×

‘ปตท.สผ.’ เผยไตรมาส 3/65 มีกำไรสุทธิ 2.41 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 153% จากปีก่อน หลังปริมาณขายเพิ่มจากแหล่งผลิตใหม่

25.10.2022
  • LOADING...
สำรวจและผลิตปิโตรเลียม

บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) โชว์ไตรมาส 3/65 มีกำไรสุทธิ 2.41 หมื่นล้านบาท โต 153% จากปีก่อน หลังปริมาณขายเพิ่มจากแหล่งผลิตใหม่ โชว์ 9 เดือนมีกำไรสุทธิแล้ว 5.52 หมื่นล้านบาท เผยนำเงินส่งรัฐแล้ว 7 หมื่นล้านบาท

 

บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทมีผลการดำเนินงานไตรมาส 3/65 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 24,171 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 153.23% จากงวดไตรมาส 3/65 ที่มีกำไรสุทธิ 9,545 ล้านบาท ขณะเดียวกันมีรายได้รวม 2,617 ล้านดอลลาร์ หรือเทียบเท่า 95,292 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 148 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับรายได้รวม 2,469 ล้านดอลลาร์ (เทียบเท่า 84,955 ล้านบาท) ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ทั้งนี้ ไตรมาส 3 มีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 478,323 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 465,459 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในไตรมาสที่แล้ว โดยเป็นผลมาจากโครงการจี 1/61 หลังจากเข้าเป็นผู้ดำเนินการเมื่อปลายเดือนเมษายน 2565 และจากโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) ซึ่งได้เพิ่มปริมาณการผลิตรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศ

 

ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยปรับลดลงจาก 55.61 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ มาอยู่ที่ 53.68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ในไตรมาสที่ 3 นี้ บริษัทมีผลกำไรจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน จำนวน 94 ล้านดอลลาร์ (เทียบเท่า 3,415 ล้านบาท)

 

ส่งเงินเข้ารัฐกว่า 70,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ในรอบ 9 เดือนของปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ 55,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 95.93% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 28,218 ล้านบาท ขณะเดียวกันบริษัทได้นำรายได้ส่งให้กับรัฐ ซึ่งอยู่ในรูปภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่นๆ ประมาณ 70,000 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เช่น ด้านการพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น

 

การขยายการลงทุนในตะวันออกกลาง

สำหรับการขยายการลงทุนในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของ ปตท.สผ. ในไตรมาสนี้ ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการเจาะหลุมสำรวจหลุมแรกในโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โดยค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่อีกครั้ง ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้กับบริษัทในอนาคต อีกทั้งปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยหลักมาจากการเข้าซื้อโครงการโอมาน แปลง 61 ในเดือนมีนาคมปีก่อน

 

โครงการจี 1/61 เดินหน้าเร็วกว่าแผน

ทั้งนี้หลังจากที่ ปตท.สผ. ชนะการประมูลโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ, ปลาทอง, สตูล, ฟูนาน) นั้น บริษัทได้เตรียมแผนงานในการเข้าพื้นที่โครงการจี 1/61 ล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 2 ปี ก่อนวันที่ ปตท.สผ. จะเข้าเป็นผู้ดำเนินการในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ตามข้อตกลงที่มีต่อรัฐ เพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

 

แต่ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้รับสัมปทานรายเดิมให้เข้าพื้นที่ จนเกิดความล่าช้าจากแผนงานเดิมเป็นเวลากว่า 2 ปี ประกอบกับผู้รับสัมปทานรายเดิมหยุดการพัฒนาแหล่งก๊าซฯ มาเป็นเวลานาน ส่งผลให้อัตราการผลิตก๊าซฯ ลดลงอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้ปรับแผนงานมาโดยตลอด เพื่อเร่งอัตราการผลิตก๊าซฯ และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด

 

โดยในช่วงระยะเวลา 6 เดือน หลังจากวันที่ ปตท.สผ. ได้เข้าเป็นผู้ดำเนินการในปลายเดือนเมษายน 2565 ปตท.สผ. ได้เจาะหลุมผลิตไปแล้ว จำนวน 10 หลุม และติดตั้งแท่นหลุมผลิต (Wellhead Platform) เสร็จสิ้นไปแล้ว 4 แท่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งแท่นหลุมผลิตอีก 4 แท่น วางท่อใต้ทะเล และได้เพิ่มแท่นเจาะ (Rig) เพื่อเจาะหลุมผลิตอีกประมาณ 70 หลุมภายในปี 2565 รวมทั้งกำลังเร่งก่อสร้างแท่นหลุมผลิตใหม่อีก 4 แท่น ซึ่งมีความคืบหน้าไปเร็วกว่าแผนงานที่วางไว้

 

ในระหว่างที่กำลังเร่งพัฒนาโครงการจี 1/61 นั้น ปตท.สผ. ได้เพิ่มการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งบงกช แหล่งอาทิตย์ และพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) รวมอีกประมาณ 200-250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติให้กับประชาชนและประเทศ

 

ย้ำเป้า Net Zero ปี 2050  

นอกจากนี้ ตามที่ ปตท.สผ. ตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำนั้น ปตท.สผ. ได้วางแผนการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) ปัจจุบัน ปตท.สผ. อยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนา CCS ที่โครงการอาทิตย์ในอ่าวไทย รวมทั้ง มือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ 

 

ปตท.สผ. ยังได้ร่วมมือกับสถาบันนวัตกรรม ปตท., สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนากระบวนการผลิตท่อนาโนคาร์บอน (Carbon Nanotubes: CNTs) จากก๊าซส่วนเกินในกระบวนการผลิตปิโตรเลียม หรือ Flare Gas ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนและการนำมาใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization: CCU)

 

โดย CNTs เป็นวัสดุแห่งอนาคตที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ อุปกรณ์กักเก็บพลังงานอื่นๆ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ปัจจุบัน ปตท.สผ. อยู่ระหว่างการออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อทดสอบการผลิตท่อนาโนคาร์บอนในโรงงานนำร่อง (Pilot Plant) ซึ่งวางแผนติดตั้งที่โครงการเอส 1 ในอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า

 

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังมองแนวทางการชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ด้วยการดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน จำนวน 45,000 ไร่ ภายในปี 2573 โดยบริษัทได้เริ่มปลูกไปแล้วตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบัน ประมาณ 5,000 ไร่ และจะปลูกอย่างต่อเนื่องปีละ 5,000 ไร่ พร้อมบำรุงรักษาไปจนถึงปี 2582 จากประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2582 จะอยู่ที่ประมาณ 1.113 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

สานต่อแผนพัฒนาเทคโนโลยี

ด้านความคืบหน้าการพัฒนาเทคโนโลยีนั้น บริษัท โรวูล่า (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้บริษัท ARV ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการพัฒนาหุ่นยนต์นอติลุส (Nautilus) ร่วมกับพันธมิตร และพร้อมสำหรับให้บริการในเชิงพาณิชย์แล้ว นอติลุสเป็นหุ่นยนต์ซ่อมท่อใต้น้ำกึ่งอัตโนมัติตัวแรกของโลก ที่สามารถลงไปซ่อมบำรุงท่อใต้ทะเลได้ลึกมากถึง 150 เมตร รองรับภารกิจที่มีความเสี่ยงกับมนุษย์ เพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงานใต้ทะเลลึก และยังช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้กว่า 40%

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X