×

หุ้น PSG ยังพุ่งแรงแม้เข้าสู่มาตรการกำกับระดับสูงสุด โบรกฯ เตือนภาพธุรกิจเทิร์นอะราวด์ยังไม่ชัดแม้ได้กลุ่มทุนใหม่ ด้านผลดำเนินงานขาดทุน 4 ปีซ้อน

12.01.2022
  • LOADING...
psg

ตลาดหลักทรัพย์ฯ-โบรกเกอร์ เตือนนักลงทุนระวังความเสี่ยงเก็งกำไรหุ้น บมจ.พีเอสจี คอร์ปอเรชั่น (PSG) ชี้ยังไม่ชัดเจน กลุ่ม ‘ปณิชา ดาว’ ผู้ถือหุ้นรายใหม่จะพลิกฟื้นธุรกิจเทิร์นอะราวด์ และสามารถแก้ไขให้บริษัทพ้นจากถูกเพิกถอนออกจากตลาดหุ้นได้หรือไม่

 

หุ้น บมจ.พีเอสจี คอร์ปอเรชั่น (PSG) หรือชื่อเดิมคือ บมจ.ที เอ็นจิเนียร์ริ่ง คอร์เปอร์เรชั่น (T) ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ mai นับเป็นหุ้นร้อนแรงต้อนรับศักราชใหม่ปี 2565 เพราะแค่เพียง 5-6 วันแรกของการซื้อขายในปีนี้ ราคาหุ้นตัวนี้ก็ใส่เกียร์เดินหน้าวิ่งทะยานขึ้นไปมากกว่า 103%  

 

หากยังจำกันได้จะเห็นว่าหุ้น PSG ในช่วงที่ยังใช้ชื่อย่อ T เคยวิ่งขึ้นเกือบชนซิลลิ่งติอต่อกัน 3 วันซ้อนมาแล้วในเดือนกันยายน 2564 และร้อนแรงต่อเนื่องมาในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน อันเป็นผลมาจากนักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น ภายหลังบริษัทมีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ โดยมี ปณิชา ดาว นักธุรกิจที่เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 80% หรือถือหุ้นแล้วกว่า 51.994 ล้านหุ้น

 

ล่าสุด ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2564 ปณิชา ดาว ได้รายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อีกครั้งภายหลังสิ้นสุดการทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมดว่ามีสัดส่วนการถือหุ้น PSG เพิ่มขึ้นอีก 16.85% หรือ 10.948 ล้านหุ้น

 

สำหรับความร้อนแรงของหุ้น PSG รอบนี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565 เมื่อราคาหุ้นขยับขึ้นและยืนปิด ณ จุดสูงสุดของวันที่ 0.75 บาท เพิ่มขึ้น 29.31% โดยมีมูลค่าการซื้อขายหนาแน่นขึ้นมามากกว่า 715 ล้านบาท เป็นผลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตัดสินใจใช้มาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 กำหนดให้สมาชิกต้องดำเนินการให้ลูกค้าซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชี Cash Balance เท่านั้น โดยลูกค้าต้องวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนก่อนซื้อหลักทรัพย์ เพื่อสกัดความร้อนแรง มีผลระหว่างวันที่ 5-25 มกราคม 2565 ทันที

 

ผลของมาตรการดังกล่าวไม่สามารถสยบความร้อนแรงของหุ้นตัวนี้ลงได้ เพราะราคาหุ้นยังคงพุ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ใกล้ๆ บริเวณ 1 บาท ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายหลักหลายร้อยล้านบาทเช่นเดิม ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงยกระดับหุ้น PSG เข้าสู่มาตรการที่เข้มข้นขึ้นอีกระดับ คือ ระดับ 2 โดยให้ลูกค้าซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชี Cash Balance และห้ามสมาชิกใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันในการคำนวณเป็นวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ในทุกประเภทบัญชี มีผลระหว่างวันที่ 10-28 มกราคม 2565 เป็นการขยายระยะเวลาจับขังให้ยาวนานออกไป

 

แต่หุ้น PSG ก็ยังดื้อยา เพราะเพียงระยะเวลาอันสั้น หุ้นตัวนี้วิ่งทะยานขึ้นไปทะลุ 1 บาท โดยทำจุดสูงสุดระหว่างวันที่ 1.20 บาท ก่อนจะย่อตัวลงเล็กน้อยมายืนปิดที่ 1.18 บาท เพิ่มขึ้น 18% มีมูลค่าซื้อขายล้นทะลักกว่า 909 ล้านบาท เมื่อวันที่ 10 มกราคม ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องใช้ยาแรง นำมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับเข้มข้นมากที่สุดมาใช้ โดยห้ามสมาชิกหักกลบราคาค่าซื้อกับราคาค่าขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน ห้ามใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันในการคำนวณเป็นวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ในทุกประเภทบัญชี และลูกค้าต้องซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชี Cash Balance เท่านั้น มีผลตั้งแต่ 11-31 มกราคม 2565

