×

ผ่าแผนร่วมทุน PTT-Foxconn วางเป้ารับจ้างผลิตรถ EV จากทั่วโลก หวังสร้างแหล่งรายได้ใหม่ อนาคตไม่ปิดกั้นปั้นแบรนด์ตัวเอง

02.09.2021
  • LOADING...
PTT-Foxconn

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • PTT และ Foxconn อยู่ระหว่างร่างสัญญาจัดตั้งบริษัทร่วมทุนพัฒนาโครงการอุตสาหกรรม EV คาดแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 โดย PTT ถือหุ้น 60% และ Foxconn ถือหุ้น 40%
  • บริษัทร่วมทุนที่เตรียมตั้งขึ้นใหม่จะรับจ้างผลิตรถยนต์ให้ค่ายรถจากทั่วโลก ช่วยลดต้นทุนสำหรับผู้ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และในอนาคตไม่ปิดกั้นที่จะผลิตแบรนด์รถยนต์ของตัวเองขึ้นมา
  • ดีมานด์รถยนต์ EV จากทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดภายในปี 2583 จำนวนรถ EV ทั้งหมดเพิ่มเป็น 500 ล้านคัน จากปริมาณรถยนต์ทั้งหมด 1,600 ล้านคัน
  • ผู้บริหาร PTT หวังเป็นธุรกิจใหม่ ปูทางสู่ Future Energy ช่วยกระจายแหล่งรายได้และกำไรของบริษัท
  • นักวิเคราะห์ประเมินช่วง 2-3 ปีแรก อาจยังไม่ช่วยผลักดันให้กำไรของกลุ่ม PTT เพิ่มขึ้น แต่เชื่อจะสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว มองดีลการลงทุนถือเป็นบวกต่อบริษัท

หนึ่งในดีลยักษ์ใหญ่ที่สร้างความฮือฮาให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ถือหุ้น บมจ.ปตท. (PTT) คือการประกาศข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ปตท. กับ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป (Foxconn) ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่สุดของโลก สัญชาติไต้หวัน โดยทั้ง 2 บริษัทได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อร่วมกันผลักดันโครงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยไปในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา 

 

ทั้ง PTT และ Foxconn ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันแพลตฟอร์มการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า(EV) และส่วนประกอบต่างๆ แบบ End-to-End ซึ่งจะถือเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกในอาเซียน

 

นพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและดิจิทัล PTT เล่าให้ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ฟังว่า ภายหลังการลงนามใน MOU ดังกล่าว ปัจจุบันทั้ง PTT และ Foxconn อยู่ระหว่างร่างรายละเอียดสัญญาร่วมทุน (Joint Venture: JV) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ปีนี้ 

 

“เราจะลงนามในสัญญา JV อย่างเป็นทางการเพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้เป็นบริษัทลงทุนพัฒนาโครงการอุตสาหกรรม EV ภายในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ จากนั้นลำดับถัดไปจะเริ่มศึกษารายละเอียดของ Supply Chain (ห่วงโซ่อุปทาน) และรายละเอียดอื่นๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในโครงการนี้ คาดว่าจะสามารถสรุปและประกาศการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision: FID) ได้ในไตรมาส 2 ปีหน้า

 

สำหรับสัดส่วนการถือหุ้นใน JV ที่เตรียมจัดตั้งขึ้นใหม่ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ PTT จะถือหุ้นในบริษัทใหม่ราว 60% และ Foxconn ถือหุ้น 40% ส่วนมูลค่าลงทุนเบื้องต้นจะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท 

 

นพดลกล่าวว่า ลักษณะธุรกิจของบริษัทร่วมทุนที่เตรียมจัดตั้งขึ้นใหม่นี้ กลุ่ม PTT จะกำหนดให้โรงงานแห่งใหม่ทำหน้าที่รับจ้างผลิตรถยนต์ EV แบบครบวงจรให้กับเจ้าของหรือแบรนด์รถยนต์ต่างๆ ที่สนใจเข้ามาใช้ไทยเป็นศูนย์กลางหรือฐานในการผลิต

 

“การทำแบบนี้มีข้อดี คือ เจ้าของแบรนด์รถยนต์ไม่ต้องใช้เงินลงทุนสร้างโรงงานเอง เพราะสามารถใช้โรงงานหรืออินฟาสตรักเจอร์ที่มีอยู่ ช่วยให้เจ้าของแบรนด์รถยนต์ไม่ต้องใช้เงินลงทุนที่สูง และยังสามารถผลิตได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดต้นทุนให้กับเจ้าของแบรนด์รถยนต์แต่ละรายด้วย ขณะที่กลุ่ม PTT เองยังสามารถใช้โรงงานนี้รับออร์เดอร์จากค่ายรถยนต์ได้หลากหลายด้วย”

 

ก่อนหน้านี้นพดลเคยให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ต่อคำถามที่ว่า มีโอกาสหรือไม่ที่ PTT จะสร้างแบรนด์รถยนต์ของตัวเองขึ้นมา ซึ่งเขาบอกว่า ในช่วงแรกของการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนนี้ ต้องการสร้างแพลตฟอร์มการผลิตมากกว่า แต่ในอนาคตก็ไม่ได้ปิดกั้นโอกาสดังกล่าว

 

สำหรับรูปแบบการลงทุน PTT จะให้บริษัทลูก คือ บริษัท อรุณ พลัส (ARUN PLUS) ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่ มีทุนจดทะเบียน 5 พันล้านบาท เป็นผู้ลงทุนในบริษัทร่วมทุนที่เตรียมจัดตั้งขึ้นใหม่ โดยหน้าที่ของ อรุณ พลัส คือ การเข้าทำธุรกิจ EV Value Chain แบบครบวงจร โดยเฉพาะในเรื่องของการผลิต และมีดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านการสร้างความต้องการ (Demand Creation) ตอนนี้เริ่มใช้งานแบบ Focus Group แล้ว คาดว่าจะสามารถเปิดให้ใช้งานแบบเป็นทางการได้ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า 

 

ส่วนทางด้าน Foxconn มีจุดแข็งในเรื่องสายสัมพันธ์ที่ดีกับค่ายรถยนต์ใหญ่ๆ หลายเจ้าจากทั่วโลก จึงสามารถช่วยขยายฐานลูกค้าได้อย่างดี

 

นพดลกล่าวด้วยว่า รายละเอียดการร่วมมือกันระหว่าง PTT กับ Foxconn แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก โดยส่วนแรก จะเป็น Skateboard Platform EV ซึ่งส่วนนี้จะประกอบไปด้วยช่วงล่างของตัวรถยนต์ทั้งหมดซึ่งจะทำแบบสำเร็จรูป แต่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสเปกของลูกค้า และพร้อมที่จะใช้ประกอบกับตัวรถยนต์ได้ทันที 

 

ส่วนที่สองจะมีโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เช่น หากมีแบรนด์ที่ต้องการเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แต่ไม่อยากลงทุนเอง สามารถใช้โรงงานของบริษัทประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปขึ้นมา หรือจะผลิตทั้งคันก็สามารถทำได้ 

 

“ภายใต้โรงงาน JV แห่งนี้ เราวางแผนการผลิตในปี 2566 ไว้จำนวน 30,000 คันต่อปี และในปี 2568 จะเพิ่มเป็น 50,000 คันต่อปี ส่วนในปี 2578 ตั้งเป้าผลิตเพิ่มเป็น 120,000 คันต่อปี อีกทั้งในอนาคตยังสามารถขยายการลงทุนหรือเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก หากมีดีมานด์เข้ามาเพิ่มขึ้น”

 

ทั้งนี้ ภาครัฐมีแผนผลักดันให้การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยต้องมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2578 ซึ่งคาดว่าในปีดังกล่าวจะมียอดการผลิตรถยนต์รวมอยู่ที่ 2,000,000 คันต่อปี นั่นหมายความว่าในจำนวนนี้จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าราว 700,000 แสนคันต่อปี 

 

สำหรับดีมานด์รถยนต์ไฟฟ้าจากทั่วโลกนั้นมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งหลายประเทศประกาศชัดเจนที่จะยกเลิกใช้งานรถยนต์สันดาปเพื่อดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นแล้วความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าจากทั่วโลกย่อมเพิ่มขึ้นแน่นอน อีกทั้งแบรนด์รถยนต์ขนาดใหญ่เริ่มประกาศแผนกรอบเวลาที่จะเลิกผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันแล้ว ซึ่งประเมินว่าในปี 2583 จะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 500 ล้านคัน จากจำนวนใช้งานรถยนต์ของโลกที่มีรวมประมาณ 1,600 ล้านคัน

 

ทั้งนี้ เบื้องต้นเมื่อเปรียบผลตอบแทนจากการลงทุน (Project IRR) ของโครงการร่วมทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้านี้ โดยเทียบกับธุรกิจดั้งเดิมของ ปตท. คือ กลุ่มปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจนี้ถือว่ามีความน่าสนใจ เพราะจากการศึกษาพบว่า มี Project IRR อยู่ในระดับตัวเลข 2 หลัก ใกล้เคียงกับธุรกิจเดิมของ ปตท. 

 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจใหม่นี้ถือเป็นโอกาสในการเปิดประตูให้ PTT ก้าวเข้าสู่ธุรกิจ Future Energy ที่เป็นเทรนด์ของโลกในอนาคต สร้างโอกาสให้ PTT มีกำไรและรายได้จากแหล่งธุรกิจใหม่ ช่วยกระจายความเสี่ยงออกจากธุรกิจกลุ่มพลังงานดั้งเดิม ส่วนการประเมินตัวเลขรายได้และกำไรจากการร่วมทุนรถยนต์ไฟฟ้านี้ เป็นการบ้านที่อยู่ระหว่างทำงานร่วมกับ Foxconn เพื่อสรุปตัวเลขออกมาอีกครั้ง

 

พรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน PTT กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ภายในปี 2573 บริษัทตั้งเป้าสัดส่วนกำไรที่มาจากการลงทุนในกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงการลงทุนในธุรกิจพลังงานประเภทใหม่ที่เป็นเทรนด์ของโลกในอนาคต ให้ขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 30% โดยปัจจุบันยอมรับว่าสัดส่วนที่มาจากธุรกิจในกลุ่มนี้ของ ปตท. น้อยมาก เพราะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเข้าลงทุน 

 

ด้าน เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล. เอเซีย พลัส กล่าวว่า ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส มีมุมมองเชิงบวกต่อแผนการลงทุนของ ปตท. ในธุรกิจผลิตรถยนต์ EV แบบ End-to-End กับทาง Foxconn เพราะถือเป็นการเปิดศักยภาพใหม่ให้กับกลุ่ม PTT ที่กำลังก้าวเข้าสู่ธุรกิจพลังงานสะอาดซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก

 

นอกจากนี้ PTT ยังมีจุดแข็งและได้เปรียบจากการที่ทำธุรกิจอยู่ในกลุ่มพลังงานดั้งเดิม รวมทั้งยังมีความพร้อมในด้านเงินทุน บุคลากร เทคโนโลยี รวมถึงเน็ตเวิร์กของธุรกิจที่มีอยู่ทั่วโลก ที่พร้อมจะก้าวสู่ธุรกิจพลังงานสะอาดรวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า

 

“ความพร้อมของ PTT ในการขยับเข้ามาในกลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างๆ ถือว่าโครงสร้างธุรกิจปัจจุบันของ PTT พร้อมมาก เปรียบเหมือนตอนนี้มีบ้านที่วางระบบสายไฟฟ้าภายในครบแล้ว แต่ปัจจุบันบ้านนี้ใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่ถ้าเปลี่ยนมาติดแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้ไฟฟ้าผลิตเอง แค่กดสวิตช์ก็สามารถทำได้ทันที”

       

อย่างไรก็ดี สำหรับข้อมูลรายละเอียดของโครงการผลิตรถยนต์ EV ทางกลุ่ม PTT ยังไม่ได้ให้รายละเอียดของแผนการลงทุนมากนัก จึงยังไม่สามารถประเมินมูลค่าหุ้น PTT ในอนาคตได้ แต่คาดว่าในระยะยาว กลุ่มธุรกิจธุรกิจพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างๆ น่าจะเป็นขุมทรัพย์แห่งใหม่ของ PTT ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

สำหรับในปีนี้ประเมินว่ากำไรของ PTT จะเติบโตขึ้นอย่างโดดเด่น โดยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 8.16 หมื่นล้านบาท หรือมีกำไรต่อหุ้น (EPS) อยู่ที่ 2.86 บาทต่อหุ้น เติบโตขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัวจากปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3.78 หมื่นล้านบาท หรือมี EPS อยู่ที่ 1.32 บาทต่อหุ้น เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากทุกธุรกิจในกลุ่ม ทั้งกลุ่มน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ รวมถึงปิโตรเคมีที่กำไรฟื้นตัวได้ดีจากฐานที่ต่ำเมื่อเปรียบจากปี 2563 จึงแนะนำให้ ‘ซื้อ’ โดยมีราคาเป้าหมายที่ 48 บาท

 

อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า การที่ PTT ร่วมทุน Foxconn เพื่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ถือเป็นการสร้างประโยชน์ร่วมทางธุรกิจ (Synergy) ให้ PTT ในระยะยาว เพราะการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นเทรนด์ของโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น ขณะที่ฐานธุรกิจเดิม คือ สถานีบริการเติมน้ำมัน สามารถต่อยอดปรับเป็นสถานีชาร์จรถไฟฟ้าทันที ซึ่งปัจจุบัน PTT ได้เริ่มทยอยติดตั้งเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าในสถานีบริการเติมน้ำมันไปบ้างแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าธุรกิจผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะยังไม่ได้สร้างกำไรให้กับ PTT ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากยังเป็นช่วงของเริ่มต้นของการลงทุน ทำให้สายงานวิเคราะห์ฯ ยังขอรอติดตามแผนรายละเอียดของโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ออกมามากว่านี้ด้วยเช่นกัน จึงไม่สามารถประเมินบวกที่เกิดขึ้นต่อกำไรและมูลค่าหุ้น PTT เพราะต้องรอข้อมูลรายละเอียดของโครงการให้ออกมามากกว่านี้

     

ทั้งนี้ ในปี 2564 คาดว่า PTT จะมีกำไรอยู่ที่ระดับ 1.10 แสนล้านบาท เติบโตขึ้นประมาณ 191% เมื่อเปรียบกับปีก่อน เนื่องจากมีปัจจัยบวกจากทุกธุรกิจในกลุ่มที่ฟื้นตัว รวมถึงธุรกิจหลักอย่างกลุ่มน้ำมันที่ราคาน้ำมันเบรนต์ปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เปรียบกับราคาเฉลี่ยของปีที่แล้วที่อยู่ที่ระดับ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านคำแนะนำให้ ‘ซื้อ’ มีราคาเป้าหมายที่ 52 บาท

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising