฑูรย์

 

หม่อมน้อย

 

หลังจากนั้นหม่อมน้อยมีผลงานรักโรแมนติกอีก 2-3 เรื่อง ก่อนจะหันไปกำกับละครโทรทัศน์ ตัวอย่างเช่น เทพธิดาบาร์ 21 (2533) มินิซีรีส์เรื่องราวความใฝ่ฝันของชีวิตโสเภณี, แผ่นดินของเรา (2539) ชีวิตที่ตกต่ำของลูกสาวผู้ดี ผู้ยอมสละทุกอย่างเพื่อความรัก, สี่แผ่นดิน (2546) กับความละเมียดละไมจากบทประพันธ์ชั้นเยี่ยม ฯลฯ น่าเสียดายที่ผลงานทางจอโทรทัศน์ของหม่อมน้อยไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หลังจากละครเรื่อง ในฝัน (2549) หม่อมน้อยหยุดพักไป 3 ปี และเริ่มสนใจในพุทธศาสนา และการปฏิบัติธรรมจนมีอิทธิพลต่อผลงานในยุคต่อๆ มา หม่อมน้อยกลับมากำกับภาพยนตร์อีกครั้งในปี 2553 ในเรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย โดยผลงานยุคหลังๆ มีหน้าหนังที่เน้นเรื่องเพศรส แต่เนื้อในกลับสอดแทรกปรัชญาพุทธเข้าไป อย่างเช่น จัน ดารา และ แม่เบี้ย

 

หม่อมน้อย

หม่อมน้อย

ชั่วฟ้าดินสลาย

 

หม่อมน้อย

หม่อมน้อย

จัน ดารา 

 

คุณครูการแสดงผู้ลดดรีกรีความเป็น ‘ซูเปอร์สตาร์’

 

​อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของหม่อมน้อยคือ การเป็นครูของนักแสดงทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ที่ขอสมัครมาเป็นลูกศิษย์ และหากคิดว่ามีเทคนิคตระการตาก็ต้องบอกว่าไม่ใช่เลย เพราะครั้งหนึ่งผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปสัมภาษณ์ท่านที่บ้าน หม่อมน้อยได้เล่าถึงคลาสเรียนการแสดง ว่ามันเหมือนการฝึกสมาธิที่ท่านได้จากการปฏิบัติธรรม โดยลูกศิษย์ต้องหัดลดตัวตนหรือ ‘อัตตา’ และเพิ่มความเป็น ‘มนุษย์’ เพื่อให้เข้าใจตัวเองและคนอื่น จนรู้ถึงชีวิตและวิธีคิด จนสวมบทบาทของคนคนนั้นได้อย่างแท้จริง

 

หม่อมน้อยยังเล่าเรื่องของลูกศิษย์แต่ละคนไว้อย่างอบอุ่น อย่าง พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ ที่เข้ามาในวันที่ใครก็มองว่าเธอเป็นเด็กไม่ดี แต่หม่อมมองเห็นอะไรบางอย่างในตัวเธอ “เขาเป็นคนคลีนมาก ไม่ได้อยากดัง อยากรวย หรือเรียนเพื่อให้ได้รางวัล” จากเด็กวัยรุ่น สมาธิสั้น พลอยใช้เวลา 4 เดือนนั่งรอ นอนรอ เรียนการแสดงกับหม่อม จนตอนนี้ฝีมือการแสดงเป็นที่ยอมรับของคนทั้งวงการ

 

ส่วน อนันดา เอเวอริงแฮม ก็เคยเป็นเด็กเกเร และเกือบจะส่งไปอยู่ต่างประเทศ จนกระทั่งพบกับหม่อม “เขาเป็นคนมีพรสวรรค์ ไม่ชอบแอ็กติ้งแต่อยากเป็นผู้กำกับตั้งแต่อายุ 13 ปี และยังคงมาเรียนอยู่เรื่อยไม่หายไปไหน ตอนที่เขาได้รับรางวัล เราก็ภูมิใจเหมือนเขาได้รับปริญญา”

 

