ถึง Krafton Inc. ผู้สร้างวิดีโอเกมยอดนิยมอย่าง PUBG หรือ PlayerUnknown’s Battlegrounds จะทำสถิติการติดนามสกุลมหาชนด้วยมูลค่าการระดมทุนกว่า 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.27 แสนล้านบาท ถือว่ามากที่สุดในรอบ 10 ปีของตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ ทว่าราคาหุ้นกลับ ‘ไม่ปัง’ อย่างที่คิด
Bloomberg และ Nikkei Asia รายงานตรงกันว่า แม้จะมีคำว่า IPO พ่วงท้ายแต่หุ้นของ Krafton ก็ร่วงลงมากถึง 20% ก่อนที่จะปิดตลาดด้วยมูลค่า 454,000 วอนต่อหุ้น ลดลง 8.8% จากราคา IPO 498,000 วอน
เหตุผลที่ทำให้หุ้นของ Krafton ไม่ได้สดใสมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน คิมฮักจุน นักวิเคราะห์จาก Kiwoom Securities กล่าวว่า “อย่างแรกเลยการประเมินมูลค่าของ Krafton สูงเกินไป เรื่องที่ 2 คือประเด็นด้านกฎระเบียบในประเทศจีน สุดท้ายมีการซื้อขายหุ้น (Krafton) มากเกินไปในตลาด”
สำหรับเรื่องแรกนั้น Krafton ได้แก้ไขด้วยการลดปรับลดเป้าหมายราคาเสนอขายหุ้น IPO ลงมากกว่า 10% ขณะที่ความเสี่ยงทางการเมืองในจีน ซึ่งเป็นตลาดสำคัญได้เริ่มปรากฏขึ้นเช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลแดนมังกรได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อควบคุมตลาดเกมออนไลน์ของประเทศอย่างเข้มงวด ขณะที่สำนักข่าวจีนก็ออกมาตั้งคำถามว่า ‘เกมคือยาเสพติด’ จนกดดันหุ้นเกมในจีนอย่าง Tencent ดิ่งกว่า 10%
จีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด Krafton ในหนังสือชี้ชวนบริษัทกล่าวว่า 68.1% ของรายได้ในปี 2020 มาจาก ‘a publisher’ แต่ไม่ได้เปิดเผยชื่อ นักวิเคราะห์สันนิษฐานว่าเป็น Tencent ซึ่งเผยแพร่ Battlegrounds Mobile เวอร์ชันมือถือของ PUBG ในแดนมังกรและทั่วโลก
Image Frame Investment ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Tencent Holdings ถือหุ้น 13.6% ใน Krafton ทำให้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสองรองจาก ชางบยองกยู ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัทเกาหลีใต้
ขณะเดียวกันอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้หุ้นของ Krafton ไม่ได้หวือหวามากนักเป็นเพราะ Krafton พึ่งพารายได้จาก PUBG เป็นหลัก กลายเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนกังวล แม้ว่า PUBG เวอร์ชันพีซีและคอนโซลมียอดขายมากกว่า 75 ล้านชุด ณ เดือนมีนาคม และเวอร์ชันมือถือเป็นเกมที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดในกว่า 150 ประเทศ
แม้จะเริ่มต้นได้ไม่สดใส ทว่า Krafton ก็ยังขึ้นแท่นเป็นบริษัทเกมอันดับ 1 ของดัชนี Kospi ด้วยมูลค่าตลาด 22.2 ล้านล้านวอน แซงหน้าคู่แข่งในประเทศอย่าง NCSoft และ Netmarble Nexon ซึ่งแม้ Nexon ก่อตั้งขึ้นในกรุงโซลในปี 1994 แต่ต่อมาได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปที่โตเกียว ซึ่งปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว
นอกจากนี้ Krafton ยังมีมูลค่าการระดมทุน 4.3 ล้านล้านวอน รั้งอันดับ 2 ของดัชนี Kospi ที่มีการระดมทุนมากที่สุด เป็นรองเพียง Samsung Life Insurance ที่มีการ IPO ด้วยมูลค่า 4.9 ล้านล้านวอนในปี 2010
แม้จะเริ่มต้นอย่างยากลำบาก แต่ ชเวพอล หัวหน้าฝ่ายวิจัยเกาหลีของ CLSA ก็ยังเชื่อมั่นในศักยภาพของ Krafton ในระยะยาว “พวกเขามีรายได้ 95% นอกประเทศเกาหลี ซึ่งแตกต่างจากบริษัทอินเทอร์เน็ตและเกมอื่นๆ ที่เน้น (รายได้) ในประเทศเป็นส่วนใหญ่” เขากล่าว “นี่คือบริษัทเศรษฐกิจใหม่ระดับโลกที่หายากอย่างแท้จริงในเกาหลีใต้”
ปัจจุบัน Krafton ก่อตั้งมาแล้ว 14 ปี และมีสตูดิโอเกม 5 แห่งอยู่ในมือ สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนนั้น 70% จะถูกนำไปใช้สำหรับการซื้อทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับการเล่นเกม รวมถึงการควบรวมและซื้อกิจการสตูดิโอพัฒนาเกมทั่วโลก ส่วนที่เหลือจะใช้สำหรับขยายธุรกิจในตลาดเกิดใหม่ เช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ผู้ก่อตั้งบริษัทเกม PUBG จ่อขึ้นแท่น ‘มหาเศรษฐีแสนล้าน’ หลังการ IPO ที่ว่ากันว่าจะใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้
- ‘เกมคือยาเสพติด’ สำนักข่าวจีนออกมาตั้งคำถาม กดดันหุ้นเกมในจีนอย่าง Tencent ดิ่งกว่า 10%
อ้างอิง: