ปตท. แจ้งกำไรสุทธิปี 2567 ร่วง 19.6%YoY เหลือ 9 หมื่นล้านบาท จากปี 2566 มีกำไรสุทธิ 1.12 แสนล้านบาท เนื่องจาก EBITDA ที่ลดลง มีรายการด้อยค่าและประมาณการค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตเพิ่มขึ้นของบริษัทในเครือ พร้อมชี้แจงว่าไม่มีการควบรวมกิจการ 3 บริษัท PTTGC-TOP-IRPC
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยใน ‘งานแถลงผลการดำเนินงาน ปตท. ประจำปี 2567’ ระบุว่า ยอมรับว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมของกลุ่มธุรกิจปลายน้ำ (Downstream) คือกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมี กำลังอยู่ในช่วงวัฏจักรขาลง (Downcycle) โดยในช่วง 4 ปีก่อน ทั้งกลุ่ม ปตท. เคยมีกำไรสูงถึงระดับประมาณ 5-7 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ถือเป็นช่วงของ Downcycle ของภาพรวมอุตสาหกรรมโรงกลั่นและปิโตรเคมีที่เกิดขึ้นมายาวนาน ซึ่งมีสาเหตุมาจากสถานการณ์ Oversupply จากจีน รวมทั้งประเทศอื่นๆ ที่มีการผลิตออกมามากเกินความต้องการใช้ ขณะที่การเติบโตความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปกับปิโตรเคมีจะอิงกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของโลก
บรรยากาศของงานแถลงผลการดำเนินงาน ปตท. ประจำปี 2567
เร่งหาพาร์ตเนอร์กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีเสริมความแข็งแกร่ง
สำหรับความคืบหน้าในการปรับตัวหรือรับมือ Downcycle ของภาพรวมอุตสาหกรรมโรงกลั่นและปิโตรเคมี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการหาพาร์ตเนอร์ต่างชาติซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาอยู่จำนวนหลายราย อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ และหากมีข้อสรุปจะมีการแจ้งข้อมูลกับสื่อมวลชนอีกครั้ง พร้อมยืนยันว่าไม่มีแนวคิดในการเลิกดำเนินธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี
“ในทางตรงกันข้ามเรายังเห็นของความสำคัญในกลุ่มธุรกิจ Downstream หรือปิโตรเคมี ที่เป็นบริษัทแฟลกชิปและ ปตท. ถือหุ้นใหญ่อยู่ เพียงแต่มีความจำเป็นและเป็นเรื่องที่สมควรที่เราจะต้องหาพาร์ตเนอร์ที่แข็งแรงที่มีวัตถุดิบ หรือมีตลาด หรือที่มีเทคโนโลยี มาช่วยเสริม ตอนนี้ก็อยู่ในกระบวนการ ซึ่งถือว่ามีความก้าวหน้าอยู่ และไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะทั่วโลกเขาก็ทำกัน” ดร.คงกระพัน กล่าว
ดร.คงกระพัน ซีอีโอของ ปตท. ยังชี้แจงต่อว่า ปตท. จะไม่มีการควบรวมกิจการ 3 บริษัทที่ทำธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี ซึ่งอยู่ในเครือของ ปตท. พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC, บมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP และ บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC แต่จะมีพาร์ตเนอร์ต่างชาติเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับทั้ง 3 บริษัทดังกล่าว ตามแนวทางที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ พร้อมทั้งย้ำ ปตท. จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในทั้ง 3 บริษัทต่อไป
นอกจากกลุ่ม ปตท. ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มกำไรก่อนภาษี ค่าเสื่อม และดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาทภายใน 3 ปีหรือปี 2570 โดยจะมาจากส่วนของบริษัท ปตท. เอง จำนวน 1 หมื่นล้านบาท และบริษัทในเครืออีก 2 หมื่นล้านบาท โดยมุ่งเน้นปรับโครงสร้างธุรกิจ นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพิ่มรายได้และลดต้นทุน
เป้าหมายของ บมจ.ปตท. ในการเพิ่ม EBITDA ในปี 2570
แผน 5 ปี ตั้งงบลงทุน 5.5 หมื่นล้านบาท เน้นธุรกิจก๊าซ
สำหรับแผนในช่วง 5 ปี ระหว่าง 2568-2572 ในส่วนของ ปตท. และบริษัทลูกที่ถือหุ้นสัดส่วน 100% ไว้ที่ประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท โดยในปีนี้มีแผนจะใช้งบลงทุน 2.5 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วนหลักลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานธุรกิจท่อส่งและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และอีกส่วนลงทุนในธุรกิจเทรดดิ้ง โดยในปีนี้บริษัทยังไม่มีแผนลงทุนในกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มเติม
“ต้องยอมรับว่าโลกยุคปัจจุบันมีความไม่แน่นอนเยอะ ถ้าจะให้เราไปลงทุนสร้างโรงงาน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้วรอไปอีก 4 ปีเพื่อให้โรงงานเสร็จ วันนี้เราคงไม่ทำแบบนั้น เพราะกว่าจะสร้างเสร็จภาพตลาดก็อาจเปลี่ยนไป ดังนั้น ปตท. ต้องทำอะไรที่ความเสี่ยงต่ำ” ดร.คงกระพัน กล่าว
สำหรับกรณีที่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาให้ข่าวเกี่ยวกับประเด็นการปรับระบบ Pool Gas เพื่อปรับใช้ลดค่าไฟฟ้า คงกระพันกล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีการเรียกคุย และยังไม่ได้มีการนัด ปตท. เข้าไปเพื่อหารือในประเด็นนี้
ปตท. กำไรสุทธิ ปี 2567 ร่วง 19.6% เหลือ 9 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ บมจ.ปตท. แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ รายงานผลประกอบการในปี 2567 ปตท. มีกำไรสุทธิจำนวน 90,072 ล้านบาท ลดลง 21,952 ล้านบาท หรือ 19.6% จากปี 2566 ที่มีกำไร 112,024 ล้านบาท โดยหลักจาก EBITDA ที่ลดลง ประกอบกับค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลง อีกทั้งมีการรับรู้รายการ Non-Recurring Items สุทธิภาษีตามสัดส่วนของ ปตท. เป็นขาดทุนประมาณ 4.5 พันล้านบาท
โดยหลักจากการด้อยค่าและประมาณการค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตของกลุ่มบริษัท Vencorex และ PTTAC ของ PTTGC ประมาณ 1.05 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในปี 2566 มีการรับรู้รายการ Non-Recurring Items สุทธิภาษีตามสัดส่วนของ ปตท. เป็นกำไรประมาณ 300 ล้านบาท โดยหลักจากการขายสัดส่วนการลงทุนในโครงการ Cash-Maple ของ PTTEP
สรุปข้อมูลกำไรสุทธิของ บมจ.ปตท. ประจำปี 2567
ขณะที่ในปี 2567 ปตท. มีรายได้จากการขายจำนวน 3,090,453 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 จำนวน 54,431 ล้านบาท หรือลดลง 1.7% โดยกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศมีรายได้จากการขายลดลงจากราคาขายผลิตภัณฑ์ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันที่อ้างอิง แม้ว่าปริมาณขายเพิ่มขึ้น โดยหลักจากปริมาณการค้าน้ำมันสำเร็จรูปและ LNG ระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีรายได้จากการขายลดลง โดยหลักจากธุรกิจจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติจากราคาขายเฉลี่ยปรับลดลงตามราคา Pool Gas รวมทั้งปริมาณขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยที่ลดลง
พร้อมประกาศจ่ายเงินปันผลสำหรับงวดผลการดำเนินงานปี 2567 ที่ 2.10 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทน (Dividend Yield) ที่ 6.6% และมี Payout Ratio ที่ 67%