×

‘เพดานหนี้’ บททดสอบที่ไม่รู้จบของสภาคองเกรสสหรัฐฯ

01.10.2021
  • LOADING...
Public debt ceiling

‘เพดานหนี้สาธารณะ’ กลับมาอยู่ในจุดสนใจของตลาดการเงินทั่วโลกอีกครั้ง หากย้อนกลับไปจะพบว่าสหรัฐฯ มีปัญหาเรื่องงบประมาณมาตลาด เนื่องจากงบประมาณประจำปีมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ดังนั้น จึงต้องมีการกู้ยืมหนี้ใหม่มาเพื่อใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆ และเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ เรียกได้ว่าหนี้สินที่รัฐบาลกลางกู้ยืมมาก็คือหนี้สาธารณะนั่นเอง และเพื่อรักษาวินัยทางการคลังของรัฐบาลไม่ให้เกิดการก่อหนี้สะสมให้อยู่ในระดับที่สูงเกินไป จึงต้องมีการกำหนดเพดานหนี้ ขณะที่เพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 28.4 ล้านล้านดอลลาร์  

 

แม้ว่าหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ รอดพ้นจากการถูกปิดการดำเนินงานชั่วคราว หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ลงนามรับรองร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวแล้ว ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ให้มีงบประมาณใช้จ่ายจนถึงวันที่ 3 ธันวาคมนี้ แต่ปัญหาสำคัญคือ ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่รวมถึงการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ และในปัจจุบันระดับหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ​ อยู่ในระดับเต็มเพดาน ขณะที่เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้ประมาณการว่า เม็ดเงินในมาตรการพิเศษของกระทรวงการคลังจะหมดลง หากสภาคองเกรสไม่ปรับเพิ่มเพดานหนี้หรือระงับเพดานหนี้ภายในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ จึงถือเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องมีการออกกฎหมายขยายเพดานก่อหนี้ หรือระงับเพดานหนี้ให้ทันก่อนเส้นตายดังกล่าว 

 

สิ่งที่น่ากังวลคือ หากสหรัฐฯ ประสบความล้มเหลวในการปรับขึ้นเพดานหนี้ อาจส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงที่รัฐบาลอาจจะไม่สามารถชำระหนี้ในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยได้ตามกำหนด ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก็จะสั่นคลอนตลาดการเงินทั่วโลก ล่าสุดเอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P) เตือนว่า ตลาดการเงินอาจได้รับผลกระทบรุนแรงหากสหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้ และอาจทำให้สหรัฐฯ​ มีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ

 

ท้ายที่สุดแล้ว YLG เชื่อว่าสภาคองเกรสจะสามารถแก้ปัญหาเพดานหนี้ได้ทันเวลา เพราะนับตั้งแต่มีการกำหนดเพดานหนี้ขึ้นในปี 1981 เพดานหนี้ได้ถูกเพิ่มหรือแก้ไขถึง 98 ครั้ง เนื่องจากสภาคองเกรสและประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่เคยปล่อยให้สหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้ แม้จะมีความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองก็ตาม อย่างไรก็ดี เพดานหนี้เกิดขึ้นเพื่อเป็นการ ‘เบรก’ จากความประมาททางการเงินของรัฐบาล แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นเรื่องง่ายมากที่จะระงับเพดานหนี้ ขณะที่เงินที่กู้ยืมมาไม่ได้แตกต่างกับการพิมพ์เงินออกมาไม่มีที่สิ้นสุด

 

เมื่อถึงจุดหนึ่ง ปัจจัยนี้จะเป็นแรงกดดันที่รุนแรงต่อค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะการขาดดุลของรัฐบาลกลางเพิ่มสูงขึ้นจากการใช้จ่ายของรัฐบาล ทำให้สัดส่วน ‘หนี้สาธารณะต่อ GDP’ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากตัวเลขของ usdebtclock.org พบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะในสหรัฐฯ ต่อ GDP อยู่ที่ 125.87% เมื่อเทียบกับ GDP ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี 2020 ซึ่งอยู่ราว 107% และเพิ่มขึ้นจากระดับ 56% ในปี 2000 นอกจากนี้ ผลจากภาวะหนี้ในระดับสูงจะทำให้ Fed จำเป็นต้องรักษาระดับของอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำ เพื่อลดภาระต่อรัฐบาลในการจ่ายคืนดอกเบี้ย อีกทั้งยังทำให้พันธบัตรสหรัฐฯ มีความเสี่ยง Default สูงขึ้น ที่สำคัญคือ เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจในปริมาณมหาศาลอาจทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีค่าลดลง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลเชิงบวกต่อทองคำในที่สุด

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising