×

ภาคประชาชนยื่นสภา คัดค้านร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ไม่เป็นประโยชน์ ฝืนความเห็นสังคม

โดย THE STANDARD TEAM
02.04.2025
  • LOADING...
ตัวแทน 100 องค์กรภาคประชาสังคมยื่นหนังสือคัดค้านร่างพรบ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ต่อประธานรัฐสภา

วันนี้ (2 เมษายน) ที่อาคารรัฐสภา ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ในฐานะตัวแทน 100 องค์กรภาคประชาสังคม ยื่นหนังสือถึง วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา และ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องต่อการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 3 เมษายนนี้

 

ธนากรระบุว่า จากการที่รัฐบาล พยายามผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยอาการรีบร้อน เร่งรัดมากจนผิดสังเกต และตัดสินใจเดินหน้า กระทำสิ่งที่ฝืนกระแสคัดค้านของสังคม และอาจเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหม่ เครือข่ายภาคประชาสังคม 100 องค์กรมีความเห็นว่า การกระทำของรัฐบาลในครั้งนี้เป็นการกระทำที่อสัตย์ อ้างส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น และบังคับให้ต้องมีกาสิโน และร่างกฎหมาย ก็มีการเขียนข้อกำหนดไว้อย่างหละหลวม 

 

ดังนั้น เครือข่ายภาคประชาสังคม 100 องค์กร จึงขอเรียกร้องต่อรัฐสภา และพรรคการเมืองทุกพรรค ให้ปฏิเสธการรับร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าสู่การพิจารณา และเรียกร้องให้พรรคฝ่ายค้าน ดำเนินการยับยั้งกฎหมายที่ไม่เป็นคุณต่อสังคม และยังเปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้ ภาคประชาชน กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อ เพื่อให้รัฐบาลจัดการออกเสียงประชามติในประเด็นนี้ หรือขอให้ฝ่ายค้าน ได้เสนอต่อ สภาผู้แทนราษฎรให้รัฐบาลจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องนี้โดยช่วยเหลือภาคประชาชนท่านหนึ่ง

 

▪️เล็งยื่น ‘นายกฯ-รมว.คลัง’ ขัดจริยธรรม

 

ขณะที่  รศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังระบุว่า จะยื่นร้องตรวจสอบจริยธรรมของข้าราชการทางการเมือง เนื่องจากการที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2568 ระบุถึงวัตถุประสงค์ของการมีสถานบันเทิงครบวงจร ประการหนึ่ง คือการแก้ปัญหาการพนันออนไลน์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการชี้ชัดว่า กลุ่มเป้าหมายคือคนไทย ทั้งที่ในวันเดียวกันนั้น พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่าการสร้างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ มีจุดประสงค์เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ใช่คนไทย 

 

ส่วนวันที่ 27 มีนาคม 2568 ภายหลัง ครม. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้แก้ไข นายกรัฐมนตรีกลับให้สัมภาษณ์ว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งขัดแย้งกับการให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ของตนเอง และต่างจากการให้สัมภาษณ์ของ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ และ 3 มีนาคม 2568 ระบุว่า หลักคิดของร่างกฎหมายนี้ คือเพื่อแก้การพนันผิดกฎหมาย คนไทยที่ต้องการเล่นกาสิโน สามารถมาเล่นในเมืองไทยได้ 

 

ทั้งหมดนี้ เห็นได้ว่าทั้ง 3 คน มีการให้สัมภาษณ์ขัดแย้งกันเอง จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ต้องมีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งคนบิดเบือนข่าวสารของราชการเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือปกปิดข้อเท็จจริงอันควรต้องบอกกับประชาชน ซึ่งผิดต่อประมวลกฎหมายจริยธรรมของข้าราชการทางการเมือง 

 

▪️ฝ่ายค้านชี้รัฐบาลเร่งรีบผิดปกติ หวั่นเอื้อกลุ่มทุน

 

ด้านณัฐพงษ์ระบุว่า จะนำข้อเสนอของภาคประชาชนไปพิจารณาอย่างรอบคอบมากที่สุด ส่วนที่ประธานสภาได้บรรจุวาระพิจารณาร่างกฎหมายนี้ไว้แล้วคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 9 เมษายน หรือไม่นั้น ณัฐพงษ์ระบุว่า จะได้พิจารณาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากของที่ประชุมสภา แต่ขณะเดียวกันฝ่ายค้านก็สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า การบรรจุร่างกฎหมายครั้งนี้มีการเร่งรัดผิดปกติ 

 

“ปกติกระบวนการสภาจะบรรจุวาระตั้งแต่วันศุกร์ แต่ร่างกฎหมายนี้อยู่ดีๆ ก็โผล่ขึ้นมา โดยใช้อำนาจของประธานในการบรรจุร่างกฎหมาย และฝ่ายรัฐบาลเองก็แถลงว่าจะมีการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ให้ทันก่อนปิดสมัยประชุม เหตุใดรัฐบาลจึงต้องเร่งรัดขนาดนี้ ในเมื่อจุลพันธ์บอกว่า รายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ ยังจัดทำไม่เสร็จ รวมถึงประชาชนก็มีข้อกังวลว่า ควรมีการรับฟังเสียงอย่างรอบด้านโดยการจัดทำประชามติ จึงคิดว่าควรดำเนินการในเรื่องนี้เช่นกัน เพื่อความเปิดกว้างและเป็นธรรม” 

 

ส่วนหากมีการพิจารณาร่างกฎหมายนี้จริง ฝ่ายค้านจะมีความเห็นและจะมีการลงมติไปในทิศทางใด ณัฐพงษ์กล่าวว่า เราไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจและนโยบายของรัฐเพื่อเอื้อกลุ่มทุนหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ และยังมีข้อสงสัยของสังคมว่า ใช้ข้ออ้างในการแก้ปัญหาเรื่องของการพนันและธุรกิจสีเทามาห่อหุ้มให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่อาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างตรงจุด

 

ส่วนในวันพรุ่งนี้ (3 เมษายน) จะมีประชาชนมาชุมนุมประท้วงที่อาคารรัฐสภาเพื่อต่อต้านการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ กังวลว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งลุกลามในสังคมหรือไม่ ณัฐพงษ์ระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลควรต้องทำอยู่แล้วคือการรับฟังเสียงของประชาชน การเร่งรัดผลักดันร่างกฎหมายโดยเฉพาะในเวลาวิกฤตอาจจะเพิ่มความไม่พอใจในสังคมได้ ซึ่งเราก็ไม่อยากเห็น อยากให้กระบวนการในสภาเป็นทางออกมากกว่า

 

สำหรับความเห็นต่อเนื้อหาในร่างกฎหมาย คนไทยที่จะเข้าใช้บริการสถานบันเทิงครบวงจร ต้องมีเงินในบัญชีไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ณัฐพงษ์กล่าวว่า เงื่อนไขต่างๆ เป็นสิ่งที่เราต้องไปศึกษา แต่เงื่อนไขนั้นก็ไม่ควรที่จะชี้นำพุ่งเป้าเพื่อเอื้อผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผู้ที่จะมารับสัมปทาน และผู้ที่จะเข้าไปใช้สถานบันเทิงครบวงจร ก็จำเป็นต้องศึกษาอย่างรอบด้าน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising