วันนี้ (5 เมษายน) ที่ บริเวณด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมา กลุ่มสหภาพคนทำงาน, กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ, กลุ่มไฟลามทุ่ง และกลุ่มแอกยังคลับ ร่วมอ่านแถลงการณ์กรณีประเทศไทยเชิญ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลเมียนมา เข้าร่วมประชุม BIMSTEC
แถลงการณ์ ระบุว่า “จากกรณีที่รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร เป็นเจ้าภาพจัดประชุม BIMSTEC และเชิญนายพลมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐประหารเมียนมาและเป็นบุคคลที่ถูกหมายจับระหว่างประเทศ ข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว นับเป็นการกระทำที่ละเมิดหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และเป็นการสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารที่ปราบปรามประชาชนเมียนมาอย่างรุนแรงตั้งแต่การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา
“ภาคประชาชนทั้งในและต่างประเทศ อาทิ สมาคมสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) ต่างประณามรัฐบาลทหารเมียนมาในเวที BIMSTEC ที่กรุงเทพฯ โดยระบุว่า การให้ผู้นำรัฐประหารมีที่นั่งในเวทีนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการรับรองระบอบที่โหดร้ายของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของ BIMSTEC ในฐานะองค์กรระดับภูมิภาคที่มุ่งมั่นต่อสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาอีกด้วย
“การที่ประเทศไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพอนุญาตให้หัวหน้ารัฐบาลทหารเข้าร่วมประชุม ไม่เพียงแต่เป็นการมอบพื้นที่ทางการทูตให้แก่ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรระหว่างประเทศ แต่ยังเป็นการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับรัฐบาลทหารเมียนมาและระบอบเผด็จการ
“การเดินทางมายังกรุงเทพฯ ของมิน อ่อง หล่าย เกิดขึ้น ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นเป็น 3,085 ราย และยังคงเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยยังมีผู้สูญหายอีก 341 คน และบาดเจ็บ 4,715 คน
“นอกจากนี้ยังขัดขวางไม่ให้ความช่วยเหลือในพื้นที่บางแห่ง มีการจำกัดสิ่งของ เครื่องมือ หรือหน่วยกู้ภัย ส่งความช่วยเหลือไปเฉพาะพื้นที่ที่ตนเองควบคุม พร้อมทั้งใช้ความทุกข์ยากของประชาชนไปใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ ในเมืองหลวงอย่างเนปิดอว์ พวกเขาโชว์ภาพการช่วยเหลือ ขณะที่ในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายหนักอย่างเขตสกายหรือมัณฑะเลย์ ความช่วยเหลือกลับไปไม่ถึง ประชาชนต้องช่วยเหลือกันเองเท่าที่ทำได้ ท่ามกลางซากปรักหักพัง
“แม้จะประกาศหยุดยิงชั่วคราวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา แต่กองทัพเมียนมาได้จงใจทิ้งระเบิดใส่พื้นที่ประสบภัยและหมู่บ้านต่างๆ รวมถึงเขตสะกาย เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังแผ่นดินไหวครั้งรุนแรง ซึ่งยิ่งซ้ำเติมวิกฤตมนุษยธรรมที่กำลังดำเนินอยู่ และใช้โอกาสจากภัยพิบัติธรรมชาติแทนอาวุธ เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม มิน อ่อง หล่ายยังกล่าวหาอย่างเปิดเผยว่า กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธบางกลุ่มกำลังจัดตั้งและฝึกกำลังเพื่อเตรียมเปิดฉากโจมตี แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ไม่จริงใจและขัดกับหลักการพื้นฐานของการเจรจาสันติภาพ
“รัฐบาลแพทองธารอ้างเหตุผลการเจรจาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ผู้นำเผด็จการอย่างมิน อ่อง หล่าย ขณะที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ออกหมายจับนายพลมิน อ่อง หล่าย ในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ รัฐบาลไทยควรตระหนักถึงความร้ายแรงของการให้พื้นที่แก่บุคคลที่ถูกหมายจับระหว่างประเทศ ประชาชนเมียนมายังคงถูกเข่นฆ่า ถูกจับกุมคุมขัง ถูกทรมาน และถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง นี่คือการกระทำที่น่าละอายและสวนทางกับเสียงของประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทั่วภูมิภาค
“พวกเราขอประณามอย่างรุนแรงต่อรัฐบาลไทย นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร และนายพลมิน อ่อง หล่าย ในการสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบเผด็จการทหาร เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดสนับสนุนและให้พื้นที่แก่ผู้นำเผด็จการโดยทันที และให้ยืนหยัดเคียงข้างประชาชนเมียนมาในการเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง โดยมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
“1. เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตระหนักถึงความรับผิดชอบในฐานะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ควรให้เกียรติหรือให้การยอมรับแก่ผู้นำเผด็จการที่ก่ออาชญากรรมต่อประชาชน การเชิญมิน อ่อง หล่ายเข้าร่วมการประชุม BIMSTEC ถือเป็นการทำลายหลักการด้านสิทธิมนุษยชน และคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลไทยควรยึดมั่น
“2. รัฐบาลไทยต้องยุติความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเมียนมาในทุกรูปแบบ และไม่ควรให้การยอมรับหรือเชิญนายพลมิน อ่อง หล่ายเข้าร่วมเวทีระหว่างประเทศใด ๆ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ การกระทำเช่นนี้คือการสนับสนุนเผด็จการที่ฆ่าประชาชน และบ่อนทำลายหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในภูมิภาค
“3. มิน อ่อง หล่าย และสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ต้องถูกถอดถอน ไม่ใช่ได้รับการยอมรับหรือรับรองในฐานะรัฐบาลโดยพฤตินัยอีกต่อไป ผู้นำเผด็จการที่ใช้ภัยพิบัติเป็นเวทีสร้างภาพ ใช้ความช่วยเหลือเพื่อประโยชน์ฝ่ายตน และเดินหน้าสงครามกับประชาชน ไม่ควรได้รับพื้นที่ในเวทีระหว่างประเทศใด ๆ ไม่ว่าจะเป็น BIMSTEC หรืออาเซียน
“4. หยุดการปราบปรามโดยกองทัพเมียนมาโดยทันทีและโดยไม่มีเงื่อนไข รวมถึงการเกณฑ์ทหารโดยบังคับ การจับกุมตามอำเภอใจ การประหารชีวิต การข่มขู่ และการโจมตีทางอากาศ การกระทำเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อความช่วยเหลือฉุกเฉิน และทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างไม่จำเป็น
“ด้วยความสมานฉันท์ต่อประชาชนเมียนมา”