ใครๆ ก็ว่าคนไทยอ่านหนังสือกันน้อยบรรทัด แถมเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาททำให้ ‘กระดาษ’ หรือ ‘หนังสือเล่ม’ ได้รับความนิยมน้อยลง
ล่าสุด สุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยถึงภาพรวมของธุรกิจหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กในปี 2561 ว่า เป็นปีที่ธุรกิจหนังสือจะต้องมีการปรับตัวอย่างชัดเจน โดยเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณการผลิต ซึ่งปัจจุบันกลุ่มผู้อ่านกลุ่มใหญ่คือเด็กและเยาวชน และโซเชียลมีเดียสามารถช่วยผลักดันยอดขายหนังสือให้เติบโตได้อย่างชัดเจน
“ภาพรวมของธุรกิจสำนักพิมพ์จะมีการปรับตัวอย่างเห็นได้ชัด สำนักพิมพ์จะพิมพ์งานที่ตนเองถนัดและรู้จักผู้อ่านของตัวเองมากขึ้น โดยเน้นเรื่องของคุณภาพเป็นหลัก มีการสำรวจและวิจัยข้อมูลก่อนการผลิต เมื่อความแม่นยำมากขึ้นความสูญเปล่าก็ลดลง บางสำนักพิมพ์มีการสร้างชุมชนการอ่านหรือแฟนหนังสือของตัวเองขึ้นมา ไม่ใช่แค่อยากทำอะไรก็ทำ คิดในมุมกลับโดยเอาคนอ่านเป็นหลักว่าอยากอ่านอะไร มีสำนักพิมพ์เกิดใหม่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่เข้าใจคนอ่านของตัวเองและใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดียได้ดี หลายสำนักพิมพ์มีการโยนหินถามทางด้วยวิธีการพรีออร์เดอร์ ในส่วนของสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ อาจลดสเกลลง แต่มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะฉะนั้นแม้ว่าปริมาณการผลิตจะลดลง แต่คุณภาพของหนังสือจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”
นอกจากนี้ยังเผยว่าเด็กและเยาวชนคือกลุ่มผู้อ่านกลุ่มใหญ่ที่สุด ส่วนใหญ่อ่านนวนิยาย มังงะ กราฟิกโนเวล ไลต์โนเวล ซึ่งการอ่านก็จะเติบโตไปเรื่อยๆ ตามช่วงวัย มีเด็กๆ ที่ตามไปอ่านวรรณกรรมคลาสสิกจากการอ่านไลต์โนเวล ซึ่งโซเชียลมีเดียมีพลังในการสร้างการอ่านในกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก เพราะเป็นพลังในการบอกต่อ
นางสุชาดา ยังเปิดเผยด้วยว่า ในปีนี้สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ได้วางแผนการทำงานเพื่อพัฒนาภาพรวมของวงการหนังสือโดยรวม ทั้งในแง่ของธุรกิจและการสร้างการอ่าน
นอกจากนี้ยังมีโครงการใหม่คือ โครงการหนังสือคัดสรร SELECTED BOOKS ที่ร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย ชมรมบรรณาธิการ และชมรมนักออกแบบภาพประกอบ โดยเป็นการส่งเสริมการอ่านด้วยการคัดสรรหนังสือจากทุกสำนักพิมพ์ เพื่อขยายขอบเขตการอ่านให้หลากหลาย และผู้ผลิตจะได้สร้างสรรค์หนังสือคุณภาพให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม ซึ่งจะส่งผลในทางสร้างสรรค์แก่การวงหนังสืออย่างจริงจัง อีกทั้งยังเป็นทางเลือกให้กับห้องสมุดในการจัดหาหนังสือคุณภาพได้หลากหลายมากขึ้น
โดยแบ่งเป็น 4 ประเภทหลักๆ คือ หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน, วรรณกรรม (Fiction), สารคดี (Non-Fiction), เรื่องแปล และนิยายภาพ (Graphic Novel) และในส่วนของต่างประเทศจะมีการก่อตั้งศูนย์ Thai Right Center ขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อระหว่างสำนักพิมพ์กับเอเจนซีในการซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือ
อีกโครงการที่สำคัญอย่างยิ่งคือ โครงการพวงหรีด 4.0 (หนังสือ 4 ขยะ 0) ซึ่งเป็นงานพัฒนาต้นแบบการรณรงค์การใช้พวงหรีดหนังสือเพื่อสิ่งแวดล้อมและปัญญา โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ จะจัดประกวดการออกแบบพวงหรีดหนังสือ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับร้านจำหน่ายพวงหรีด โดยในพวงหรีดจะมีหนังสือใหม่สำหรับทุกช่วงวัยที่มีคุณภาพบรรจุอยู่ 4 เล่ม พร้อมประสานงานหาวัดและโรงเรียนที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการ โดยวัดที่ได้รับพวงหรีดหนังสือจะบริจาคหนังสือนี้ให้แก่โรงเรียนของวัด และโรงเรียนที่ได้รับหนังสือบริจาคก็นำหนังสือนั้นไปจัดมุมหนังสือในห้องเรียนทุกห้องเพื่อให้เด็กสามารถเข้าถึงหนังสือได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วที่สุด ซึ่งถ้าวัดได้รับพวงหรีดหนังสือคืนละ 4 พวง โรงเรียนจะได้รับหนังสือใหม่อย่างดีวันละ 8 เล่ม หรือเท่ากับเดือนละ 240 เล่ม หรือปีละ 2,880 เล่ม มากกว่าการจัดซื้อโดยงบประมาณที่ได้จากรัฐหลายเท่า