ปีที่ผ่านมานับเป็นปีที่โครงสร้างระดับบริหารของพฤกษามีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดปีหนึ่ง นับตั้งแต่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2548
เพราะสำหรับ ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ วิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 ที่ทำเอาโครงการของบริษัททั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด และคอนโดมิเนียม รวมเกินครึ่งพอร์ต หรือกว่า 70 โครงการ จาก 140 โครงการทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งต่างจังหวัด ถูกน้ำท่วมตั้งแต่ระดับเอาอยู่ไปจนถึงเอาไม่อยู่ ยังนับว่าไม่รุนแรงเท่าวิกฤตรอบนี้จากโควิด-19
ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง
วิกฤตโควิด-19 ไม่ง่ายสำหรับ ‘พฤกษา’
ทองมา ผู้ก่อตั้ง ผู้ถือหุ้นใหญ่ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง มองวิกฤตครั้งนี้แตกต่างจากคราวน้ำท่วม เพราะผลกระทบจากน้ำท่วมกินเวลาเพียงไม่กี่เดือน อาจจะหนักในช่วงน้ำท่วม 1 เดือนกว่า และเมื่อน้ำลด เหตุการณ์ก็คลี่คลายใน 2-3 เดือนถัดมา
ที่สำคัญ ไม่ใช่ทุกโครงการของบริษัทที่โดนน้ำท่วม พฤกษายังมีอีกหลายโครงการที่ไม่โดนน้ำท่วมและยังสามารถสร้างยอดขายได้
ขณะที่วิกฤตไวรัสกระทบเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจประเทศ และทุกภาคส่วนทุกประเภทธุรกิจกันถ้วนหน้า ผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเภทธุรกิจ
โดยภาคอสังหาริมทรัพย์ โควิด-19 กระทบกำลังซื้อของผู้ซื้อบ้านที่มีหน้าที่การงาน หรือมีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัส ทำให้ปีที่ผ่านมาตลาดโดยรวมหดตัวลงถึง 30%
แม้ทองมาจะผ่านประสบการณ์อันหนักหน่วงอย่างวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 มาแล้วก็ตาม แต่วิกฤตรอบปี 2563 ไม่ง่ายสำหรับพฤกษา ในวันที่บริษัทมีสเกลใหญ่ขึ้น จากรายได้เพียงปีละ 200 ล้านบาทในช่วงปี 2540 สู่ระดับ 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปีในปัจจุบัน
ขยับแม่ทัพจากกูรูการตลาดระดับตัวท็อป มาสู่มือปั้นนักปั๊มทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยว
การผ่าตัดใหญ่เพื่อรีเชปและรีดไขมันส่วนเกินจึงเป็นสิ่งที่พฤกษาเร่งดำเนินการในช่วงจังหวะนี้ โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทมีจำนวนพนักงานลดลงเหลือ 2,000 คน จาก 3,000 คน ซึ่งบริษัทยังได้ตัดขายที่ดินออกบางส่วนที่พิจารณาแล้วว่ายังไม่เหมาะจะนำมาพัฒนาโครงการศักยภาพได้ในช่วง 1-2 ปีนี้ ที่เศรษฐกิจและภาวะตลาดยังคงชะลอตัวอยู่
ที่สำคัญคือ การขยับจัดทัพขุนพลที่เป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนพฤกษา เป็นสิ่งสะท้อนถึงทิศทางต่อไปในอนาคตของบริษัท
โดยทองมาเลือก ปิยะ ประยงค์ ลูกหม้อเก่าแก่ที่ร่วมก่อร่างสร้างบริษัทตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2536 ที่ปิยะเข้ามาร่วมงานในฐานะวิศวกรโครงการ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ พฤกษา เรียลเอสเตท เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 จากเดิมตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท-แวลู ที่ดูแลเฉพาะสินค้าเซกเมนต์ระดับกลางถึงล่าง
ตำแหน่งนี้ไม่ถือเป็นตำแหน่งใหม่ เพราะงานที่ปิยะต้องเข้ามารับผิดชอบคือ ดูแลธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งหมดของบริษัท งานเดียวกับ สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ เจ้าแม่มือการตลาด อดีตซีอีโอ ยูนิลีเวอร์กรุ๊ป ซึ่งควบเก้าอี้รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม และกรรมการบริษัท บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง และยังรั้งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท อีกตำแหน่ง
จนกระทั่งภาพถ่ายทองมามอบช่อดอกไม้อำลาและแสดงความขอบคุณสุพัตราปรากฏขึ้นในอีกไม่ถึง 2 เดือนถัดมา พร้อมข่าวแจ้งตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 เรื่องการขอลาออกของสุพัตรา หลังจากร่วมงานตั้งแต่ปี 2560 จึงเป็นที่ชัดเจนว่าพฤกษาได้ขยับแม่ทัพจากกูรูการตลาดระดับตัวท็อปของเอเชียมาสู่มือปั้นนักปั๊มทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยวให้พฤกษามากกว่า 100 โครงการ และสร้างยอดขายให้บริษัท จนทองมาได้รับฉายา ‘เจ้าพ่อทาวน์เฮาส์’
ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ มอบดอกไม้ให้แก่ สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์
ขณะที่ตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มพฤกษา ตำแหน่งเดิมของสุพัตรา บริษัทยังไม่มีการแต่งตั้งใครเข้ามาทดแทน และได้ปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริหารใหม่ โดยมีปิยะ และ นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง จำกัด ธุรกิจใหม่ที่พฤกษาแตกไลน์ เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร พฤกษา โฮลดิ้ง อีกตำแหน่ง
ทิศทางการดำเนินธุรกิจที่ปิยะประกาศ โดยเน้นการเติบโตด้านกำไรผ่านการสร้าง Value ด้วยการนำธุรกิจดูแลสุขภาพที่พฤกษาจะเริ่มเปิดให้บริการโรงพยาบาลวิมุตในเดือนพฤษภาคมนี้ มาต่อยอดธุรกิจหลัก มากกว่าการขยายโครงการจำนวนมากๆ และเกิดการแข่งขันแย่งตลาดกันเอง เป็นการสะท้อนภารกิจหลักของพฤกษาที่ต้องการกลับมาให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยมากขึ้น
ปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พฤกษา เรียลเอสเตท
8 ปี 3 ขุนพล
หากย้อนไปตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทในปี 2536 ที่มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 50 ล้านบาท จนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในปี 2548 ด้วยทุนจดทะเบียน 2.2 พันล้านบาท ผู้ก่อตั้งพฤกษาที่กำลังย่างเข้าสู่วัย 64 ปีในกลางปีนี้ รั้งตำแหน่งบอสใหญ่ขับเคลื่อนพฤกษามาโดยตลอด
จนกระทั่งปี 2556 ทองมาได้ทาบทาม เลอศักดิ์ จุลเทศ อดีตผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เข้ามาร่วมงานในตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการ เพราะถือเป็นนายแบงก์ที่มีประสบการณ์ทั้งในด้านการคุมองค์กรใหญ่ๆ ที่มีพนักงานหลายพันคน และลูกค้าหลายล้านราย
เลอศักดิ์ยังเป็นผู้บริหารมืออาชีพที่มีความชำนาญเรื่องการบริหารความเสี่ยง โดยโจทย์สำคัญคือ การพาพฤกษาขึ้นสู่แบรนด์อันดับหนึ่งในไทย และติดอันดับ Top 10 แบรนด์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเอเชีย เพราะขณะนั้น ทองมาซึ่งมีเพียงบุตรสาวคนเดียวและยังอยู่ในวัยเรียน ต้องการมืออาชีพเข้ามาบริหารบริษัทให้เติบโตอย่างยั่งยืน จากรายได้เพียง 4.8 พันล้านบาทในปี 2547 ก่อนเข้าตลาดสู่ระดับ 2.7 หมื่นล้านบาทในปี 2555
(ซ้ายมือ) เลอศักดิ์ จุลเทศ
อย่างไรก็ตาม เลอศักดิ์ไม่ได้รับการต่อสัญญา โดยในกลางปี 2560 ทองมาได้ดึงสุพัตราเข้ามาร่วมงานอย่างเต็มตัว หลังจากอยู่เบื้องหลังเป็นที่ปรึกษาให้ทองมา ซึ่งฝ่ายหลังก็ใจเย็นรอเกือบ 5 ปี โดยสุพัตรามีภารกิจสำคัญในการสร้างแบรนด์พฤกษาให้เป็น Top of Mind ของผู้บริโภค และนำประสบการณ์การทำงานระดับอินเตอร์ที่ยูนิลีเวอร์มาช่วยสร้างระบบ สร้างแบรนด์ไทย และรีแบรนด์พฤกษา
ก่อนหน้าที่จะมีการเปลี่ยนผู้นำทัพจากนายแบงก์สู่มือการตลาด ทองมาได้เริ่มศึกษาธุรกิจโรงพยาบาล หลังจากได้พบเพื่อนเก่าในงานเลี้ยงรุ่นที่เป็นหมอที่โรงพยาบาลรามาธิบดี มีการพูดคุยและเห็นโอกาสของธุรกิจดูแลสุขภาพ
โดยในต้นปี 2560 พฤกษาได้ซื้อที่ดินประมาณ 4 ไร่ริมถนนพหลโยธิน ย่านสะพานควาย ในราคาทุนจากทองมา มาสร้างโรงพยาบาลวิมุต ขนาด 250 เตียง ด้วยงบลงทุนเกือบ 5 พันล้านบาท ซึ่งจะตัดริบบิ้นเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคมนี้
โรงพยาบาลวิมุต ซึ่งจะตัดริบบิ้นเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคมนี้
ด้วยสไตล์การบริหารที่คิดเร็ว ทำไว และใจร้อน ซึ่งบ่อยครั้งทำให้ผู้บริหารระดับสูงหลายคนถูกเชิญออกจากบริษัทมาแล้วระหว่างการประชุมหลังจากมีความเห็นไม่ตรงกับทองมา ซีอีโอที่มีบุคลิกนิ่งขรึม พูดน้อย แต่ตัดสินใจเร็ว พร้อมยอมพับแผนเลิกล้มโครงการทันทีหากไปต่อไม่ได้ เหมือนธุรกิจต่างประเทศที่เคยลงทุนในเวียดนามและถอยออกมาในที่สุดเมื่อไปต่อไม่ได้
วันนี้ทองมาซึ่งได้วางมืองานด้านบริหารบริษัทเกือบเต็มตัวมาเกือบ 3 ปีแล้ว โดยแวะเข้าไปที่ตึก Pearl ที่ตั้งของบริษัทตามตารางนัดประชุมที่มีเพียง 1-2 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น ยอมรับว่าการไปสู่ยอดขายแสนล้าน ใน 5 ปี ที่เคยประกาศเมื่อปี 2559 ไม่ใช่เรื่องง่าย และนับจากนี้คงใช้เวลาอีกหลายปี โดยขอโฟกัสที่การทำกำไรเป็นอันดับแรก และการสร้างธุรกิจดูแลสุขภาพที่เขาต้องการคืนกำไรให้สังคม
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล