เพียงแค่สัปดาห์นี้สัปดาห์เดียว บริษัทในกลุ่ม ปตท. ได้รายงานการเข้าลงทุนในหุ้นและการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศด้วยมูลค่ารวมกันที่สูงราว 163,242 ล้านบาท ประกอบด้วย
- บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC (ปตท. ถือหุ้น 45.18%) ได้ประกาศเข้าซื้อหุ้น 100% ใน Allnex Holding GMBH มูลค่ารวม 1.326 แสนล้านบาท และเงินกู้ของผู้ถือหุ้นในบริษัทเป้าหมายมูลค่า 1.581 หมื่นล้านบาท รวมมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 1.48 แสนล้านบาท
การลงทุนครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจระยะยาวของ PTTGC ที่มุ่งเน้นเข้าสู่ธุรกิจกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงในตลาดต่างประเทศ
- บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC (ปตท. ถือหุ้น 31.72%) เข้าร่วมทุน Avaada Energy Private Limited (Avaada) หนึ่งในบริษัทพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของประเทศอินเดียผ่านบริษัทลูก GRSC โดยเข้าถือหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในสัดส่วน 41.6% จากกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้นประมาณ 3,744 เมกะวัตต์ เพื่อขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียนตามเป้าหมายพลังงานหมุนเวียน 8,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 มูลค่าการลงทุนประมาณ 14,825 ล้านบาท
คำถามคือ อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทในกลุ่ม ปตท. ขยับการลงทุนด้วยมูลค่ามหาศาล ที่สำคัญยังเป็นการลงทุนในต่างประเทศทั้งสิ้น
สิทธิชัย ดวงรัตนฉายา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ว่า มี 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้เราได้เห็นกลุ่ม ปตท. ไปลงทุนในต่างประเทศค่อนข้างมากในช่วงนี้ คือ
- เพราะในต่างประเทศมีโอกาสการขยายกิจการมากกว่าในประเทศ โดยสถานการณ์โควิดได้เร่งให้หลายกิจการในต่างประเทศที่สายป่านไม่ยาวพอมีการขายกิจการออกมาเยอะมาก ซึ่งล้วนเป็นโอกาสสำหรับผู้มีความพร้อมทางการเงิน
- ปตท. ในฐานะบริษัทแม่ พร้อมสนับสนุนทางการเงิน โดยปัจจุบัน ปตท. มีกระแสเงินสดจำนวนมาก ราว 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถเป็นแหล่งเงินทุนระยะสั้นให้กับบริษัทลูกที่มองเห็นโอกาสในการปิดดีลเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศอย่างรวดเร็ว
- กลุ่ม ปตท. ล้วนเป็นกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งการขยายธุรกิจภายในประเทศได้ดำเนินการไปจนสมบูรณ์แล้ว โอกาสในการขยายธุรกิจในประเทศจึงจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิดที่เศรษฐกิจไทยเองก็มีศักยภาพในการเติบโตไม่สูงเท่ากับต่างประเทศ
“เรามีมุมมองเป็นบวกต่อการไปลงทุนในต่างประเทศของกลุ่ม ปตท. โดยเฉพาะในจังหวะนี้ที่หลายกิจการในต่างประเทศขาดสภาพคล่องและต้องขายกิจการ ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับผู้ที่มีความพร้อมอย่างเครือ ปตท. ที่บริษัทแม่ก็พร้อมสนับสนุนทางการเงินโดยเป็นผู้ให้กู้ระยะสั้น”
สิทธิชัยกล่าวเพิ่มว่า แนวโน้มในครึ่งปีหลังจะได้เห็นเครือ ปตท. รวมถึง บจ.อื่นๆ ที่มีความพร้อมไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพราะมีโอกาสเยอะมากรออยู่ ส่วนผู้ที่จะได้ดีลที่ดีก็คือผู้ที่มีแผนลงทุนที่พร้อมและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เร็ว
จักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย กล่าวว่า เครือ ปตท. ขยายการลงทุนในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ส่วน 2 ดีลล่าสุดของ PTTGC และ GPSC ที่แม้จะค่อนข้างใหญ่ ก็สามารถลุล่วงได้ราบรื่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความพร้อมในการสนับสนุนทางการเงินของเครือ ปตท. และการมีเป้าหมายระยะยาวและเรือธงที่ชัดเจน
โดย PTTGC เป็นเรือธงของกลุ่มปิโตรเคมี ซึ่งธุรกิจปิโตรเคมีในประเทศไทยยังเป็น Commodity Grade แต่ PTTGC ต้องการมีพอร์ตผลิตภัณฑ์ High Value Grade ซึ่งกิจการส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ขณะที่ GPSC เป็นเรือธงของกลุ่มพลังงานหมุนเวียน ซึ่งการร่วมทุนของ GPSC ครั้งนี้ เป็นไปตามแผนงานระยะยาวที่กลุ่ม ปตท. ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนของกลุ่มให้ถึง 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573
ขณะที่ความคล่องตัวและการสนับสนุนทางการเงินของ ปตท. ทำให้บริษัทมองหาโอกาสลงทุนในต่างประเทศและต้นทุนที่สมเหตุสมผลในเวลาเหมาะสมได้ดีขึ้น
“ปตท. ตอนนี้เหมือนวัวตัวอ้วนที่สะสมเงินสดไว้เยอะมาก โดยตัว ปตท. เองแทบจะไม่มีการลงทุนโครงการใหญ่ๆ แล้ว ยกเว้นโรงแยกก๊าซ โครงการท่อเดินก๊าซต่างๆ จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่และเบนเข็มมาสนับสนุนบริษัทในเครือที่ยังอยู่ในฤดูกาลขยายธุรกิจ เช่น กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มพลังงานหมุนเวียน” จักรพงศ์กล่าว
เขากล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทในเครือ ปตท. ที่อาจจะได้เห็นการเข้าลงทุนในต่างประเทศภายในสิ้นปีนี้คือ บมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP ซึ่งก่อนหน้านี้ TOP เคยประกาศว่ากำลังมองหาการลงทุนในธุรกิจโอเลฟินส์อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน Core Business ของ TOP เองอาจจะมีการเติบโตที่ลดลงตามความต้องการใช้น้ำมันในประเทศที่ใกล้จุดสูงสุดแล้ว และกระแสกำลังเปลี่ยนไปสู่พลังงานหมุนเวียนและพลังงานไฟฟ้าแทน TOP จึงต้องมองหา Growth Engine ตัวใหม่