×

PTT โหมลงทุนธุรกิจพลังงานและเทคโนโลยีแห่งอนาคต หวังดันสัดส่วนรายได้แตะ 30% ในปี 2573

01.03.2022
  • LOADING...
PTT

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ขึ้นชื่อว่าเป็นบริษัทด้านพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของไทย ด้วยมูลค่าบริษัทราว 1.1-1.2 ล้านล้านบาท ปัจจุบันโครงสร้างรายได้กว่า 95% ของบริษัทยังคงมาจากธุรกิจพลังงานดั้งเดิมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นส่วนของก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่น ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และการจำหน่ายน้ำมัน เป็นต้น 

 

อย่างไรก็ดี ปตท. มีแผนที่จะลงทุนขยายธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะธุรกิจในด้านพลังงานและเทคโนโลยีแห่งอนาคต ทั้งในส่วนของพลังงานทดแทน ยานยนต์ไฟฟ้า ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์อัจฉริยะ เป็นต้น 

 

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT เปิดเผยว่า ภายในปี 2573 บริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจใหม่เป็น 30% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนไม่ถึง 5% อย่างไรก็ตาม PTT จะยังคงเป็น ‘บริษัทพลังงาน’ เช่นเดิม 

 

“ปตท. จะยังเป็นบริษัทพลังงานอยู่แน่นอน บริษัทไม่ได้ลดขนาดธุรกิจเดิมและยังขยายอีกด้วย แต่ธุรกิจใหม่จะขยายเพิ่มมากขึ้น ทำให้สัดส่วนในอนาคตเปลี่ยนไป ขณะนี้เป็นช่วงของการลงทุนอีกครั้ง อาจต้องใช้เวลาสักระยะให้ออกดอกออกผล ถือเป็นการลงทุนในเวลาที่เราเข้มแข็ง ธุรกิจหลักยังสร้างรายได้อยู่ เราจึงนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงในระยะยาว” 

 

ลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจใหม่

สำหรับธุรกิจพลังงานทดแทน บริษัทตั้งเป้ากำลังการผลิต 12,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 จากการลงทุนในประเทศ รวมถึงต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน ทั้งในส่วนของพลังงานลมนอกชายฝั่ง 595 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ 55.8 เมกะวัตต์ รวมถึงพลังงานหมุนเวียนในอินเดียจำนวนเกือบ 2,000 เมกะวัตต์ ผ่านการลงทุนของบริษัทย่อยคือ GPSC 

 

สำหรับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้ร่วมทุนกับ Foxconn ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยจะตัดสินใจการลงทุนขั้นสุดท้ายในครึ่งปีแรกของปีนี้ และเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาสแรก ปี 2567 ด้วยกำลังการผลิต 5 หมื่นคันต่อปี ก่อนจะขยายเป็น 1.5 แสนคันต่อปีในปี 2573 ขณะเดียวกันยังมีแผนลงทุนจักรยานยนต์ไฟฟ้าและรถบัสไฟฟ้า รวมถึงสถานีชาร์จ 300 สถานี รวมกว่า 1,300 จุด และพัฒนาแพลตฟอร์มให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันปล่อยให้เช่าแล้ว 200 คัน เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทดลองใช้งาน

 

ในส่วนของธุรกิจเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และแพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy Platform) บริษัทมีแผนลงทุนตั้งโรงงานแบตเตอรี่ Semi Solid แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการร่วมทุนกับ WHA เพื่อพัฒนา Smart Energy Platform สำหรับซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เชิงพาณิชย์ 

 

นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนลงทุนในธุรกิจยาและเวชภัณฑ์เพิ่มเติม และยังได้ร่วมลงทุนกับบริษัท NRF เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช (Plant-based Food) ขณะที่การรุกธุรกิจผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์จะดำเนินการผ่านบริษัทย่อยคือ IRPC 

 

ส่วนบริษัท PTTGC จะเข้าลงทุนในอุตสาหกรรม Coating Resins ผ่านการซื้อกิจการ Allnex ด้าน OR ขยายธุรกิจในหลายส่วนเช่นกัน อย่างการร่วมทุนกับ Flash Express ในธุรกิจโลจิสติกส์ หรือร่วมทุนกับ BAFS ให้บริการเติมน้ำมันในสนามบินอู่ตะเภา การซื้อกิจการอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มเติม อาทิ โอ้กะจู๋ รวมไปถึงจัดตั้งกองทุน VC เพื่อลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ 

 

ทางด้านบริษัทย่อยอีกบริษัทอย่าง PTTEP ซึ่งธุรกิจเดิมคือสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ล่าสุดได้จุดตั้งบริษัทย่อยอีก 7 บริษัท โดยเน้นลงทุนในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ้นยนต์อัจฉริยะ (Robotics)

 

ในส่วนของธุรกิจใหม่ ปตท. ได้เตรียมงบลงทุนในอนาคตสำหรับ 5 ปีข้างหน้านี้ จำนวน 2.38 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนในธุรกิจเหล่านี้

 

แผนขยายธุรกิจดั้งเดิม

สำหรับธุรกิจหลักซึ่งดำเนินการผ่าน ปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% ตั้งงบลงทุน 1.02 แสนล้านบาท ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2569) โดยหลักจะลงธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 82% หรือ 8.39 หมื่นล้านบาท อาทิเช่น โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งงบลงทุนส่วนมากจะดำเนินการในปี 2565-2566 จำนวน 4.65 หมื่นล้านบาท และ 3.12 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ 

 

และในส่วนของงบลงทุนรวมของบริษัทในเครือ ปตท. จะอยู่ที่ 9.44 หมื่นล้านบาท โดยจะลงทุนในธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นผ่าน PTTEP 54% ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายผ่าน บริษัท TOP, GC, IRPC และรวม 31% ธุรกิจท่อส่งและโรงแยกก๊าซของ PTT 11% และธุรกิจโรงไฟฟ้า ผ่านบริษัท GPSC 4% 

 

แนวโน้มธุรกิจปี 2565

โดยภาพรวมหากราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยของปี 2565 สูงกว่าปี 2564 จะทำให้รายได้รวมของ ปตท. สูงขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 2.2 ล้านล้านบาท ส่วนกำไรจะเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้นยังมีอีกหลายปัจจัยต้องติดตาม โดยปีก่อน ปตท. มีกำไรรวม 1.08 แสนล้านบาท 

 

ทั้งนี้ กำไรที่เกิดขึ้นมาจากธุรกิจของ ปตท. 30% และอีก 70% มาจากบริษัทย่อยอีกกว่า 30 บริษัท ส่วนธุรกิจขายน้ำมันแม้จะมีรายได้ 5.11 แสนล้านบาท แต่มีกำไรเพียง 1.14 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8% ของกำไรรวม 

 

“ในช่วงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกสูงขึ้น หมายความว่าต้นทุนของ ปตท. สูงขึ้นตาม ทั้งธุรกิจโรงกลั่นและค้าปลีกน้ำมันก็มีต้นทุนสูงขึ้นเช่นกัน การปรับราคาขายปลีกจะทยอยปรับขึ้นตามราคา แต่จะมีการชะลอการปรับขึ้นช้ากว่าต้นทุนเล็กน้อย เพราะฉะนั้นค่าการตลาดของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในช่วงน้ำมันขาขึ้นจะบางมาก”  

 

ขณะที่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ส่งผลกระทบกับราคาน้ำมัน หากมีการสู้รบรุนแรงขึ้นและยืดเยื้อก็มีโอกาสที่ราคาน้ำมันจะสูงขึ้นไปอีก แต่หากตกลงกันได้ก็จะทำให้ราคาน้ำมันลดลง 

 

“ปตท. และประเทศไทยซื้อน้ำมันจากแหล่งที่สู้รบน้อยมาก เพราะฉะนั้นเรื่องการขาดแคลนน้ำมันเราสามารถบริหารจัดการไม่ให้เกิดขึ้นได้แน่นอน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ในอีกมุมหนึ่งหากอิหร่านสามารถเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรได้ก็จะช่วยให้ราคาน้ำมันผ่อนคลายลง ทั้งนี้ อยากเสนอให้รณรงค์ประหยัดพลังงานมากกว่า” 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising