×

เราจะสามารถป้องกันสมาชิกในบ้านจากการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างไร?

24.04.2021
  • LOADING...
เราจะสามารถป้องกันสมาชิกในบ้านจากการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างไร?

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • ข่าวผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียงเสียชีวิตแสดงให้เห็นว่าการระบาดเริ่มเข้าไปในหลายบ้านแล้ว เราจะสามารถป้องกันบ้านหรือที่พักอาศัยไม่ให้ติดเชื้อได้อย่างไรบ้าง?
  • การเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร (ประมาณ 1-2 ช่วงแขน) จะลดความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อจากผู้อื่น เช่น ยืนคุยห่างกัน ยืนต่อคิวห่างกัน นั่งเว้นที่นั่ง แต่ถ้าเว้นไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เช่น บนรถเมล์ รถไฟฟ้า เพราะยังสวมหน้ากากป้องกันอยู่ การสวมหน้ากากจะลดความเสี่ยงลงมากกว่า 70%
  • ระหว่างที่ผู้ป่วยรอเตียงหรือแยกตัวอยู่ที่บ้าน ในบ้านจะมีสมาชิก 3 กลุ่มคือ ผู้ป่วย ผู้ดูแลผู้ป่วย และคนอื่นๆ โดยผู้ป่วยจะต้องแยกตัวจากสมาชิกคนอื่น แยกรับประทานอาหาร แยกห้องนอน แยกห้องน้ำ และแยกขยะติดเชื้อ (4 แยกพอดี) เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อต่อให้กับคนอื่น

ถึงแม้ว่าการระบาดระลอกใหม่ในเดือนเมษายน 2564 จะเริ่มต้นจากสถานบันเทิง กลุ่มเสี่ยงในช่วงแรกจึงเป็นผู้ที่ไปเที่ยวหรือพนักงานที่ทำงานในผับ บาร์ คาราโอเกะ แต่เมื่อเวลาผ่านไป การระบาดได้กระจายเข้าไปในมหาวิทยาลัย ที่ทำงาน งานสัมมนา งานเลี้ยงสังสรรค์ จนกระทั่งลุกลามไปถึงสมาชิกในบ้าน

 

เมื่อวานนี้ (23 เมษายน) จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ของประเทศไทยสร้างสถิติใหม่ +2,070 ราย รวมเป็น 21,320 ราย เสียชีวิต +4 ราย สะสม 27 ราย คิดเป็น 0.13% ยังน้อยกว่าระลอกแรก แต่เนื่องจากผู้ป่วยที่มีอาการหนักจะนอนโรงพยาบาลนาน ยอดผู้เสียชีวิตจึงอาจเพิ่มขึ้นอีกใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า

 

ทว่าในขณะนี้ที่กรุงเทพฯ ห้อง ICU เริ่มไม่เพียงพอ โรงพยาบาลเตียงเต็มจนต้องงดรับผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินเพื่อสำรองเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ ยาต้านไวรัสมีจำนวนจำกัด การตรวจเชิงรุกก็ยังจำกัดจำนวน ดังนั้นนอกจาก ‘วัคซีน’ แล้ว การป้องกันการเสียชีวิตที่ดีที่สุดคือการป้องกัน ‘ไม่ให้ติดเชื้อ’

 

ข่าวผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียงเสียชีวิตแสดงให้เห็นว่าการระบาดเริ่มเข้าไปในหลายบ้านแล้ว เราจะสามารถป้องกันบ้านหรือที่พักอาศัยไม่ให้ติดเชื้อได้อย่างไรบ้าง?

 

1. ป้องกันเชื้อเข้ามาที่บ้าน

ในบ้านจะมีสมาชิก 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่อยู่ในบ้านตลอดทั้งวัน เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ แต่ตอนนี้โรงเรียน มหาวิทยาลัยปิด ก็จะมีเด็กโตและวัยรุ่นด้วย กับอีกกลุ่มต้องออกไปทำงานนอกบ้านตอนเช้า กลับมาตอนเย็น เด็กโตหรือวัยรุ่นที่ออกไปเที่ยว กลุ่มหลังจึงมีโอกาสนำเชื้อกลับมาติดกลุ่มแรกได้

 

ความเสี่ยงในการได้รับเชื้อจะเพิ่มขึ้น ถ้า… 

 

  • สัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่นในระยะ 1-2 เมตร 
  • อยู่ร่วมกับผู้อื่นเป็นเวลานานเกิน 5-15 นาที
  • อยู่ในสถานที่แออัด (คนจำนวนมากกว่า 10 คน) 
  • อยู่ในภายในอาคาร โดยเฉพาะสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก

 

ก่อนออกจากบ้าน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ หน้ากากผ้า หรือ หน้ากากอนามัย โดยจะต้องล้างมือก่อนสวม สวมให้คลุมจมูกและปากเพื่อป้องกันทางเดินหายใจ และสวมตลอดเวลาที่พูดคุยใกล้ชิดกับผู้อื่นหรือเข้าไปในสถานที่แออัด รวมถึงรถโดยสารสาธารณะ ถ้าเป็นไปได้ควรเลี่ยงช่วงคนพลุกพล่าน

 

การเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร (ประมาณ 1-2 ช่วงแขน) จะลดความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อจากผู้อื่น เช่น ยืนคุยห่างกัน ยืนต่อคิวห่างกัน นั่งเว้นที่นั่ง แต่ถ้าเว้นไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เช่น บนรถเมล์ รถไฟฟ้า เพราะยังสวมหน้ากากป้องกันอยู่ การสวมหน้ากากจะลดความเสี่ยงลงมากกว่า 70%

 

สำหรับ แอลกอฮอล์เจล ถ้าไม่มีหรือหาซื้อลำบากไม่เป็นไร แค่ไม่หยิบจับสิ่งของแล้วยกมือขึ้นมาขยี้ตา แคะจมูก หรือจับหน้ากากก็พอ หรือล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่แทน ล่าสุดศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า การหยิบจับสัมผัสไม่ใช่ช่องทางหลักในการแพร่เชื้อโควิด-19

 

2. ลดการแพร่เชื้อภายในบ้าน

ในบ้านจะมีสมาชิก 2 กลุ่มเหมือนเดิมคือ กลุ่มที่อยู่ในบ้านตลอดทั้งวันก็มักจะเป็น ‘กลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง’ เช่น ผู้สูงอายุ โรคประจำตัว ผู้ป่วยติดเตียง กับอีกกลุ่มคือกลุ่มเสี่ยงต่ำ อายุน้อย ไม่มีโรคประจำตัว โดยกลุ่มหลังจะต้องป้องกันกลุ่มแรกไม่ให้ได้รับเชื้อจากตัวเอง 

 

  • อาบน้ำสระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีเมื่อถึงบ้าน
  • ไม่เข้าไปคลุกคลีใกล้ชิด ถ้าจะเข้าใกล้ควรสวมหน้ากากผ้า หรือ หน้ากากอนามัย ยิ่งผู้สูงอายุหูไม่ค่อยได้ยิน ต้องตะโกนคุยกันก็ยิ่งต้องสวมหน้ากาก (แต่จะลำบากตรงที่อ่านปากไม่ได้) ถ้าเป็นไปได้ควรจัดห้องนอนใหม่แยกกัน
  • แยกรับประทานอาหาร 
  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ 
  • ล้างมือบ่อยๆ 
  • ทำความสะอาดสิ่งของที่หยิบจับด้วยกันหลายคน เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได สวิตช์ไฟ รีโมตโทรทัศน์ 

 

เพราะต้องระลึกไว้เสมอว่าผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการสามารถแพร่เชื้อได้ 

 

หากมีความเสี่ยงจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยนอกบ้านจะต้องกักตัวจนครบ 14 วันและตรวจหาเชื้อ ทุกคนหมั่นสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก ต้องแยกตัวออกจากสมาชิกคนอื่นจนกว่าจะดีขึ้น สวมหน้ากาก และไอจามปิดปาก (อย่าลืมทิ้งทิชชูลงถังขยะที่มีฝาปิดและล้างมือทุกครั้ง)

 

3. หากมีผู้ป่วยเป็นโควิด-19 ในบ้าน

ระหว่างที่ผู้ป่วยรอเตียงหรือแยกตัวอยู่ที่บ้าน ในบ้านจะมีสมาชิก 3 กลุ่มคือ ผู้ป่วย ผู้ดูแลผู้ป่วย และคนอื่นๆ โดย ผู้ป่วย จะต้องแยกตัวจากสมาชิกคนอื่น แยกรับประทานอาหาร แยกห้องนอน แยกห้องน้ำ และแยกขยะติดเชื้อ (4 แยกพอดี) เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อต่อให้กับคนอื่น

 

แต่ถ้าแยกไม่ได้ ผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย และพยายามเว้นระยะห่างจากคนอื่น 1-2 เมตร ร่วมกับการเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท หากมีเครื่องฟอกอากาศก็เปิดใช้ได้ ส่วนห้องน้ำให้ใช้คนหลังสุด เมื่อใช้เสร็จแล้วให้ทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำ เน้นตรงบริเวณอ่างล้างหน้า

 

ผู้ดูแลผู้ป่วย ควรมีเพียงคนเดียว เพราะจะได้ลดคนที่มีโอกาสได้รับเชื้อ จัดอาหารและน้ำดื่มให้ เมื่อเข้าใกล้ผู้ป่วยต้องสวมหน้ากากอนามัย ไม่จำเป็นต้องสวมถุงมือ แต่ให้ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสผู้ป่วย ส่วนเสื้อผ้าของผู้ป่วยควรแยกซัก หากผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อยต้องรีบแจ้งโรงพยาบาล

 

คนอื่นๆ ต้องกักตัวเพื่อสังเกตอาการจนครบ 14 วัน นับจากวันแยกจากผู้ป่วย และตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อทราบผล และอีกครั้งนับไปอีก 7 วัน หรือวันที่ 13 ของการกักตัว เพราะอาจได้รับเชื้อตั้งแต่ก่อนจะแยกจากผู้ป่วย ควรสั่งของมาส่งที่บ้าน หรือฝากเพื่อนบ้านช่วยซื้อของมาให้

 

เพราะฉะนั้นเราสามารถป้องกันบ้านหรือที่พักอาศัยไม่ให้มีการระบาดของโควิด-19 โดยกลุ่มที่ออกไปเรียนหรือทำงานข้างนอกต้องสวมหน้ากาก และเว้นระยะห่างจากผู้อื่น เพื่อไม่ให้นำเชื้อเข้ามาที่บ้าน เมื่อกลับมาต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ

 

‘บ้าน’ ของแต่ละครอบครัวมีความแตกต่างกัน บางครอบครัวอาศัยอยู่ภายในห้องเช่าห้องเดียว พยายามเว้นระยะห่างจากกลุ่มเสี่ยงให้มากที่สุด เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท แต่บางบ้านที่มีห้องแยกเป็นสัดส่วน ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมรวมตัวกัน โดยเฉพาะในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X