วันนี้ (31 พฤษภาคม) อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจริงอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดไว้
ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (30 พฤษภาคม) รับทราบรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รายละเอียด ดังนี้
- สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) กรอบที่คณะกรรมการกำหนด ไม่เกินร้อยละ 70 สัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจริง ร้อยละ 61.30
- หนี้สาธารณะ จำนวน 10,797,505.46 ล้านบาท
- ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จำนวน 17,615,169.00 ล้านบาท
- สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ กรอบที่คณะกรรมการกำหนด ไม่เกินร้อยละ 35 สัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจริง ร้อยละ 30.91
- ภาระหนี้รัฐบาล จำนวน 805,677.79 ล้านบาท
- ประมาณการรายได้ประจำปีประมาณ จำนวน 2,606,589.21 ล้านบาท
- สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด กรอบที่คณะกรรมการกำหนด ไม่เกินร้อยละ 10 สัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจริง ร้อยละ 1.63
- หนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศ จำนวน 175,590.96 ล้านบาท
- หนี้สาธารณะทั้งหมด จำนวน 10,797,505.46 ล้านบาท
- สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ กรอบที่คณะกรรมการกำหนด ไม่เกินร้อยละ 5 สัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจริง ร้อยละ 0.05
- ภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศ จำนวน 5,943.86 ล้านบาท
- รายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ จำนวน 11,882,174.88 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในภาวะปกติรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพื่อนำไปใช้ในการลงทุน โดยกว่าร้อยละ 75 ของเงินกู้เป็นการกู้เพื่อโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ เช่น การคมนาคมขนส่ง พลังงาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ การศึกษา และที่อยู่อาศัย โดยหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2562 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด อยู่ที่ร้อยละ 41.06 ต่อ GDP
เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญกับการระบาดของโควิดที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและประชาชนทั่วประเทศ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องกู้เงินกว่า 1.5 ล้านล้านบาทเพื่อช่วยเหลือประชาชนและทุกภาคส่วน ตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโดยเร่งด่วน ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการของรัฐบาลทั่วโลก ส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 61.30
ที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถบริหารหนี้สาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีต้นทุนที่เหมาะสมและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ อีกทั้งหนี้กว่าร้อยละ 98 เป็นหนี้สกุลเงินบาทจึงช่วยลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ รัฐบาลได้ชำระคืนหนี้ก่อนครบกำหนด (Pre-Funding) เมื่ออัตราดอกเบี้ยเหมาะสม รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดการกระจุกตัวของภาระหนี้ ยืดอายุหนี้ และลดความเสี่ยงด้านการอัตราดอกเบี้ย โดยหากอัตราดอกเบี้ยมีทิศทางปรับตัวลดลง ก็ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยลดต้นทุนเฉลี่ยของหนี้สาธารณะ รวมถึงสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น กระทรวงการคลังได้ทำการแปลงหนี้ที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัวให้เป็นดอกเบี้ยคงที่ ทำให้หนี้กว่าร้อยละ 85 เป็นหนี้ที่เป็นดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย
นอกจากนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการชำระหนี้โดยได้เพิ่มงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย อีกทั้งยังได้เร่งการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และเมื่อรัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นก็จะสามารถนำมาชำระหนี้ได้เพิ่มขึ้น
อนุชาเปิดเผยอีกว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อระดับสากลยังคงอันดับความน่าเชื่อของประเทศไทยที่ BBB+ และมุมมองความน่าเชื่อถือมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยเชื่อมั่นว่าภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ของประเทศไทยยังคงแข็งแกร่ง อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และรัฐบาลยังมีพื้นที่ทางการคลังที่สามารถรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคตได้
ขณะที่บทวิเคราะห์ของบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) มองสถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านการเมืองและการคลังภายหลังจากการเลือกตั้ง อาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระยะสั้น เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการกำหนดนโยบายของประเทศ ความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2567 ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากจากการดำเนินมาตรการตามนโยบายในช่วงหาเสียง และความสามารถในการรักษาเสถียรภาพของสัดส่วนหนี้ภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม อันดับความน่าเชื่อถือของไทยยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสถานะทางการเงินต่างประเทศที่แข็งแกร่ง กรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่มีประสิทธิภาพ การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นสำคัญ