“ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้เราคงไม่ได้มองเพียงแค่ประเด็นภาษีสหรัฐฯ หรือสงครามการค้า แต่เราประเมินแล้วว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะขยายตัวลดลง ซึ่งเราต้องรักษาวินัยทางการเงิน ดูกลยุทธ์ ปรับปรุงกำไร กระแสเงินสด ลดค่าใช้จ่าย ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน” คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าว
คงกระพันยอมรับว่า ปี 2568 ภาพรวมตลาดเศรษฐกิจโลกไม่ดี การเจรจาการค้าต่างๆ ค่อนข้างท้าทายและมีความเสี่ยง เศรษฐกิจโดยรวมน่าจะปรับตัวลดลง ขณะที่ตลาดน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และปิโตรเคมี ก็คาดว่าไม่น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะยังคงจับตานโยบายขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ที่ไม่แน่นอน
ประกอบกับช่วงปลายไตรมาส 1 ปริมาณการผลิตน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลก และความต้องการใช้พลังงานที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้เกิดความท้าทายหลายมิติ ความไม่แน่นอนของลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) กระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยและกระทบต่อนโยบายรัฐ
ตั้งวอร์รูมปรับแผนธุรกิจ 5 ด้าน หวังเพิ่ม EBITDA 2 หมื่นล้าน
- Strategy ทบทวนกลยุทธ์เดิม พร้อมพิจารณาความท้าทายใหม่ที่จะเข้ามากระทบ พบว่ากลยุทธ์กลุ่ม ปตท. มาถูกทาง เหมาะสม สามารถรับมือกับปัจจัยภายนอกและความท้าทายจากเรื่องสงครามการค้าได้ เพียงแต่บางเรื่องต้องเร่งให้เร็วขึ้น เช่น การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท.
- Financial Management รักษาวินัยการเงิน บริหารต้นทุนการเงิน เสริมสภาพคล่องกระแสเงินสด รักษาระดับ Credit Rating
- Supply Chain & Customer ดูแลคู่ค้า ลูกค้า เพื่อสร้างความต่อเนื่องตลอด Supply Chain พร้อมเร่งดำเนินโครงการสร้างมูลค่าเพิ่ม
- Project Management ทบทวนความเป็นไปได้ของโครงการและการลงทุน โดยต้องพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ รวมถึงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (Asset Monetization) ของ Flagship
- Communication สื่อสารและสร้างความเข้าใจการดำเนินธุรกิจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างทั่วถึง
อย่างไรก็ตาม ไตรมาสแรกปีนี้ ปตท. มีกำไรสุทธิ 23,315 ล้านบาท หากไม่รวมรายการพิเศษจะใกล้เคียงกับปี 2567 ทั้งนี้ในปี 2568 ปตท. ตั้งเป้าหมาย EBITDA หรือกำไรก่อนหักค่าเสื่อมวงเงิน เพิ่มขึ้นอีก 20,000 ล้านบาท
‘รัดเข็มขัด’ ลดต้นทุนกว่าหมื่นล้าน ‘แปลงสินทรัพย์เป็นทุน’
นอกจากนี้ยังปรับ Asset Portfolio เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความมั่นคงในระยะยาว โดยแสวงหาโอกาสเพื่อเพิ่มผลกำไรกว่า 8,000 ล้านบาท และให้ความสำคัญกับการ ‘แปลงสินทรัพย์เป็นทุน’ ราว 15,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ปตท. ยังเดินหน้าลดต้นทุนค่าใช้จ่าย โดยจะทยอยรับรู้จากโครงการกลุ่ม ปตท. เช่น โครงการ MissionX ยกระดับ Operational Excellence เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าทั้งกลุ่ม ปตท. ราว 30,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งภายในปี 2570 จะเห็นความชัดเจน
อีกทั้งยังมีโครงการ Axis ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งตั้งเป้าจะสร้างมูลค่าได้อีก 11,000 ล้านบาทต่อปีภายในปี 2572
บุกลงทุนต่างประเทศ เร่งกระจายพอร์ต ลดความเสี่ยง นำเข้าอีเทน LNG Alaska สหรัฐฯ
คงกระพันกล่าวอีกว่า สำหรับความร่วมมือการเจรจาด้านพลังงานของรัฐบาลไทยกับสหรัฐฯ ที่จะต้องนำเข้า LNG รวมกันประมาณ 1 ล้านตันต่อปีนั้น จะเป็นสัญญายาว 15 ปี มูลค่ากว่า 7,000 ล้านดอลลาร์
โดย ปตท. ได้ดำเนินการเจรจาในรายละเอียดของโครงการและพิจารณาความเหมาะสมในเชิงธุรกิจสำหรับการผลักดันความร่วมมือในโครงการ Alaska LNG ร่วมกับฝ่ายสหรัฐฯ ต่อเนื่อง
“แหล่งก๊าซ Alaska เป็นพื้นที่น่าสนใจในแง่พื้นที่มากกว่าแหล่งอื่นในสหรัฐฯ รวมทั้งยังมีความยืดหยุ่นในสัญญาการซื้อขายว่าไม่จำกัดพื้นที่ขนส่ง สามารถนำไปขายได้ที่อื่นด้วย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเติมอื่นๆ”
โดยความร่วมมือในโครงการดังกล่าวยังเป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือในการลงทุนและผลิตก๊าซธรรมชาติ เพื่อสร้างเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของไทยอีกด้วย
คงกระพันระบุอีกว่า ปตท. จะเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ในภูมิภาค พร้อมนำเข้า LNG ปริมาณ 11 ล้านตันระยะยาว และสัญญาซื้อขายแบบ Spot LNG Hub”
นอกจากเจรจาแผนการนำเข้า LNG สหรัฐฯ ปตท. ได้ขยายการเติบโตของธุรกิจปัจจุบันในต่างประเทศ โดยเข้าถือหุ้น 10% ใน Ghasha หนึ่งในแหล่งก๊าซธรรมชาติใหญ่ที่สุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
รวมทั้งบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) มีการขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศอินเดียและไต้หวัน สอดรับกับความต้องการใช้พลังงานสะอาด
ย้ำ ‘ปิโตรเคมี’ ธุรกิจเรือธง คาดดีลหาพาร์ตเนอร์ TOP-PTTGC-IRPC ชัดเจนปีนี้
ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่มีความท้าทายจาก Industry Landscape ที่เปลี่ยนไป จึงต้องเร่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบปิโตรเคมีในระยะยาว โดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) จะนำเข้าอีเทนจากสหรัฐฯ ปริมาณ 400,000 ตันต่อปี
ปตท. ยังมองว่าธุรกิจดังกล่าวเป็น ‘ธุรกิจเรือธง’ ของ ปตท. และยังต้องถือหุ้นใหญ่ ซึ่งผู้ที่เข้ามาร่วมพัฒนาจะต้องมีความแข็งแรง ซึ่งความคืบหน้าการเจรจาหาพาร์ตเนอร์ร่วมลงทุนกับ TOP(ไทยออยล์) – PTTGC – IRPC คาดว่าจะชัดเจนภายในปี 2568
ขณะที่บริษัท อินโนบิก(เอเชีย) จำกัด ปัจจุบันก็มีการเจรจากันอยู่และมีความก้าวหน้า
คงกระพันย้ำว่า “ส่วนตัวบริษัทก็มีการออกไปหาพาร์ตเนอร์ที่มีศักยภาพในแวดวงเดียวกันเช่นกัน ทุกบริษัทลูก หากมีสินทรัพย์อะไรที่ต้องแปลงเป็นทุนได้ก็ต้องช่วยกันดู อันไหนดีควรขายก็ขายหรือหาคนมาช่วยดูแล”