×

สำรวจผลดำเนินงานกลุ่ม ปตท. พบ ‘โรงกลั่น-ปิโตรฯ’ ขยายตัวต่อเนื่อง แต่ค้าปลีกน้ำมันซึมตัว คาดกลับมาโดดเด่นปีหน้า

17.11.2021
  • LOADING...
ปตท.

7 หุ้นกลุ่ม ปตท. ซึ่งประกอบด้วย บมจ.ปตท. (PTT), บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC), บมจ.ไทยออยล์ (TOP), บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC), บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) รวมเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) 2.56 ล้านล้านบาท ได้แจ้งผลการดำเนินงานออกมาแล้ว ซึ่งมีทั้งบริษัทที่กำไรเพิ่มขึ้นและกำไรลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีที่แล้ว 

 

โดยกำไรทั้งกลุ่ม ปตท. ในไตรมาส 3/64 อยู่ที่ 48,188.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.86% จากไตรมาส 3/63 ที่มีกำไรสุทธิ 30,526.10 ล้านบาท โดยบริษัทที่กำไรไตรมาส 3/64 เพิ่มขึ้น คือ PTT, PTTEP, PTTGC, TOP และ IRPC ขณะที่ GPSC และ OR มีกำไรลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปีที่แล้ว 

 

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แนวโน้มกำไรของกลุ่ม ปตท. ในไตรมาส 4 จะใกล้เคียงกับไตรมาส 3 ที่ผ่านมา คือธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีจะเป็นธุรกิจที่มีกำไรโดดเด่นเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ในเครือ เนื่องจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น 

 

โดยในไตรมาส 4/64 มีปัจจัยสนับสนุน คือการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นช่วง High Season ของการใช้พลังงานอีกด้วย

 

“ไตรมาส 4 ต้องติดตามดูราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันว่าจะอยู่ที่ระดับเท่าไร เพราะจะมีผลต่อ Stock Gain ของธุรกิจน้ำมันในเครือ ปตท. ด้วย ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลไปแล้ว”

 

ขณะที่ เอกรินทร์ วงษ์ศิริ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า ธุรกิจโรงกลั่นจะมีการเติบโตที่ดีสุดท่ามกลางธุรกิจอื่นๆ ในเครือ ปตท. โดยเป็นการเติบโตตามค่าการกลั่นที่คาดว่าจะปรับขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีก็น่าจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้นในไตรมาส 4 

 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันจะมีความน่ากังวลเพิ่ม แม้ว่าในไตรมาส 4/64 จะมีการคลายล็อกดาวน์ แต่ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นอาจกระทบกับค่าการตลาด โดยเฉพาะใน Segment ของน้ำมันดีเซล

 

ทางด้าน จักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2565 คาดว่ากำไรหุ้นกลุ่ม ปตท. น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีนี้ โดย PTTEP ค่อนข้างชัดเจน จากราคาก๊าซที่คงอยู่ในระดับสูง ราคาน้ำมันบวกลบจากค่าเฉลี่ยปีนี้เล็กน้อย วอลุ่มจะมีการเติบโตได้ประมาณ 6% ในขณะที่ราคาขายทรงตัว แต่ค่าใช้จ่ายลดลง

 

สำหรับ OR กำไรจากการดำเนินงานปรับตัวลดลง จากการถูกตรึงราคาน้ำมัน ค่าการตลาด (Marketing Margin) ที่ยังไม่ฟื้น แต่คาดว่าปี 2565 ผลประกอบการน่าจะปรับตัวดีขึ้น เพราะไม่น่าจะมีการตรึงราคาน้ำมันอีก ซึ่งจะช่วยทำให้ผลประกอบการที่แย่ในไตรมาส 3-4 ปีนี้ น่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วงเดียวกันของปีหน้า

 

ในขณะที่กลุ่มโรงกลั่นคาดว่ากำไรจะปรับตัวลงเกือบหมด ถึงแม้ว่า Core Earning จะดีขึ้น แต่กำไรจากสต๊อกสินค้าที่บริษัทมีอยู่ (Inventory Gain) จะเทิร์นเป็นขาดทุน (Inventory Loss) ซึ่งกดดันกำไรสุทธิเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลงหมด

 

“ตัวธุรกิจที่จะโดดเด่นในปีหน้า คือกลุ่ม Retail Oil เนื่องจากประเมินว่าสถานการณ์โควิดจะกลับมาปกติ จากจำนวนผู้ฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างสูง ไม่น่าจะทำให้ประเทศกลับมาสู่ล็อกดาวน์ และค่าการตลาด (Marketing Margin) น่าจะปรับตัวดีขึ้นเนื่องด้วยการตรึงราคาดีเซลน่าจะจบลงช่วงปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 ที่ราคาน้ำมันเริ่มอ่อนตัวลงหลังจากวิกฤตพลังงานทั่วโลกเริ่มคลี่คลาย”

 

สำหรับทิศทางราคาน้ำมันปี 2565 การที่กลุ่ม OPEC+ เพิ่มกำลังการผลิตเดือนละ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน จะส่งผลให้มีซัพพลายเข้ามาประมาณ 3.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับมีซัพพลายฝั่งสหรัฐฯ อีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และซัพพลายจากฝั่งบราซิลและนอร์เวย์อีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อรวมกันจะมีประมาณ 5.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ความต้องการน่าจะเติบโตอยู่ในระดับ 3.5-4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดังนั้นน่าจะเป็นภาวะตลาดที่คลายตัวลง จึงประเมินว่าราคาน้ำมันในปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงช่วงต้นปีหน้า น่าจะอยู่ในช่วง 80-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising