×

ระดมทุนวันนี้เพื่อ 10 ปีข้างหน้า ‘มะเร็ง’ จะรักษาได้ด้วยยาแอนติบอดีสัญชาติไทย [Advertorial]

27.11.2018
  • LOADING...

มะเร็งคร่าชีวิตคนไทยจำนวนมากในแต่ละปี ดังนั้นเมื่อคนส่วนใหญ่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง จึงมักรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวัง ซึ่งส่งผลให้สุขภาพทรุดโทรมลง ขณะที่คนจำนวนมากทำได้แค่เพียงรักษาตามอาการ หรือใช้วิธีเคมีบำบัดหรือฉายแสง ซึ่งแม้จะทำลายเซลล์ร้ายได้ แต่ก็ทำลายเซลล์ดีไปด้วย ซึ่งส่งผลข้างเคียงในด้านลบต่อคนไข้

 

แต่มะเร็งไม่ใช่โรคร้ายที่รักษาไม่ได้ตามที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจกัน เพราะเทคโนโลยีและการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ โดยหลังจากที่ ศ.เจมส์ พี. อัลลิสัน แห่งศูนย์มะเร็งเอ็ม.ดี. แอนเดอร์สัน มหาวิทยาลัยเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา และ ศ.นพ.ทาสุกุ ฮอนโจ แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ได้ค้นพบวิธีการรักษามะเร็งด้วยระบบภูมิคุ้มกันในช่วงทศวรรษ 1990 ก็ทำให้วงการแพทย์มีการวิจัยต่อยอดในเรื่องนี้กันมากขึ้น พร้อมจุดประกายความหวังในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรโลก รวมถึงคนไทย แน่นอนว่าผลงานของ ศ.อัลลิสัน และ ศ.นพ.ฮอนโจ เป็นแรงผลักดันที่สำคัญ ซึ่งทำให้พวกเขาคว้ารางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี 2018 ไปครอง

 

 

ทำไมต้องใช้ ‘แอนติบอดี’ รักษามะเร็ง

สำหรับประเทศไทย มีการต่อยอดงานวิจัยยาภูมิคุ้มกันรักษามะเร็ง หรือยาแอนติบอดีรักษามะเร็งเช่นกัน โดย นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล ผู้อำนวยการศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ใช้ต้นแบบของ นพ.ฮอนโจในการผลิตยาแอนติบอดีรักษามะเร็งสำหรับคนไทยในราคาที่เอื้อมถึง

 

นพ.ไตรรักษ์กล่าวในการเปิดตัวงานวิจัยยาแอนติบอดีรักษามะเร็งของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า “จากสถิติโดยเฉลี่ย ทุกคนมีโอกาสเป็นมะเร็งประมาณ 40% ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ขณะที่คนป่วยมีโอกาสเสียชีวิตประมาณ 50% ดังนั้นยาแอนติบอดีรักษามะเร็งจึงมีความสำคัญมาก”

 

กระบวนการทำงานของยาแอนติบอดีรักษามะเร็งสามารถอธิบายได้จากโมเดลของ นพ.ฮอนโจ ซึ่งพบว่า แม้เม็ดเลือดขาวจะทำหน้าที่ต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง แต่หากโปรตีน PD-1 ซึ่งอยู่บนผิวของเม็ดเลือดขาวไปจับคู่กับโปรตีน PD-L1 จะทำให้เม็ดเลือดขาวไม่เข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง เปรียบเหมือนการใส่หน้ากากหลอกว่าเป็นเซลล์ปกติ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ มะเร็งได้ใช้กลไกนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกทำลาย แต่ยาแอนติบอดีรักษามะเร็งจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานเป็นปกติและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

แต่ปัญหาคือ แม้เวลานี้จะมีบริษัทยาชั้นนำของโลกที่สามารถวิจัยและผลิตยาแอนติบอดีได้ แต่ราคาก็แพงมาก เฉลี่ยหลอดละ 200,000 บาท และที่ผ่านมาประเทศไทยก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนทำวิจัยในเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เนื่องจากติดหนึ่งในอุปสรรคสำคัญนั่นก็คือเงินทุน โดยในสหรัฐฯ การลงทุนวิจัยยาตัวนี้ต้องใช้งบประมาณมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 33,000 ล้านบาท และต้องใช้เวลาวิจัย 7-10 ปี จึงจะเห็นผลลัพธ์

 

ยาต้องราคาถูกลง คนไทยทุกคนต้องเข้าถึงได้

นพ.ไตรรักษ์เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของงานวิจัยยาแอนติบอดีรักษามะเร็งว่า ตนมีความสนใจและเชี่ยวชาญด้านแอนติบอดี รวมถึงการรักษาโดยใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดดีอยู่แล้ว ขณะที่ในต่างประเทศ งานวิจัยนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เมื่อตนได้คลุกคลีและรู้จักแพทย์ที่อยู่ในวงการนี้ จึงได้รับแรงกระตุ้นเป็นพิเศษ ส่วนจุดเปลี่ยนอีกประการก็คือ มีคนไข้ที่ได้รับการรักษาจากยาแอนติบอดีจนเซลล์มะเร็งสลาย และหายเป็นปกติ ทั้งๆ ที่ป่วยในระยะที่เกือบเสียชีวิต ดังนั้นจึงถือเป็นประสบการณ์ตรงที่พบเจอด้วยตัวเอง เมื่อเห็นว่าการใช้แอนติบอดีรักษามะเร็งได้ผล จึงอยากทำให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะเรารู้แล้วว่ามีวิธีรักษาให้หาย จึงคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อรักษาโรคนี้ แต่ต้องทำให้ราคาถูกลง เพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

 

ส่วนผลลัพธ์การรักษาขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลและชนิดของมะเร็ง โดย นพ.ไตรรักษ์เผยข้อมูลว่า ผู้ที่เป็นมะเร็งผิวหนังจะรักษาได้ผลประมาณ 50% ส่วนมะเร็งไฝดำได้ผลประมาณ 40% ขณะที่มะเร็งปอดและมะเร็งไตได้ผลราว 20% และ 25% ตามลำดับ ซึ่งนี่คือตัวอย่างผลการรักษาของคนไข้ที่เคยได้ยาสูตรปกติมาแล้ว ส่วนในต่างประเทศผู้ป่วยที่ใช้ยาแอนติบอดีรักษามะเร็งจะมีประกันสังคมดูแล แต่สำหรับประเทศไทยต้องเป็นคนที่มีกำลังจ่ายสูงเท่านั้น

 

 

วิจัยวันนี้เพื่อยาต้านมะเร็งในอีก 10 ปีข้างหน้า

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น งานวิจัยนี้เป็นโครงการระยะยาวเพื่ออนาคต เนื่องจากงานวิจัยต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนมากมาย รวมถึงการทดลองทางคลินิก ขั้นตอนการทดสอบเชิงคุณภาพ และการขอใบรับรองทางการแพทย์ ก่อนจะนำออกมาใช้รักษาคนไข้ได้จริง

 

นอกจากเรื่องระยะเวลาแล้ว เงินทุนสนับสนุนงานวิจัยก็เป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ เพื่อให้งานวิจัยสามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดชะงัก

 

พีที ผู้ให้บริการปั๊มน้ำมัน PT ตระหนักถึงปัญหาเรื่องเงินทุนเป็นอย่างดี จึงริเริ่มโครงการเชิญชวนคนทั่วไปร่วมบริจาคเงินสมทบทุน เพื่อวิจัยยาแอนติบอดีรักษามะเร็งของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนงานวิจัยที่ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ และเพิ่มความหวังในการรักษามะเร็งให้กับคนไทย

 

 

นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าท่ีบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี พีทีจีมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนเพื่อยกระดับสังคมให้ดียิ่งขึ้น และปีนี้ก็เช่นเดียวกัน เราได้จัดทำแคมเปญรณรงค์ให้คนไทยมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบริจาคช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งผ่านการสนับสนุนงานวิจัยแก่ ‘ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง’ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทุกๆ การเติมน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมันพีที ซื้อกาแฟพันธุ์ไทย หรือสินค้าในร้านพีที แม็กซ์มาร์ท ทุกใบเสร็จมีค่า 1 บาท ที่พีทีจีจะร่วมสมทบทุนให้กับโครงการทันที

 

 

นอกจากนี้ผู้ถือบัตรสมาชิกพีที แม็กซ์การ์ด (PT Maxcard) ยังสามารถใช้แต้มสะสมภายในบัตรแลกเป็นเงินบริจาคได้ในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2561 โดย 10 แต้มมีค่าเท่ากับ 1 บาท

 

“อยากเชิญชวนให้ประชาชนร่วมสนับสนุนโครงการนี้ผ่านทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคผ่านโครงการโดยตรง หรือร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบริจาคกับพีที เพราะเรามองว่าโครงการนี้จะช่วยพัฒนาวงการแพทย์ไทย และให้โอกาสคนไทยจำนวนมากเข้าถึงยาแอนติบอดีรักษามะเร็งได้ในราคาที่ถูกลง รวมถึงยังสามารถนำความรู้ไปต่อยอด เพื่อผลิตยารักษาโรคชนิดอื่นๆ ได้อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นโครงการนี้ถือเป็นความร่วมมือในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนของบุคลากรทางการแพทย์และผู้คนหลากหลายอาชีพ อาทิ นายแพทย์ด้านมะเร็ง นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักคอมพิวเตอร์ อาจารย์จากสถาบันศศินทร์ วิศวกร สัตวแพทย์ นักกฎหมาย และทีมพัฒนาแอนติบอดี เกือบร้อยคนที่ในอนาคตจะมาร่วมสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนหมู่มากในประเทศ ให้คนที่คิดว่าไม่มีโอกาสซื้อยามารักษาสามารถเข้าถึงยาได้ และให้พวกเขาได้มีชีวิตอยู่กับครอบครัวและคนที่รักต่อไปได้อีกนาน” นายพิทักษ์กล่าว

 

สำหรับผู้ที่สนใจบริจาคเข้าโครงการ เพื่อเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนสังคม สามารถบริจาคได้โดยตรงผ่านบัญชีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย) เลขบัญชี 408-004443-4 (ออมทรัพย์) 045-304669-7 (กระแสรายวัน) ธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2561 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/ptstation

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X