มติ ครม. ประจำวันที่ 15 ธันวาคม 2563 หนี้สาธารณะพุ่ง 7.8 ล้านล้านบาท กู้เงินจริง-จัดเก็บรายได้ต่ำเป้า
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน มีมติเห็นชอบวาระเศรษฐกิจสำคัญ ดังนี้
หนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 พุ่ง 7.8 ล้านล้านบาท
เห็นชอบรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะและรายงานสถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ และความเสี่ยงทางการคลัง สถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันสิ้นปีงบประมาณ 2563 มีจำนวน 7,848,155.88 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 49.34 ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้า เนื่องจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ เพื่อนำไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสร้างขีดความสามารถของประเทศผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
สำหรับสถานนะหนี้เงินกู้คงค้าง ณ วันสิ้นปีงบประมาณ 2563 ของหน่วยงานรัฐ ประกอบด้วย สถานะหนี้เงินกู้คงค้างของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ณ วันสิ้นปีงบประมาณ 2563 มีหนี้เงินกู้คงค้าง 1 บริษัท (จากทั้งหมด 2 บริษัท) ได้แก่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จำนวน 94,733.34 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.03)
สถานะหนี้เงินกู้คงค้างของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงินที่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน ได้แก่
- รัฐวิสาหกิจทำธุรกิจให้กู้ยืม
- รัฐวิสาหกิจทำธุรกิจบริหารสินทรัพย์
- รัฐวิสาหกิจทำธุรกิจประกันสินเชื่อ
มีหน้าเงินกู้คงค้างรวมทั้งสิ้น 538,077.72 ล้านบาท
สถานะหนี้เงินกู้คงค้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 มีหนี้สินเงินกู้คงค้างจำนวน 38,069.47 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้เงินกู้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด, เทศบาล, เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร
สถานะหนี้เงินกู้คงค้างของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 มีจำนวน 5,263,049 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินเพื่อดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.
การวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการคลังที่เกิดขึ้นจากหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 มีหนี้สาธารณะจำนวน 7,848,155.88 ล้านบาท จำแนกตามภาระงบประมาณ ดังนี้
- หนี้เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรง 6,267,230.04 ล้านบาท หรือร้อยละ 79.86 ของหนี้สาธารณะทั้งหมด
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท และหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) ที่รัฐบาลรับภาระเป็นสำคัญ
- หนี้ที่ไม่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรง คือ หนี้ที่หน่วยงานเป็นผู้รับภาระการชำระหนี้ หรือมีแหล่งรายได้อื่นที่ไม่ใช่งบประมาณมาชำระหนี้ จำนวน 1,580,925.84 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 20.14 ของหนี้สาธารณะทั้งหมด เช่น หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และหนี้รัฐวิสาหกิจและหนี้หน่วยงายของรัฐที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน ทั้งนี้ อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ
เก็บรายได้ต่ำเป้า 4 แสนล้านบาท กู้เกินจริง 7 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รายรับประเภทรายได้แผ่นดิน มีการประมาณการจัดเก็บรายได้ทั้งสิ้น 2.731 ล้านล้านบาท ซึ่งจัดเก็บรายรับจริงเข้าเงินคงคลัง 2.307 ล้านบาท อย่างไรก็ดี รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้จากรัฐพาณิชย์และรายได้อื่นสูงกว่าประมาณการ
ทั้งนี้ รายรับที่มาจากรายได้แผ่นดินต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ 0.424 ล้านบาท สำหรับรายรับประเภทเงินกู้ที่ได้ประมาณการไว้ที่ 0.469 ล้านล้านบาท แต่มีการกู้เกินจริง 0.701 ล้านบาท
รายจ่าย มีการประมาณการประเภทรายจ่ายงบประมาณไว้ 3.103 ล้านบาท แต่มีการเบิกจ่ายจริงและกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี 3.044 ล้านล้านบาท
ดุลของงบประมาณประจำปี เมื่อเปรียบเทียบรายได้แผ่นดินที่นำส่งคลังกับยอดรวมรายจ่ายประจำปี พบว่า รายได้แผ่นดินต่ำกว่ารายจ่ายตามงบประมาณ 0.637 ล้านล้านบาท (ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ 0.365 ล้านล้านบาท)
ดุลการรับ-การจ่ายเงิน เมื่อเปรียบเทียบประมาณการรายรับและประมาณการรายจ่ายทั้งสิ้นกับรายรับและรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง ยอดรวมของรายจ่ายทั้งสิ้น คือ 3.366 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ 0.097 ล้านล้านบาท
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล