บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า บริษัทมีมติอนุมัติการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในธุรกิจไฟฟ้า โดยให้ PTT และบริษัท สยาม แมนเนจเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด (SMH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ซื้อหุ้นของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC จากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC จำนวน 358,936,756 หุ้น หรือประมาณ 12.73% ของหุ้นทั้งหมด ในราคา 70 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 25,126 ล้านบาท
ทั้งนี้ PTT, SMH และ PTTGC อยู่ระหว่างเจรจาและจัดทำสัญญาซื้อขายหุ้น GPSC คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาดังกล่าวภายในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยราคาซื้อขายดังกล่าวอาจมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สะท้อนถึงผลกระทบจากการจ่ายเงินปันผลของ GPSC และภาระภาษีเงินได้ที่เกี่ยวข้องจากการจ่ายเงินปันผลดังกล่าว
ปัจจุบัน PTT ถือหุ้น GPSC ในสัดส่วน 31.72% และ PTTGC ถือหุ้น GPSC ในสัดส่วน 22.73% ภายหลังธุรกรรมการปรับโครงสร้างดังกล่าว PTT และ SMH จะถือหุ้น GPSC ในสัดส่วนรวม 44.45% และ PTTGC จะถือหุ้น GPSC ในสัดส่วน 10%
การปรับโครงสร้างครั้งนี้เป็นการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าของ ปตท. ผ่านบริษัทแฟลกชิป ซึ่งเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ของบริษัท
ขณะที่ผู้ถือหุ้น GPSC มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังของปี 2563 ในอัตราหุ้นละ 1 บาท กำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 21 เมษายน 2564 ดังนั้น ราคาหลังปรับปรุงเงินปันผลดังกล่าวจะมีราคาหุ้นละ 70 บาท รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 25,126 ล้านบาท
มูลค่าดังกล่าวอาจมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สะท้อนถึงผลกระทบจากการจ่ายเงินปันผลของ GPSC และภาระภาษีเงินได้ของคู่สัญญาที่เกี่ยวข้องจากการจ่ายเงินปันผลดังกล่าว (หากมี) คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นไม่เกิน 30 ล้านบาท
บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า การขายหุ้น GPSC ให้กับ PTT เป็นบวกต่อ PTTGC ซึ่งจะช่วยให้บริษัทได้กำไรพิเศษราว 9,626 ล้านบาท และจะช่วยให้บริษัทมีสภาพคล่องเพิ่มเติมอีกประมาณ 22,179 ล้านบาท หลังจากหักภาษีแล้ว ซึ่งจะเข้ามารองรับการลงทุนในอนาคต เช่น โครงการ Olefin Cracker ในสหรัฐฯ หรือโครงการปิโตรเคมีด้านอื่นๆ
ส่วนฝั่ง PTT มีมุมมองเป็นกลาง แม้อาจมีการรับรู้เพียงค่าใช้จ่ายภาษีจากกำไรการขายเงินลงทุนมาจาก PTTGC อีกทอด แต่ไม่ได้รับรู้กำไร ขณะที่มูลค่าที่จะได้เพิ่มจากโครงการลงทุนของ PTTGC น่าจะสูงกว่า ส่วนเงินลงทุน 25,126 ล้านบาท มองว่าไม่ได้ทำให้ PTT มีความเสี่ยงสภาพคล่อง จาก ณ สิ้นปี 2563 ที่บริษัทมีเงินสดกว่า 3.3 แสนล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าการซื้อขายจะเสร็จสิ้นในไตรมาส 2/64
ด้าน บล.เคทีบีเอสที ประเมินแนวโน้มกำไรไตรมาส 1 ที่ผ่านมา คาดว่ากำไรสุทธิของ PTTGC จะสูงสุดในรอบ 10 ไตรมาส ทำได้ 8.1 พันล้านบาท เทียบกับขาดทุนสุทธิ 8.8 พันล้านบาท เมื่อปีก่อนไตรมาสแรกของปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากกำไรสุทธิในไตรมาส 4/63 ที่ทำได้ 6.4 พันล้านบาท
ปัจจัยหนุนต่อกำไรในไตรมาสแรกเกิดจากกำไรจากสต๊อกน้ำมัน 2.4 พันล้านบาท เทียบกับขาดทุน 8.9 พันล้านบาทเมื่อปีก่อน ในขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน หนุนด้วยราคาผลิตภัณฑ์โพลีเอทิลีนที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานโพลีเมอร์เฉลี่ยในระดับสูงที่ 104% แม้ว่าจะมีแผนปิดซ่อมบำรุงโรง BPE 1 เป็นเวลา 15 วัน
นอกจากนี้ ธุรกิจอโรมาติกก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามส่วนต่างราคาพาราไซลีน (PX) และเบนซีน (BZ) ที่อยู่ในระดับสูงที่ 236 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาสก่อน และ 241 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้น 129% จากไตรมาสก่อน
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล