อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของโลกกำลังอยู่ในภาวะวัฏจักรขาลง ลามมาถึงกลุ่ม ปตท. เองก็โดนผลกระทบในรอบนี้ จึงจำเป็นต้องขยับตัวเพื่อนำพาธุรกิจให้รอดจากสถานการณ์นี้ หนึ่งในแนวทางที่กำลังศึกษาคือปรับพอร์ตกิจการบริษัทลูกนั่นคือ PTTGC, TOP และ IRPC
แหล่งข่าวระดับสูงจากอุตสาหกรรมพลังงานใหม่สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า บมจ.ปตท. หรือ PTT ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC, บมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP และ บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC ซึ่งทั้ง 3 บริษัทดังกล่าวดำเนินธุรกิจในธุรกิจกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี โดยปัจจุบันทีมผู้บริหารของกลุ่ม ปตท. อยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาและปรับโครงสร้างของทั้ง 3 บริษัท เพื่อเป็นกลยุทธ์ในการรับมือกับภาพอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของทั่วโลกที่กำลังอยู่ในช่วงวัฏจักรขาลง (Downcycle) มาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากผลการกระทบที่โรงงานปิโตรเคมีของจีนที่มีสถานการณ์กำลังการผลิตส่วนเกิน (Overcapacity) จำนวนมาก ส่งผลให้มีการผลิตสินค้ากลุ่มปิโตรเคมีออกมาล้นตลาด กดดันให้ราคาปิโตรเคมีทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ PTT อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับโครงสร้างทั้ง 3 บริษัทในเครือ ปัจจุบันมีการศึกษาอยู่ในหลายแนวทาง ดังนี้
แนวทางที่ 1 ศึกษาแนวการควบรวมกิจการของทั้ง 3 บริษัท คือ PTTGC, TOP และ IRPC ซึ่งปัจจุบัน ปตท. มีการถือหุ้นอยู่ในแต่ละบริษัทอยู่ที่ประมาณ 45% เพื่อรวมเป็นบริษัทเดียวกัน เพื่อสร้างประโยชน์ร่วม (Synergy) โดยใช้จุดแข็งของแต่ละบริษัททำงานร่วมกันให้กลุ่มธุรกิจ เพราะปัจจุบันในแต่ละบริษัทยังมีธุรกิจที่ยังไม่ครบ Value Chain
“แนวคิดการควบรวมกิจการของธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีจะคล้ายกับในอดีตที่ ปตท. ใช้ควบรวมกิจการธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเดิมก่อนหน้านี้ธุรกิจไฟฟ้าจะแยกไปอยู่กับบริษัทต่างๆ ในเครือ ปตท. แต่มีการปรับโครงสร้างใหม่ โดยนำธุรกิจโรงไฟฟ้าทั้งหมดมาอยู่ภายใต้บริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่ซึ่งเป็นบริษัทแฟลกชิปธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. ปัจจุบันคือ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC และในอดีต ปตท. ก็เคยควบรวมกิจการของ PTTCH กับ PTTAR มาแล้วคือ PTTGC ในปัจจุบัน” แหล่งข่าวกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH
โรงกลั่นของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการควบรวม PTTGC, TOP และ IRPC จะมีความซับซ้อนมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับของกรณีที่เคยควบรวมกิจการไฟฟ้าในเครือ ปตท. เพราะปรับโครงสร้างโดยการนำสินทรัพย์คือธุรกิจไฟฟ้าที่แยกอยู่กับแต่บริษัทในเครือ โดยนำสินทรัพย์นำมารวมกันอยู่ภายใต้บริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่คือ GPSC
ขณะที่การควบรวม PTTGC, TOP และ IRPC จะเป็นการควบรวมบริษัทเดิมที่มีอยู่แล้ว อีกทั้งทุกบริษัทยังเป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
อีกทั้งหากมีการควบรวมกิจการสำเร็จ ในลำดับถัดไปอาจมีการศึกษาเรื่องการขายหุ้นของบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการของทั้ง 3 บริษัทดังกล่าวให้กับ Strategic Partner ต่างประเทศ เพื่อเข้ามาช่วยสร้าง Synergy รวมทั้งเสริมศักยภาพการแข่งขันในการดำเนินธุรกิจรับมือกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่กำลังอยู่ในช่วง Downcycle
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการจากปตท. ทำให้การศึกษาแนวทางที่ 1 ต้องรอข้อสรุปที่ชัดเจนอีกครั้ง ยังไม่สามารถนำไปพิจารณาต่อได้
เล็งแบ่งขายหุ้น PTTGC-TOP-IRPC เพื่อลดสัดส่วนถือหุ้น
แนวทางที่ 2 ศึกษาแนวทางการขายหุ้นเพื่อลดสัดส่วนถือหุ้นในทั้ง 3 บริษัท คือ PTTGC, TOP และ IRPC โดย ปตท. จะพิจารณาขายหุ้นเป็นรายบริษัท เพื่อลดสัดส่วนให้ต่ำกว่าปัจจุบันที่ถือ 45% โดยมีแนวคิดที่จะขายหุ้นให้ Strategic Partner ต่างประเทศเช่นกัน เป้าหมายหลักคือบริษัทพลังงานและปิโตรเคมีในตะวันออกกลาง รวมถึงเปิดกว้างกับพาร์ตเนอร์ต่างชาติรายอื่นๆ ที่มีความสนใจและมีศักยภาพในการลงทุนเพื่อขยายพอร์ตธุรกิจ ในการนำมาช่วยสร้าง Synergy ให้ทั้ง 3 บริษัทในเครือดังกล่าว
“โจทย์สำคัญในการขายหุ้นลดสัดส่วนในทั้ง 3 บริษัทนี้ ปตท. จะต้องไม่สูญเสียอำนาจในการบริหารจัดควบการบริหารงานด้วย” แหล่งข่าวกล่าว
นอกจากนี้อาจมีการพิจารณาแนวทางอื่นๆ ที่เหมาะสมเพิ่มเติมควบคู่ไปด้วย รวมทั้งมีการแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ให้มีการศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างของธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีด้วย ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะเห็นความชัดเจนของแนวทางการปรับโครงสร้างธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีออกมาในช่วงปลายไตรมาส 2/68
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ Bloomberg รายงานว่า ปตท. ได้ตั้งบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง และยูบีเอส กรุ๊ป เอจี เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการศึกษาการปรับโครงสร้างในกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีของบริษัทในเครือ ปตท.
วงการวาณิชธนกิจคาด ปตท. อยากแบ่งขายหุ้นปิโตรเคมี
แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการวาณิชธนกิจให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ที่ผ่านมากลุ่ม ปตท. มีความพยายามในการเจรจาเพื่อลดสัดส่วนด้วยการขายหุ้นของบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นปิโตรเคมีให้กับ Strategic Partner ต่างประเทศ แต่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจกลุ่มปิโตรเคมีกำลังเผชิญกับภาวะ Downcycle ส่งผลให้ไม่ได้รับความไว้ใจในการเข้าลงทุนจาก Strategic Partner ต่างประเทศ
โครงการ LSP ในประเทศเวียดนามของ SCGC มูลค่าลงทุนราว 1.7 แสนล้านบาท
“ต้องยอมรับภาวะ Downcycle ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลกตอนนี้มีผลกระทบบิ๊กคอร์ปที่อยู่ใน Sector นี้ของไทยหลายแห่ง เพราะก่อนหน้านี้ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC บริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทย ก็เลื่อนแผนขายหุ้น IPO มาแล้ว โดย SCGC มีโครงการ Long Son Petrochemicals หรือ LSP ในประเทศเวียดนาม มูลค่าลงทุนราว 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งสร้างเสร็จในช่วง Downcycle ส่งผลให้ต้องหยุดการผลิตชั่วคราว เพราะราคาปิโตรเคมีที่กำลังตกต่ำทั่วโลก ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ระหว่างหาพาร์ตเนอร์ที่สนใจ เพื่อแบ่งขายหุ้นในโครงการ LSP ให้ แต่ก็ยังไม่สามารถขายได้เช่นกัน” แหล่งข่าวกล่าว