×

ครม. เห็นชอบแผนบริหารหนี้สาธารณะของไทย เตรียมก่อหนี้ใหม่ 8.9 แสนล้านบาท เน้นโครงสร้างพื้นฐาน

24.09.2019
  • LOADING...

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562 ถึงกันยายน 2563) ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ แผนการก่อหนี้ใหม่ แผนการชำระหนี้ และแผนการบริหารหนี้เดิม

 

1. แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 8.9 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

     1. การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลรวม 7.4 แสนล้านบาท ซึ่งจะกู้มาเพื่อ 3 เรื่องคือ

  • บริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง วงเงิน 90,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการเบิกจ่ายที่เป็นครั้งคราวและการเบิกจ่ายในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาลในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีงบประมาณ 2563 
  • กู้มาใช้โดยตรง วงเงิน 5.7 แสนล้านบาท (แหล่งเงินกู้ในประเทศ) เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณประจำปี 2563 และเงินกู้จากต่างประเทศมาใช้ในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค ของกระทรวงศึกษาธิการ 
  • รัฐบาลกู้เพื่อมาให้กู้ต่อ ซึ่งจะใช้แหล่งเงินกู้ในประเทศ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในวงเงิน 85,000 ล้านบาท ได้แก่ โครงการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 5 โครงการ ในขณะที่วงเงิน 20,000 ล้านบาท เป็นโครงการต่อเนื่องทั้งหมด และโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 9 โครงการ วงเงิน 65,000 ล้านบาท มีทั้งโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่

 

     2. การก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจรวม 13 แห่ง วงเงิน 140,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากเดิม 87,000 ล้านบาท) เช่น 

  • การเคหะแห่งชาติ 4,000 ล้านบาท (ค้ำ)
  • การประปาส่วนภูมิภาค 6,000 ล้านบาท
  • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 20,000 ล้านบาท
  • การรถไฟแห่งประเทศไทย 14,000 ล้านบาท (ค้ำ)
  • บริษัทการบินไทย 56,000 ล้านบาท (กู้เพื่อดำเนินโครงการ/เสริมสภาพคล่อง)

 

ทั้งนี้คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะกำหนดหลักเกณฑ์การกู้เงินของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ว่าต้องมีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบเท่ากับภาระหนี้ของกิจการนับแต่มีการก่อหนี้ในอัตราไม่ต่ำกว่า 1 เท่า ซึ่งการบินไทยยังอยู่เหนือเกณฑ์ขั้นต่ำ จึงสามารถขอกู้ได้ แต่ต้องดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการ เพราะผลประกอบการขาดทุนและมีสถานะของการขาดสภาพคล่อง

 

2. แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 8.3 แสนล้านบาท โดยมีหนี้เดิมของรัฐบาล (หนี้ในประเทศทั้งหมด) วงเงิน 6 แสนล้านบาท และหนี้เดิมของรัฐวิสาหกิจทั้งหนี้ในประเทศและต่างประเทศ วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท

 

3. แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 3.9 แสนล้านบาท

 

ทั้งนี้แผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2563 อยู่ภายในกรอบ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดไว้ว่า

1. สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ต้องไม่เกินร้อยละ 60 ซึ่งการดำเนินงานปี 2563 อยู่ที่ 42.76%

2. สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ ต้องไม่เกิน 35% ซึ่งการดำเนินงานปี 2563 อยู่ที่ 18.48%

3. สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด ต้องไม่เกิน 10% ซึ่งการดำเนินงานปี 2563 อยู่ที่ 2.86%

4. สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ ต้องไม่เกิน 5% ซึ่งการดำเนินงานปี 2563 อยู่ที่ 0.15%

 

โดยข้อมูลสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยในอดีต ปี 2555-2561 ได้แก่ 

ปี 2555 อยู่ที่ 41.93%

ปี 2556 อยู่ที่ 42.19%

ปี 2557 อยู่ที่ 43.33%

ปี 2558-2561 อยู่ที่ 41-42%

 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising