×

“เราประมาทไม่ได้” ปตท.สผ. พร้อมชิงพื้นที่ ‘บงกช-เอราวัณ’ และความในใจของ พงศธร ทวีสิน

03.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ปตท.สผ. และกลุ่มเอกชนเงินทุนหนาจากต่างประเทศ พร้อมยื่นข้อเสนอเพื่อชิงพื้นที่แหล่งบงกช-เอราวัณ 25 กันยายนนี้
  • แม้จะมีข้อได้เปรียบด้านโครงสร้างที่มีอยู่แล้วและองค์ความรู้ที่มี แต่ยักษ์ใหญ่พลังงานไทยก็ไม่อาจประมาทได้ เพราะมีทุนระดับโลกเข้ามาแข่งด้วย
  • พงศธร ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ ปตท.สผ. ยอมรับว่าอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน (Transform) องค์กร และรายได้จากธุรกิจในต่างประเทศจะแซงรายได้ในประเทศในทศวรรษหน้า

เรื่องใหญ่ที่สุดปีนี้ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. คือการเข้าประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ พื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของไทย ผลิตก๊าซธรรมชาติได้ถึง 70% ของการผลิตในอ่าวไทย

 

แม้จะเป็น ‘เจ้าถิ่น’ ครองพื้นที่นี้มาถึง 30 ปี แต่ พงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. ก็ย้ำกับสำนักข่าว THE STANDARD ว่า เรื่องนี้ประมาทไม่ได้ เพราะมีทุนขนาดใหญ่จากต่างชาติพยายามเข้ามาชิงดำในรอบนี้เช่นกัน พบกับเรื่องเล่าจากแท่นขุดเจาะที่หลุมแรก สู่การเปลี่ยนผ่านครั้งใหม่ได้ในบทความนี้

 

 

กว่าจะเป็น ปตท.สผ. ต้องเริ่มจากศูนย์ พึ่งพาต่างชาติ กว่าจะยืนได้เอง

“การเข้าประมูลสัมปทานที่หมดอายุถือเป็นงานหนัก มันก็คือแหล่งสัมปทานที่เราดำเนินการอยู่ เราก็ต้องรักษาไว้”

 

พงศธร ทวีสิน ทำงานกับ ปตท. มายาวนาน ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นซีอีโอแทน สมพร ว่องวุฒิพรชัย ที่จะเกษียณอายุการทำงานสิ้นเดือนกันยายนนี้ เขาเล่าว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจขององค์กรจะโฟกัสกับเรื่องสำคัญมากขึ้น และต้องเดินเกมรุกมากกว่าเดิม  

 

วันที่ 25 กันยายนนี้ ปตท.สผ. จะยื่นประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณพร้อมกับกลุ่มบริษัทเอกชนอีกหลายราย และจะทราบผลภายในเดือนธันวาคม 2561 การประมูลครั้งนี้พงศธรยอมรับว่า รัฐบาลแสดงท่าทีเรื่องความโปร่งใสอย่างชัดเจน และเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญก็คือราคาก๊าซที่อยู่ในระดับเหมาะสม ไม่กระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชน

 

 

หากย้อนเวลากลับไป แหล่งบงกชถูกค้นพบเมื่อ 45 ปีก่อน หรือราว พ.ศ. 2516 ซึ่งบริษัทผู้ค้นพบไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลไทยในขณะนั้นได้ รัฐบาลจึงขอซื้อแหล่งก๊าซแห่งนี้กลับคืนและให้ทาง ปตท. บริหารจัดการต่อ ขณะนั้นพงศธรถือเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่เข้าไปบุกเบิกเมื่อปี 2533 ขณะนั้นเพิ่งจัดตั้ง ปตท.สผ. ขึ้นมา ยังขาดแคลนองค์ความรู้ในการดำเนินการอยู่มาก เหมือนต้องนับหนึ่งใหม่ จึงจำเป็นต้องร่วมทุนกับบริษัทจากต่างชาติ ซึ่งมีข้อตกลงร่วมกันว่าต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีและส่งมอบให้ ปตท.สผ. ดำเนินการต่อเองในระยะเวลา 8 ปีนับจากเริ่มโครงการ

 

“การพัฒนาโครงการนี้มันมีตัวแท่น ตัวเรือ และรายละเอียดเต็มไปหมด เราก็ส่งคนเข้าไปประกบเขาหมดเลย นี่เป็นแผนที่ผู้บริหารขณะนั้นมองว่าถ้าเราจะรับมาดำเนินการต่อเองจะต้องมีคนของเราเข้าไปเรียนรู้งานด้วย”

 

15 กรกฎาคม 2541 คือวันที่รับมอบแหล่งก๊าซบงกชสู่มือ ปตท.สผ. แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ พงศธรขณะนั้นยังเป็น Project Engineer ที่แท่นผลิต หน้าที่การงานของเขาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับอาณาจักรแหล่งบงกชที่ ปตท.สผ. พัฒนาต่อเนื่อง คาดว่าเงินลงทุนรวมทั้งหมดสำหรับโครงการนี้สูงถึง 2.4 แสนล้านบาท

 

ด้วยเงินลงทุนขนาดนี้จะถือว่าคุ้มหรือไม่

 

“ในเชิงของทางเศรษฐกิจมันก็ถือว่าคุ้ม รัฐบาลเองได้รับผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตัว ปตท.สผ. เองก็เป็นเครื่องมือที่ใช้สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เราถูกสร้างมาในลักษณะแบบนี้ ทำให้มีอำนาจต่อรองกับต่างชาติได้ พอเริ่มทำแหล่งบงกชได้สักพักหนึ่ง ทางรัฐบาลก็ให้ ปตท.สผ. เข้าสู่ตลาดทุน และเราก็เติบโตมาตลอดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา”

 

ข้อสงสัยที่สังคมมักตั้งคำถามกับกลุ่ม ปตท. คือ องค์กรยักษ์ใหญ่แห่งนี้ยังคงเป็นเครื่องมือของรัฐบาลอยู่หรือไม่ พงศธรชี้แจงว่า การอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของ ปตท.สผ. นั้นไม่ได้รับนโยบายตรงจากทางรัฐบาลแต่อย่างใด แต่ต้องยอมรับว่าเหตุผลและหลักการของการตั้งบริษัทแห่งนี้คือการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ และมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอบด้านทั้งภาครัฐและเอกชน

 

“ตัวธุรกิจมันก็ดำเนินไปด้วยดีนะครับ เราเองเป็นคนที่สร้างความเชื่อถือให้กับนักลงทุน ซึ่งส่วนนี้มันก็กลับไปที่ความน่าเชื่อถือต่อภาครัฐเอง นโยบายต่างๆ รัฐบาลจะมองกว้างกว่าในมุมผลประโยชน์ของประเทศ ทาง ปตท.สผ. เองก็ต้องทำให้สมดุลกันทั้ง 2 มุม เรื่องนี้ตอบยากมาก เรื่องความโปร่งใสก็อีกประเด็น ทาง ปตท.สผ. จะถูกตรวจบัญชีโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คณะผู้บริหารเองต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย ภาครัฐต้องการให้เราทำงานอิสระคล่องตัวแบบเอกชน แต่เราก็ยังมีระบบควบคุมของรัฐดูแลอยู่ระดับหนึ่ง”

 

 

 

สำหรับการประมูลในรอบนี้พงศธรย้ำว่า เป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้ แม้ทุกฝ่ายจะเชื่อว่าอย่างไรก็ตาม ปตท.สผ. จะเป็นผู้คว้าสิทธิ์และดำเนินการต่ออย่างแน่นอน เพราะลงทุนไปมากแล้ว โครงสร้าง องค์ความรู้ต่างๆ บนพื้นที่ดังกล่าวก็ถือว่าพร้อมกว่าคู่แข่ง

 

“ผมมั่นใจนะ แต่ก็ไม่ประมาท เราประมาทไม่ได้ เพราะหลายคนตั้งความหวังไว้ แต่ตอนนี้ก็มีหลายเจ้าที่กระโดดเข้ามาประมูลด้วย และแต่ละกลุ่มก็มีเงินทุนมหาศาลและแสดงความสนใจในโครงการนี้อย่างชัดเจน ตัวทีโออาร์นั้นทางกระทรวงพลังงานก็วางไว้ชัดเจนมาก จะตัดสินแบบชัดๆ กันไปเลย เน้นที่ความโปร่งใส”

 

 

ตามกรอบเวลาที่จะภาคเอกชนจะยื่นประมูลในวันที่ 25 กันยายน และทราบผลในช่วงเดือนธันวาคมนี้ พงศธรเชื่อว่าการประมูลแหล่งบงกชจะเป็นไปตามกำหนดการเดิม ไม่น่าจะเกิดการเลื่อนหรือขยับเวลาแต่อย่างใด เพราะแผนการลงทุนนั้นต้องใช้เวลา ไม่สามารถทำได้ทันทีที่ประมูลมาได้ เขาประเมินว่าหลังจากการประมูลก็ต้องผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การสร้างแท่นขุดเจาะ การวางท่อและส่วนอื่นๆ ซึ่งต้องใช้เวลา 3-5 ปี

 

เมื่อธุรกิจมีการลงทุน ย่อมต้องหวังผลกำไร หรืออย่างน้อยก็การสร้างรายได้เพิ่มเพื่อให้คุ้มค่ากับเงินลงทุน บางส่วนจึงกังวลเรื่องระดับราคาของสินค้าพลังงานซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงตาม เนื่องจาก ปตท.สผ. จะต้องลงทุนอีกนับหลายหมื่นล้านบาท

 

“สำหรับราคาพลังงาน ทางกระทรวงพลังงานเขาก็ควบคุมราคาไว้ระดับหนึ่งอยู่แล้ว ส่วนวันข้างหน้าถ้าระดับราคามันไปไม่ได้จริงๆ ก็คงต้องคุยกัน แต่ในตอนนี้ ราคาปัจจุบันที่เป็นอยู่เรายังมองว่ามันยังพอไปได้ ในทีโออาร์ของการประมูลก็มีตัวชี้วัดบางตัวที่พูดถึงระดับราคาพลังงานว่าไม่ควรจะเกินแค่ไหน”

 

 

“ปตท. เป็นองค์กรใหญ่ คนภายนอกดูแล้วอาจคิดว่าทำไมเงินเยอะจัง แต่ธุรกิจมันเป็นของมันอย่างนี้ เราสามารถสู้กับใครต่อใครได้ เป็นตัวที่ช่วยในการสร้างสมดุลของตลาดไม่ให้ถูกต่างชาติครอบงำ ไม่ใช่ว่าผมทำงานที่นี่แล้วผมเข้าข้างนะ ผมว่าเป็นวิสัยทัศน์ความชาญฉลาดของผู้ใหญ่สมัยก่อนๆ ที่ได้ออกแบบเอาไว้ การที่รัฐให้เราเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มันทำให้ไม่สามารถหมกเม็ดได้ จะถูกองค์กรภาคเอกชนตรวจสอบเสมอ แต่เรากลับมาโวยกันเอง ถามว่าโวยได้ไหม โวยได้ในบางเรื่องที่คิดว่ามันไม่ถูกต้อง”

 

 

เป็นธรรมชาติของสินค้าพลังงานซึ่งใช้แล้วหมดไป มีผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าน้ำมันจะหมดจากโลกอีกไม่นานจากนี้ ซึ่ง ปตท.สผ. ก็ยอมรับและต้องปรับตัวเหมือนกับธุรกิจอื่นๆ ซึ่งองค์กรที่ตั้งมากว่า 3 ทศวรรษนี้ก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันกับยุคสมัย พงศธรเห็นว่าคนรุ่นใหม่จะทำงานเพื่อความพึงพอใจของตัวเองมากกว่าเรื่องเงิน ในฐานะองค์กรที่มีลำดับชั้นเยอะ ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ด้วย

 

“เราก็มองเหมือนกันว่าน้ำมันและก๊าซจะอยู่ได้นานสักแค่ไหน สำหรับผม ผมเชื่อว่าเรายังอยู่ได้อีก 20-30 ปีแบบสบายๆ ถ้าจะใช้รถไฟฟ้ากันหมด ก็ต้องคิดว่าเราเอาไฟฟ้าจากไหนมา พลังงานนิวเคลียร์ตอนนี้ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว ถ้าไม่พูดถึงพลังงานทดแทน ก๊าซธรรมชาตินี่ล่ะถือว่าสะอาด จากนี้การขนส่งจะเปลี่ยนโฉมไป เราอาจจะใช้น้ำมันน้อยลง แต่ก็ยังต้องใช้อยู่ดี เพราะน้ำมันก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตไฟฟ้า รถไฟฟ้าตอนนี้ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องแบตเตอรี่อยู่ เป็นโจทย์ที่ยังมองไม่ออกเหมือนกันว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป”

 

ว่าที่ซีอีโอของ ปตท.สผ. ย้ำว่า ยังให้ความสำคัญกับธุรกิจปัจจุบัน แต่ก็เริ่มศึกษารูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ด้วย ซึ่งสัมพันธ์กับน้ำมันและก๊าซที่มี

 

“เราค่อนข้างสนใจเรื่องโดรนหรือเทคโนโลยีของหุ่นยนต์ หุ่นยนต์ที่พูดนี้ไม่ใช่หุ่นยนต์แบบในโรงงาน แต่เป็นหุ่นยนต์ที่มีอิสระ อาจจะเป็นบินไปตรวจงานตามจุดต่างๆ ได้ และวันข้างหน้าก็คงจะทำงานอะไรต่อมิอะไรได้พอสมควร การเปลี่ยนผ่าน (Transformation) เป็นการเดินทางเพื่อค้นหาประสบการณ์ เราอาจจะผิดพลาด เราอาจจะล้ม แต่เราก็ต้องเรียนรู้ให้ได้ว่ามันมีปัญหาอะไร แล้ววันหนึ่งเราอาจจะเจอบางอย่างที่เป็นจุดเปลี่ยน ซึ่งตอนนี้ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคืออะไร”

 

 

สำหรับแหล่งทรัพยากรพลังงานของประเทศไทย พงศธรยอมเล่าว่า ตอนนี้มีเหลือค่อนข้างน้อย จึงพิจารณาการขยายธุรกิจในต่างประเทศให้มากขึ้นอย่างอินโดนีเซีย ที่เป็นแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ หรือการร่วมมือกับปิโตรนาสในมาเลเซีย ซึ่งตอนนี้ ปตท.สผ. ก็ดำเนินการไปหลายจุดแล้ว นอกจากนี้ยังสนใจการเข้าสำรวจในพื้นที่ตะวันออกกลาง ซึ่งยังมีช่องว่างของตลาดในพื้นที่ขนาดเล็กให้ดำเนินการได้

 

พงศธรคาดว่ารายได้จากธุรกิจในต่างประเทศของ ปตท.สผ. จะแซงหน้ารายได้ภายในประเทศที่เป็นฐานที่มั่นสำคัญในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ เนื่องจากตลาดในประเทศไทยอาจจะไม่ได้เติบโตไปมากกว่านี้แล้ว ขณะที่ประเทศที่มีศักยภาพที่จะขยายตัวอย่างอินโดนีเซียและเมียนมามีแนวโน้มค่อนข้างสดใสกว่ามาก

อนาคตก็คือเรื่องของอนาคต

 

ทุกครั้งที่ชื่อ ‘ปตท.’ ถูกพูดถึง จะมีความเห็นที่แตกต่างกันไปตามมุมมอง หลักการ และจุดยืนของแต่ละคน ด้วยขนาดธุรกิจที่ใหญ่และมีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน จึงไม่แปลกที่สังคมจะอ่อนไหวกับทุกความเคลื่อนไหวของ ปตท. และบริษัทในเครือ

 

คำตอบทุกอย่างชัดเจนในตัวมันเอง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising