×

เพลิงพิศวาส ถึง มายาพิศวง 38 ปี ผู้กำกับและครูทางการแสดงของ ‘หม่อมน้อย’ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล

16.09.2022
  • LOADING...
หม่อมน้อย

“เดี๋ยวส่งไปเรียนการแสดงกับหม่อมน้อย”

 

ประโยคแซวขำขันที่เรามักได้ยินกันในวงตลกและหมู่เพื่อน คือชื่อเสียงที่เลื่องลือด้านการสอนการแสดงของ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล หรือ หม่อมน้อย อาจารย์ด้านการแสดงและผู้กำกับชั้นครูที่ปลุกปั้นผลงานคุณภาพและนักแสดงมากหน้าหลายตามาประดับวงการ

 

ด้านชีวประวัติส่วนตัว หม่อมน้อยเป็นบุตรของ หม่อมราชวงศ์ชนาญวัต เทวกุล กับ นางภักดี เทวกุล ณ อยุธยา สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะลาออกเพื่อเริ่มต้นเส้นทางสายภาพยนตร์ในเวลาต่อมา

 

หม่อมน้อย

 

จนในปี 2527 ผลงานกำกับภาพยนตร์ชิ้นแรกของหม่อมน้อยก็เกิดขึ้นในชื่อ เพลิงพิศวาส ภาพยนตร์แนวพิศวาสโศกนาฏกรรมที่แจ้งเกิดนักแสดงดังอย่าง นก-สินจัย เปล่งพานิช ให้ดังเป็นพลุแตก และทำให้ภาพยนตร์แนวพิศวาสโศกนาฏกรรมกลายเป็นเอกลักษณ์แรกของหม่อมน้อยที่ผู้คนจดจำ

 

ในเวลานั้นหม่อมน้อยถือเป็นคนหัวสมัยใหม่ และมีความสนใจในละครเวทีอยู่มาก จนหยิบเอาละครบรอดเวย์เรื่อง The Boys in the Band ของ มาร์ท ครอว์ลีย์ มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง ฉันผู้ชายนะยะ (2530) นำเสนอเรื่องราวของกลุ่มกะเทยและเพศหลากหลายในประเทศไทย พร้อมคำโปรยที่ว่า “พวกเขา…อยากจะบอกอะไรกับคุณผู้หญิงทั้งหลาย”

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มเพศหลากหลาย ณ เวลานั้น จนได้สร้างเป็นละครเวที และมีการแสดงซ้ำกันถึง 200 รอบ ในเวลาครึ่งปี ทั้งยังได้ออกเดินทางไปแสดงในจังหวัดต่างๆ ด้วย

 

ความสำเร็จของ ฉันผู้ชายนะยะ (2530) กลายเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของหม่อมน้อยในการหยิบเอาละครเวทีมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็น นางนวล (2530) ที่ดัดแปลงมาจาก The Seagull ของ แอนตัน เชคอฟ, อุโมงค์ผาเมือง (2554) ที่ดัดแปลงมาจากละครเวทีเรื่อง ราโชมอน ของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช มาจนถึงผลงานเรื่องล่าสุดคือ Six Characters มายาพิศวง ผลงานกำกับเรื่องสุดท้ายในชีวิตหม่อมน้อย ก็ยังเป็นการดัดแปลงมาจากละครเวทีคลาสสิกของ ลุยจิ ปิรันเดลโล

 

หม่อมน้อย

หม่อมน้อย

 

สำหรับเด็กยุค 2000 เราคงคุ้นเคยกับผลงานอย่าง ชั่วฟ้าดินสลาย (2553) ที่นำแสดงโดย อนันดา เอเวอริงแฮม และ พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ จากภาพโซ่ตรวนที่ล่ามแขนของพระนางไว้

 

ด้าน มาริโอ้ เมาเร่อ หนึ่งในพระเอกที่เป็นลูกศิษย์ด้านการแสดงของ ‘หม่อมน้อย’ และเพิ่งจะผ่านการร่วมงานกันใน Six Characters มายาพิศวง ที่กำลังลงโรงฉายอยู่ในเวลานี้ ก็มักจะพูดถึงสิ่งที่ได้รับจากครูด้านการแสดงคนสำคัญของเขาอย่างสม่ำเสมอ

 

“หม่อม (หม่อมน้อย) สอนตลอดว่าให้รู้คุณค่าของการเป็นนักแสดง หม่อมบอกว่าอาชีพไหนก็ตามบนโลกใบนี้ ถ้าเราไม่เห็นคุณค่าของมัน แล้วก็ทำส่งๆ เอาแค่เงินมันก็ได้ ใครจะคิดแบบนั้นก็ไม่ผิด อยากทำงานเอาเงินไปเลี้ยงครอบครัวก็ไม่ผิด แต่ถ้าคนที่เขาคิดว่า กูจะมาแสดงเพื่อให้คนเขาได้อะไรจากที่กูแสดง โอ้โห แม่งเปลี่ยนนะ เพราะกูต้องรับผิดชอบในสิ่งที่กูคิดว่ากูจะทำให้ทุกคนเขาได้อะไรจากที่กูทำ ไม่ใช่ว่ามองแล้วผ่านไป อย่างน้อยคอเมดี้ก็ทำให้คนเขาหัวเราะแหละวะ”

 

หม่อมน้อย

 

เช่นเดียวกับ หญิง-รฐา โพธิ์งาม ผู้ที่ก้าวมารับบท ‘คุณบุญเลื่อง’ ตัวละครทรงเสน่ห์มากที่สุดในหนังดราม่าอีโรติก จันดารา เวอร์ชัน หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ถึงประสบการณ์การแสดงภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกในชีวิตของตัวเองในเวลานั้นว่า

 

จันดารา เป็นผลงานภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกในชีวิต และถ้านับกันจริงๆ ความเข้าใจในเรื่องแอ็กติ้งก็เพิ่งได้เรียนรู้ใหม่มาจากหม่อมน้อย หญิงชอบตรงที่หม่อมไม่ได้สอนให้เราแสดง แต่สอนให้เราเป็นนักแสดงที่ดี การแสดงที่ดีมันไม่ยากเท่ากับการเป็นนักแสดงที่ดี

 

“หญิงพูดได้เลยว่าการที่หญิงได้เข้ามาเรียนกับหม่อม หญิงสามารถใช้เวิร์กช็อปนี้ไปได้ตลอดชีวิต หม่อมยังบอกอีกว่าการแสดงทุกแขนงไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละคร ละครเวที ฯลฯ ล้วนเป็นศิลปะชั้นสูง มันไม่ใช่แค่ว่าเรามาเดินเข้าฉากแล้วเล่นอะไรก็ได้ แต่ต้องมีความรับผิดชอบมากๆ ต่อวิญญาณของอีกคนหนึ่ง อย่างหญิงต้องเล่นเป็นคุณบุญเลื่อง หญิงก็ต้องรับผิดชอบต่อวิญญาณของคุณบุญเลื่อง ต้องรักเขา งานแสดงที่ดีจึงจะเกิดขึ้น”

นอกจากผลงานที่เรากล่าวไปแล้ว ก็ยังมีผลงานภาพยนตร์อื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ช่างมันฉันไม่แคร์ (2529) ที่ได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, มหัศจรรย์แห่งรัก (2538) ภาพยนตร์เกียรติยศที่ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองถึง 6 รางวัล, อันดากับฟ้าใส (2540) ที่แจ้งเกิด อนันดา เอเวอริงแฮม และ จอย ชลธิชา, แผลเก่า (2557) รวมถึงผลงานละครอย่าง ลูกทาส (2544), สี่แผ่นดิน (2546) และ ในฝัน (2549) เป็นต้น

 

หม่อมน้อย

หม่อมน้อย

 

กลับมาที่พาร์ตของการเป็นครูสอนการแสดงที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จและฝีมือการแสดงที่พัฒนาขึ้นของพระเอกนางเอกหลากหลายคน ไม่ว่าจะเป็น มาริโอ้ เมาเร่อ, อนันดา เอเวอริงแฮม, พลอย เฌอมาลย์, จอย ชลธิชา, นก สินจัย, นก ฉัตรชัย, อ๊อฟ พงษ์พัฒน์ ฯลฯ จนกลายเป็นประโยคขำขันที่เราเกริ่นไว้ในช่วงต้น ว่าใครที่ยังมีฝีมือการแสดงไม่ดีพอต้องส่งไปเรียนเพิ่มกับหม่อมน้อย

 

ตลอดหลายทศวรรษในฐานะผู้กำกับชั้นครูและครูนักปั้นผู้ทรงคุณวุฒิ ทำให้หม่อมน้อยได้รับรางวัลรวม 26 รางวัล จากเวทีต่างๆ เช่น รางวัลตุ๊กตาทองบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม จากเรื่อง ช่างมันฉันไม่แคร์ ในปี 2529, รางวัลผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม การประกวดละครเวทีมณเฑียรทอง ประจำปี 2529 จากเรื่อง เทพธิดาบาร์ 21, รางวัลคึกฤทธิ์ สาชาศิลปะการแสดง ประจำปี 2561 และรางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จ (Lifetime Achievement Award) ประจำปี 2563 จากชมรมวิจารณ์บันเทิง เป็นต้น

 

หม่อมน้อย

 

นอกจากนี้ผลงานของหม่อมน้อยอย่าง ฉันผู้ชายนะยะ ก็ถูกยกให้เป็น 100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู โดยหอภาพยนตร์ (องค์กรมหาชน) ในปี 2548 และภาพยนตร์เรื่อง ช่างมันฉันไม่แคร์ ก็ถูกประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นภาพยนตร์มรดกแห่งชาติ ในปี 2563 อีกด้วย

 

ว่ากันว่าสิ่งเดียวที่จะคงอยู่ตลอดกาลไม่ใช่ร่างกายหรือวิญญาณ แต่คือผลงานและความดีงามที่จะอยู่ในใจของทุกคนตลอดไป เราเชื่อว่าแม้ว่าการจากลาจะเป็นเรื่องเศร้าแค่ไหน แต่ในที่สุดแล้วผลงาน ความรู้ และความสามารถที่หม่อมน้อยทิ้งไว้ในวงการบันเทิงไทย จะสืบต่อและงอกงามต่อไปอีกนานแสนนาน

 

หม่อมน้อย

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising