×

ผ่าแผน ‘ปตท.’ ปั้นธุรกิจ ‘EV-Life Science’ ช่วยดันกำไรธุรกิจใหม่ทะลุ 30% ในปี 2030

11.11.2022
  • LOADING...

หลังจากที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เริ่มก้าวไปสู่การเป็นบริษัทข้ามชาติตั้งแต่ปี 2550 พร้อมกับวิสัยทัศน์ก่อนหน้านี้คือ Thai Premier Multinational Energy ซึ่งสะท้อนถึงเป้าหมายของ ปตท. ที่ต้องการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ด้วยการออกไปหาแหล่งพลังงานจากทั่วโลก 

 

ด้วยโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเทรนด์การใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ทำให้ ปตท. ตัดสินใจปรับวิสัยทัศน์ครั้งสำคัญเป็น Powering Life with Future Energy and Beyond เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายของบริษัทที่มุ่งไปสู่ Carbon Neutrality ในปี 2583 และ Net Zero Emissions ในปี 2593

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

แน่นอนว่าการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศยังคงเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของ ปตท. แต่ความมั่นคงที่ว่านี้จะต้องเกิดจากพลังงานในรูปแบบใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ปตท. ก็มีแผนที่จะขยายไปยังธุรกิจอื่นที่เป็นเทรนด์แห่งอนาคต พร้อมกับการตั้งเป้าหมายทางธุรกิจว่าจะเพิ่มสัดส่วนกำไรจากธุรกิจใหม่ให้สูงกว่า 30% ภายในปี 2573

 

ในระยะแรกของการรุกธุรกิจใหม่ ปตท. ได้วางให้ธุรกิจ EV Value Chain และธุรกิจ Life Science เป็นสองหัวหอกสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ 

 

ผ่าแผนธุรกิจ EV ครบวงจร

แนวโน้มการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าที่ขยายตัวทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ ปตท. มุ่งวางรากฐานขยายธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร (EV Value Chain) ให้ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อสร้างระบบนิเวศของ EV ที่สมบูรณ์ให้กับประเทศไทย ทั้งในส่วนของแพลตฟอร์ม โครงสร้างพื้นฐาน และการให้บริการอื่นๆ 

 

 

บริษัท อรุณ พลัส จำกัด จึงได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับการขยายธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร หรือ EV Value Chain และเป็นแกนหลักในการพัฒนาระบบนิเวศของ EV โดยปัจจุบันบริษัทได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการในหลายส่วนแล้ว ได้แก่

 

  1. บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (Horizon Plus) ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่าง อรุณ พลัส ในสัดส่วน 60% และบริษัท หลินยิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ (Lin Yin International Investment) สัดส่วน 40% เพื่อทำธุรกิจผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี MIH Platform หรือ Open EV Platform ซึ่งเป็นโครงช่วงล่างของตัวรถยนต์ไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่นสูง โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของ Horizon Plus คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 โดยใช้งบลงทุนเฟสแรกประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ มีกำลังการผลิตในระยะแรกที่ 50,000 คันต่อปี 

 

  1. ออน-ไอออน (on-ion) ผู้ให้บริการธุรกิจสถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า มุ่งขยายไปยังพื้นที่ทำเลศักยภาพ เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน ร้านอาหาร ปัจจุบัน on-ion เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว 4 ที่ 1. Energy Complex 2. EECi วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง 3. ศูนย์การค้า 6 แห่งของกองทรัสต์อัลไล คือ คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์, เดอะ คริสตัล เอกมัย-รามอินทรา, เดอะ คริสตัล เอสบี ราชพฤกษ์, เดอะ คริสตัล ชัยพฤกษ์, เพลินนารี่ มอลล์ วัชรพล และสัมมากร เพลส รามคำแหง และพร้อมเปิดให้บริการที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล 37 สาขา 18 จังหวัด ในปี 2566

 

  1. อีวี มี (EVme) บริการแพลตฟอร์มสำหรับเช่ารถยนต์ไฟฟ้าจากแบรนด์ชั้นนำรายแรกในประเทศไทย ปัจจุบันให้บริการในกรุงเทพฯ และในปี 2566 จะขยายการให้บริการในต่างจังหวัดและกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ

 

  1. บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (Nuovo Plus) เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง อรุณ พลัส สัดส่วน 51% และ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) สัดส่วน 49% เพื่อผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนฟอสเฟต ภายใต้แบรนด์ G-Cell

 

  1. บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด (Swap & Go) ให้บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ ปัจจุบันมีสถานีบริการแล้ว 22 แห่งในกรุงเทพฯ ก่อนที่ปี 2566 จะเปิดตู้แบตเตอรี่และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าโมเดลใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยให้วิ่งได้ไกลขึ้น และมีแผนขยายสถานีบริการอีก 100 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล นอกจากการดำเนินงานภายใต้ อรุณ พลัส บริษัทยังได้ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าร่วมกับบริษัทในเครือ เช่น บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (GC) และ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เพื่อนำเม็ดพลาสติกมาผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ขณะที่ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ทำหน้าที่พัฒนาสถานีชาร์จไฟใน PTT Station และ FIT Auto 

 

ผ่าแผนธุรกิจ Life Science 

สังคมไทยที่ก้าวสู่สังคมสูงวัย ทำให้ผู้คนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับความเสี่ยงจากโรคภัยที่เกิดจากวิถีชีวิตสมัยใหม่ ทำให้ ปตท. เล็งเห็นถึงโอกาสในการขยายเข้าสู่ธุรกิจที่เรียกว่า Life Science โดยการจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจยา ธุรกิจอุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ และธุรกิจโภชนาการ 

 

 

  1. ธุรกิจยา (Pharmaceutical) มุ่งเน้นการผลิตยาชีววัตถุที่มีนวัตกรรม หรือยาสามัญที่เพิ่งหมดสิทธิบัตร หรือมีการปรับเปลี่ยนวิธีการบริโภคให้สะดวกมากขึ้น พร้อมกับพัฒนาแนวทางการรักษาโรคที่ไม่ติดต่อ เช่น โรงมะเร็ง โรคหัวใจ โรคอ้วน ที่ผ่านมาอินโนบิกได้จับมือกับบริษัทผู้เชี่ยวชาญการลงทุนด้านสุขภาพจากไอซ์แลนด์ คือ Aztiq เพื่อเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ Alvogen Emerging Markets Holdings Limited ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักของ Lotus Pharmaceutical และบริษัท Adalvo บริษัทด้านการซื้อขายยาและสิทธิบัตร และภายหลังการเข้าซื้อ ทำให้อินโนบิกก้าวขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งของ Lotus Pharmaceutical ในสัดส่วน 37% และ Adalvo 60%นอกจากนี้ อินโนบิกยังได้จับมือกับคณะแพทยศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนางานวิจัย ‘โมเลกุลมณีแดง’ เพื่อพัฒนายีนที่จะช่วยให้เซลล์ที่เสื่อมลงกลับมาดีขึ้น 

 

  1. ธุรกิจอุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ (Medical Technology) เป็นการต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมีของกลุ่ม ปตท. โดยใช้เม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีนผลิตผ้า Melt Blown รวมถึงการผลิตยางสังเคราะห์เพื่อเป็นวัตถุดิบทำถุงมือไนไตร อย่างการร่วมทำกับ IRPC ก่อตั้งบริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด เพื่อผลิตวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ รวมถึงการลงทุนในบริษัท นำวิวัฒน์การช่าง (1992) จำกัด มูลค่ากว่า 800 ล้านบาท หรือราว 17.65% เพื่อเดินหน้าการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์กลุ่มทำให้ปราศจากเชื้อ (Sterilization) 

 

  1. ธุรกิจโภชนาการเพื่อสุขภาพ (Nutrition) ที่ผ่านมา อินโนบิก (เอเซีย) ได้ร่วมทุนกับบริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ NRF เพื่อจัดตั้งบริษัท NRPT สำหรับทำธุรกิจพัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชแบบครบวงจร เมื่อสิ้นปี 2564 NRPT ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับ Plant & Bean (UK) เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช โดยจะนำเทคโนโลยีการผลิตจากประเทศอังกฤษมาตั้งโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืชในไทย โดยมีกำลังการผลิต 3,000 ตันต่อปี โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2565 

 

นอกจากนี้ NRPT ยังได้เปิดตัวร้าน ‘alt.Eatery’ คอมมูนิตี้อาหาร Plant-based ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท ซอย 51 ซึ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ใช้โปรตีนจากพืช ทดแทนการใช้เนื้อสัตว์ ขณะเดียวกันบริษัทก็มีแผนที่จะนำผลิตภัณฑ์ Wicked Kitchen ซึ่งเป็นแบรนด์อาหาร Plant-based จากประเทศอังกฤษ มาวางจำหน่ายผ่าน Tops Supermarket และ Central Food Hall  

 

เป้าหมายระยะยาวของ ปตท.

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า แนวทางของ ปตท. หลังจากนี้คือการ Go Green และ Go Electric เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ นอกจากสัดส่วนกำไร 30% บริษัทยังมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนเป็น 12 กิกะวัตต์

 

ขณะที่งบลงทุนของบริษัทระหว่างปี 2564-2573 จะถูกแบ่งให้กับธุรกิจใหม่ 17% และธุรกิจพลังงานสะอาด 15% ส่วนอีก 68% จะยังลงทุนในส่วนของพลังงานดั้งเดิม โดยเน้นไปที่ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาดที่สุดในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน

 

นอกจากนี้ ปตท. ยังมีกลุ่มธุรกิจใหม่อีก 7 กลุ่ม นอกเหนือไปจาก EV และ Life Science ซึ่งจะค่อยๆ เห็นการพัฒนามากขึ้นตามมาหลังจากนี้ ได้แก่ Renewable Energy, Energy Storage & System Related, Hydrogen, Mobility & Lifestyle, High Value Business, Logistics & Infrastructure และ Robotics & Digitalization


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X