 

ล่าสุด หุ้น PSG ยังคงมีแรงซื้อเก็งกำไรเข้ามาต่อเนื่อง โดยราคาปิดตลาดในวันนี้ (12 มกราคม) ที่ระดับ 1.35 บาท เพิ่มขึ้น 0.20 บาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 17.39% มูลค่าการซื้อขายรวมกว่า 981 ล้านบาท 

 

หากย้อนกลับไปในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นตัวนี้เคยยืนอยู่เหนือ 2 บาทกว่าๆ ได้ สมัยที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2549 จากนั้นราคาค่อยๆ ปรับตัวลดลงจนกลายสภาพเป็นหุ้นต่ำบาทในช่วงปี 2557 จนถึงราวเดือนกันยายน 2564 เนื่องจากปัญหาหนี้สินและการขาดทุนต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน จนทำให้บริษัทต้องแบกรับภาระการชำระหนี้มาโดยตลอด

 

ผลกระทบของภาระหนี้ทำให้ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงสิ้นไตรมาส 3/64 หุ้นตัวนี้ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย ‘C’ (Caution) เพื่อเตือนให้นักลงทุนระมัดระวังความเสี่ยงด้านฐานะการเงินหรืองบการเงิน เพราะมีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50% ของทุนชำระแล้วหลังหักส่วนต่างมูลค่าหุ้น ซึ่งผู้บริหารบริษัทต้องเร่งดำเนินการแก้ไขก่อนจะถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิกถอนออกจากสถานะการเป็นบริษัทจดทะเบียน

 

โดยเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 PSG ได้รายงานแนวทางและความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีนี้ว่า ภายหลังบริษัทได้รับเงินเพิ่มทุนจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อบุคคลในวงจำกัด คือกลุ่ม ปณิชา ดาว และพันธมิตร จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,080.88 ล้านบาท ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

ทั้งนี้ ส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นไตรมาส 3/64 คิดเป็นร้อยละ 7.85 และตัวเลขประมาณการภายหลังจากการเพิ่มทุนจดทะเบียนส่วนของผู้ถือหุ้นจะปรับเปลี่ยนเป็นร้อยละ 44.47

 

การเพิ่มทุนจดทะเบียนดังกล่าวเป็นการเพิ่มสภาพคล่อง ส่งผลให้บริษัทสามารถนำเงินมาใช้ในการประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง รวมถึงเป็นเงินทุนหมุนเวียนภายใน เป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทางการเงิน

 

นอกจากนี้กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของบริษัทได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อให้บริษัทมีผลประกอบการที่เติบโต

 

รวมทั้งยังยกระดับให้บริษัททำงานรับเหมาก่อสร้างและวิศวกรรมทั้งในประเทศไทยและในกลุ่มประเทศ CLMV ตลอดจนเตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับให้บริษัทพร้อมที่จะเข้าแข่งขันในโครงการระดับภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย

 

ศราวุธ เตโชชวลิต ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวกับทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่าบริษัทจะกลับมามีผลการดำเนินงานที่ดีภายหลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ จึงเข้ามาเก็งกำไร และไล่ราคาหุ้นจาก 0.58 บาท ขึ้นไปยืนที่ 1.15 บาทได้

 

อย่างไรก็ตามยังไม่มีความชัดเจนว่าทิศทางของบริษัทจะเป็นไปอย่างไร จะมีการปรับเปลี่ยนธุรกิจหรือไม่ นอกจากนี้บริษัทยังมีภาระหนี้สินและมีผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่อง 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2561-2563 โดยขาดทุน 186.72 ล้านบาท, 91.01 ล้านบาท และ 22.67 ล้านบาทตามลำดับ ส่วน ณ สิ้นไตรมาส 3/64 มีผลขาดทุน 52.50 ล้านบาท

 

รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังออกมาเตือนให้นักลงทุนระมัดระวังก่อนเข้าซื้อขายหุ้นตัวนี้ เนื่องจากสภาพการซื้อขายเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในระยะเวลาอันสั้น โดยผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากราคาหุ้นผันผวน จึงขอให้พิจารณาปัจจัยพื้นฐานและสารสนเทศที่แจ้งผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้รอบคอบ

 

ทั้งนี้ PSG ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โดยครอบคลุมโครงการก่อสร้าง ทั้งที่เป็นอาคารโรงงาน คลังสินค้า อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล ศูนย์การค้า อาคารที่พักอาศัย คอนโดมิเนียม รวมถึงงานระบบประกอบอาคาร งานสาธารณูปโภค งานติดตั้งเครื่องจักรต่างๆ และกลุ่มปิโตรเคมี

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X