ส่วน มาริโอ้ เมาเร่อ หม่อมน้อยให้นิยามว่า “เป็นมนุษย์ที่จิตใจใสมาก” และเล่าว่าแม่ของเขาพามาฝากเป็นลูกศิษย์ตั้งแต่หนังเรื่อง รักแห่งสยาม ถ่ายทำใหม่ๆ “เขาอุตส่าห์หาบ้านเราจนเจอ ที่ยอมสอนเพราะความรักที่แม่มีต่อลูก”

 

หม่อมน้อย

หม่อมน้อย

หม่อมน้อย

นอกจากนี้ยังมีลูกศิษย์อีกหลายคนที่โลดแล่นในวงการบันเทิง อย่างเช่น บี้-สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว, สน-ยุกต์ ส่งไพศาล ที่เห็นพัฒนาการด้านการแสดงอย่างชัดเจน หรือแม้แต่นักแสดงที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วอย่าง แอฟ-ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ และ แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ ที่แม้จะยืนอยู่บนจุดสูงสุดอยู่แล้ว แต่ก็สามารถพัฒนาศักยภาพการแสดงให้สูงยิ่งขึ้นไปอีกด้วย

 

เรียกได้ว่าหม่อมน้อยไม่เพียงแต่มอบความสุข ความบันเทิงผ่านภาพยนตร์ ละคร และละครเวที แต่ยังสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับวงการบันเทิงไทย และจะกลายเป็นความทรงจำในแวดวงศิลปะไปอีกนานแสนนาน 

 

อ้างอิง:

  • นิตยสาร HAMBURGER
  • Wikipedia.org
FYI

ผลงานของ หม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล กำกับภาพยนตร์

  • เพลิงพิศวาส (2527)
  • ช่างมันฉันไม่แคร์ (2529)
  • ฉันผู้ชายนะยะ (2530)
  • นางนวล (2530)
  • เผื่อใจไว้ให้กันสักหน่อย (2532)
  • ความรักไม่มีชื่อ (2533)
  • มหัศจรรย์แห่งรัก (2538)
  • อันดากับฟ้าใส (2540)
  • ชั่วฟ้าดินสลาย (2553)
  • อุโมงค์ผาเมือง (2554)
  • จัน ดารา ปฐมบท (2555)
  • จัน ดารา ปัจฉิมบท (2556)
  • แผลเก่า (2557)
  • แม่เบี้ย (2558)
  • Six characters มายาพิศวง (2565)

 

ละคร

  • เทพธิดาบาร์ 21 (มินิซีรีส์ 2533)
  • ช่างมันฉันไม่แคร์ (2536)
  • แผ่นดินของเรา (2539)
  • ซอยปรารถนา 2500 (2541)
  • ปีกทอง (2542)
  • ลูกทาส (2544)
  • คนเริงเมือง (2545)
  • ทะเลฤๅอิ่ม (2546)
  • สี่แผ่นดิน (2546)
  • ในฝัน (2549)
  • ศรีอโยธยา (2560)

 

ละครเวที

  • ALL MY SON (2517) – แสดงที่หอประชุม A.U.A
  • บัลเลต์พระราชนิพนธ์ ‘ความฝันอันสูงสุด’ (2518) – แสดงที่โรงละครแห่งชาติ
  • The Lower Depths (2517, 2518) – แสดงที่โรงละครคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และโรงละครแห่งชาติ
  • IMPROMPTU (2520) – แสดงที่สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน
  • LES MALENTANDU (2524) – แสดงที่หอประชุมคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • เทพธิดาบาร์ 21 (2529) – แสดงที่โรงละครมณเฑียรทอง
  • ONE FLEW OVER THE CUCKOO’S NEST (2530) – แสดงที่โรงละครมณเฑียรทอง
  • ผู้แพ้ผู้ชนะ (2532) – แสดงที่โรงละครมณเฑียรทอง
  • พรายน้ำ (2533) – แสดงที่โรงละครมณเฑียรทอง
  • ราโชมอน (2534) – แสดงที่โรงละครมณเฑียรทอง
  • ปรัชญาชีวิต (2531-2533) – แสดงที่ตึกร้าง บ.แปลนอคิวเท็ก, เชียงใหม่ สปอร์ตคลับ, มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • พระผู้เป็นดวงใจ ของโรงเรียนสวนจิตรลดา (2529) – แสดงที่หอประชุมศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
  • แฮมเล็ต เดอะ มิวสิเคิล (2538) – แสดงที่หอประชุมศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising