×

เหลาความคิดกับ ‘อรุณรัตน์ วุฒิมงคลชัย’ แม่ทัพสถาบันนวัตกรรม ปตท. เบื้องหลังมันสมองอันทรงพลังของ ปตท. [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
22.09.2022
  • LOADING...
PTTPLC 2022

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปีแล้ว สำหรับ ‘สถาบันนวัตกรรม ปตท.’ ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังมันสมองอันทรงพลังของ ปตท. ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ได้เข้ามาเปลี่ยนประเทศไทยมากมาย
  • สำหรับ ‘อรุณรัตน์ วุฒิมงคลชัย’ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) งานวิจัยที่ภูมิใจที่สุดและถือเป็น Game Changer ของประเทศคือการพัฒนา ‘น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว’ ซึ่งทำให้ในที่สุดไทยก็ได้ยกเลิกขายน้ำมันที่มีสารตะกั่วเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น
  • ภายใต้การนำของอรุณรัตน์ ทิศทางของสถาบันนวัตกรรม ปตท. ได้เปลี่ยนไปตามวิสัยทัศน์ใหม่ของ ปตท. ที่ได้เบนเข็มในการมองหา Future Energy ตลอดจนธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตไปอย่างแข็งแรง
  • โดยในวันข้างหน้า นักวิจัยต้องมีมุมมองที่เปลี่ยนไป ต้องหยิบเรื่องธุรกิจเข้ามาประกอบ โดยต้องดูว่างานวิจัยดังกล่าวตรงกับความต้องการของผู้บริโภคหรือไม่ การลงทุนจะคุ้มไหมกับคาดการณ์ยอดขาย ที่สำคัญเวลาที่ใช้ในการพัฒนาจะอยู่ที่เท่าไร เพราะหากนานไปผู้บริโภคอาจจะไม่ต้องการเทคโนโลยีนั้นแล้วก็ได้ 

เป็นเวลาเกือบ 40 ปีแล้วที่ ‘สถาบันนวัตกรรม ปตท.’ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังมันสมองอันทรงพลังของ ปตท. ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เปลี่ยนประเทศไทยมากมาย

 

จาก ‘ฝ่ายวิจัยและพัฒนา’ ที่ถูกตั้งขึ้นมาในปี 2524 เพื่อทำหน้าที่ศึกษาวิจัย ทดสอบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ ปตท. เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด และยังสามารถรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม 

 

ถัดมาในปี 2536 ได้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร จากฝ่ายวิจัยและพัฒนาเป็น ‘ศูนย์วิจัยและพัฒนา’ ระดับประเทศแห่งแรกที่มีขีดความสามารถสูงเฉพาะทางในสาขาปิโตรเลียมและปิโตรเคมี 

 

ก่อนเปลี่ยนอีกครั้งในปี 2540 สู่การเป็น ‘สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท.’ มีขอบเขตการดำเนินงานครอบคลุมกว้างขวาง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของ ปตท. และบริษัทในเครือ ตลอดจนขยายศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยี สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่นด้วยคุณภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2561 ซึ่งได้มีการปรับโครงสร้างและเปลี่ยนชื่อเป็น ‘สถาบันนวัตกรรม ปตท.’ เพื่อให้สอดรับกับภารกิจที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มให้องค์กร เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

 

ในจังหวะนี้เอง ‘อรุณรัตน์ วุฒิมงคลชัย’ นักวิจัยหญิงที่ทำงานกับ ปตท. มายาวนานกว่า 30 ปี ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็น ‘ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)’ ซึ่งได้เข้ามานำทัพให้กับสถาบันฯ เพื่อให้เดินตามทิศทางกลยุทธ์ที่เปลี่ยนไปของ ปตท.

 

PTTPLC 2022

 

“ช่วงที่ขึ้นรับตำแหน่งเป็นช่วงที่องค์กรกำลังเปลี่ยนผ่าน ทำให้สถาบันนวัตกรรม ปตท. ต้องเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร จากเดิมทำงานเพื่อซัพพอร์ตธุรกิจหลักของ ปตท. อย่างปิโตรเลียม ปิโตรเคมี โดยขยายขอบเขตงานเพื่อรองรับพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) เช่น เทคโนโลยีพลังงานทางเลือก, นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV), EV Value Chain

 

“ตลอดจนธุรกิจใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากด้านพลังงาน (Beyond) เช่น AI, IoT, โลจิสติกส์ และเข้าไปมีส่วนร่วมกับธุรกิจทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science) ทั้งยากับอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยสถาบันฯ เข้าไปดูในฝั่งการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนสนับสนุนในด้านเทคนิค ประเมินธุรกิจที่เหมาะสมที่ควรเข้าไปลงทุน เพื่อให้สอดรับวิสัยทัศน์ใหม่ของ ปตท. Powering Life with Future Energy and Beyond”

 

เหตุผลที่ ‘อรุณรัตน์’ ทำงานด้านวิจัยมา 30 ปีเพราะ “เป็นงานที่ชอบ ยิ่งทำก็ยิ่งรู้สึกสนุก เพราะมีโจทย์ให้คิดตลอดเวลา ซึ่งทำให้เรียนรู้ไปในตัว อีกอย่าง ปตท. ก็ส่งเสริมให้พนักงานได้เรียนรู้ ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานต่างๆ ก็ทำให้ได้เห็นภาพอย่างชัดเจน และนำมาพัฒนาและปรับปรุงต่อยอดในงานวิจัยได้

 

“การเรียนรู้เป็นคุณสมบัติของนักวิจัย เมื่อมีโจทย์ที่ท้าท้ายเข้ามา จะเป็นตัวที่ช่วยกระตุ้นและผลักดันกันให้สามารถคิด วิเคราะห์ และมีมุมมองใหม่ๆ ได้ ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จก็จะมีความภูมิใจกับตัวเอง”

 

Game Changer จากสถาบันนวัตกรรม ปตท.

ภายใต้งานวิจัยที่ถูกนำมาใช้จริง หนึ่งใน Game Changer ที่เปลี่ยนประเทศซึ่งอรุณรัตน์ยกตัวอย่างคือ การพัฒนา ‘น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว’ 

 

ย้อนกลับไปในปี 2534 ได้มีการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงตัวใหม่ที่ชื่อว่า ‘น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว’ เพราะแต่ก่อนในการพัฒนาน้ำมันเบนซินต้องเติมสารที่มีตะกั่วเป็นส่วนประกอบเพื่อช่วยเพิ่มค่าออกเทน (Octane Number)

 

แม้น้ำมันที่มีสารตะกั่วจะช่วยเพิ่มคุณภาพของน้ำมันเบนซิน แต่ไอเสียที่ออกมาจากเครื่องยนต์และท่อไอเสียนั้นถือเป็นมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คน

 

“การพัฒนาน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วได้สำเร็จ ทำให้ ปตท. เป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่ได้จำหน่ายน้ำมันดังกล่าว แต่ด้วยในเวลานั้นรถยนต์ส่วนใหญ่ยังไม่รองรับ ทำให้มีการพัฒนาน้ำมันสูตรทดแทนสารตะกั่วขึ้นมา ทำให้สามารถใช้กับรถทุกประเภทในช่วงนั้น ซึ่งสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก และในที่สุดได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ประเทศไทยสามารถยกเลิกจำหน่ายน้ำมันที่มีสารตะกั่วได้”

 

อรุณรัตน์เป็นหนึ่งในทีมที่ร่วมพัฒนาน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วมาตั้งแต่เริ่มแรก ด้วยผู้บริหาร ปตท. ในตอนนั้นมองเห็นถึงความสำคัญของการวิจัยเชิงผลิตภัณฑ์มากขึ้น จึงได้ตั้งทีมขึ้นมาเพื่อเข้าไปดูแลโดยเฉพาะ

 

“เราภูมิใจกับงานวิจัยชิ้นนี้มาก เพราะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างจุดเปลี่ยนให้กับประเทศไทยได้”

 

PTTPLC 2022

 

อรุณรัตน์เล่าต่อว่า นอกจากน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วแล้ว ในช่วงหลังๆ มีการส่งเสริมน้ำมันชีวภาพ เช่น แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล มากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งทางสถาบันนวัตกรรม ปตท. เป็นผู้คิดค้น พัฒนา และส่งเสริมให้มีการใช้งานในวงกว้าง 

 

“อย่างแก๊สโซฮอล์ก็ได้มีการพัฒนาให้เพิ่มการผสมเอทานอลมากขึ้น จนตอนนี้เพิ่มสัดส่วนเป็น 20% ส่วนของไบโอดีเซลมีการพัฒนาตั้งแต่การผลิต ซึ่งเราเป็นแห่งแรกที่ได้ตั้งศูนย์ทดลองขึ้นมาในการผลิตไบโอดีเซล และนำไบโอดีเซลมาผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อทดสอบการใช้งานจริง”

 

ต่อมาเป็นยุคที่ได้มีการสนับสนุนการใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้น จะเห็นได้ช่วงหนึ่งที่มีรถยนต์จำนวนมากใช้เชื้อเพลิงชนิดนี้ สถาบันก็ได้พัฒนาอุปกรณ์ที่ทำให้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินสามารถรองรับการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงได้ด้วย

 

จาก ‘น้ำมัน’ สู่ ‘EV’

ขยับมาตอนนี้เป็นการมุ่งส่งเสริม ‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ หรือ EV สถาบันก็ได้พัฒนานวัตกรรมเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Charger ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้กับแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

 

“EV Charger ที่พัฒนาขึ้นมาได้รับการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย และเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากต่างประเทศ ที่สำคัญยังมีความปลอดภัยในการใช้งานตามมาตรฐานสากล สิ่งสำคัญคือราคาที่ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงได้ จะเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ช่วยขับเคลื่อนการใช้ EV ในประเทศไทย” 

 

‘ไฮโดรเจน’ Game Changer ในอนาคต

วันนี้โลกกำลังหมุนไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งสถาบันนวัตกรรม ปตท. ก็ได้เตรียมความพร้อมด้านงานวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Future Energy ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะช่วยให้ประเทศเดินหน้าสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ 

 

แต่ Future Energy ที่อรุณรัตน์บอกว่ากำลังสนใจในเวลานี้และจะกลายเป็น Game Changer ในอนาคตได้ คือพลังงานที่ชื่อว่า ‘ไฮโดรเจน’

 

“ถึงอนาคตการใช้พลังงานจะมีหลากหลาย แต่ที่มองว่าไฮโดรเจนจะเป็นพลังงานหนึ่งที่น่าสนใจและจะตอบโจทย์ด้าน Decarbonization ได้ เนื่องจากมาจากกระบวนการผลิตใช้ไฟฟ้าที่มาจาก Renewable Energy มาแยกน้ำเพื่อให้ได้เชื้อเพลิง ไม่ปล่อยมลพิษ จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

 

PTTPLC 2022

 

เมื่อถึงเวลานั้น การใช้ในภาคขนส่งบางประเภทและอุตสาหกรรมน่าจะเป็นกลุ่มหลักที่ได้ประโยชน์จากพลังงานนี้ หากมีการพัฒนาจนมีราคาที่ถูกลง แต่กระนั้นก่อนจะไปถึงต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของภาครัฐ หรือการเลือกใช้เทคโนโลยีการผลิต การจัดเก็บ และการนำไปใช้ที่เหมาะสม

 

ต้องเปลี่ยนมุมมอง หยิบเรื่องธุรกิจมาร่วมด้วย

ปัจจุบันสถาบันนวัตกรรม ปตท. มีนักวิจัยกว่า 100 คน ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขา มีทีมกลยุทธ์และบริหารนวัตกรรม ตลอดจนงานทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันมีการจดสิทธิบัตรไปแล้วกว่า 160 รายการ ทีมงานเหล่านี้ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะร่วมคิดค้น พัฒนา และผลักดันงานวิจัยสู่การใช้งานจริง เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศตามทิศทางในอนาคต

 

อรุณรัตน์ได้ย้ำทิ้งท้ายว่า มุมมองของผู้ที่เป็นนักวิจัยต้องเปลี่ยนไป ต้องหยิบเรื่องธุรกิจเข้ามาประกอบเพิ่มมากขึ้น ที่เป็นอย่างนั้นเพราะต้องดูว่างานวิจัยดังกล่าวตรงกับความต้องการของผู้บริโภคหรือไม่ ในมุมของการลงทุนจะคุ้มไหมกับคาดการณ์ยอดขาย

 

ที่สำคัญเวลาที่ใช้ในการพัฒนาจะอยู่ที่เท่าไร เราอาจร่วมดำเนินการกับพันธมิตร เพราะหากนานไปผู้บริโภคอาจจะไม่ต้องการเทคโนโลยีนั้นแล้วก็ได้ หรือมีผู้เล่นในตลาดไปก่อน

 

นอกจากนี้ สถาบันนวัตกรรมยังสร้างความเข้มแข็งทางเทคนิคโดยเฉพาะในธุรกิจใหม่ๆ ที่ ปตท. จะก้าวไป และปรับบทบาทนักวิจัยให้เป็นผู้ทำงานใกล้ชิดร่วมกับธุรกิจในการประเมินทางเทคนิค เพื่อการลงทุนที่ยั่งยืนขององค์กรต่อไปด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X