×

ข้อดี-ข้อเสียของการยกเลิกสิทธิฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยโควิด (UCEP COVID)

28.02.2022
  • LOADING...
ข้อดี-ข้อเสียของการยกเลิกสิทธิฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยโควิด (UCEP COVID)

ถ้าป่วยเป็นโควิดยังรักษาฟรีอยู่หรือไม่ ถ้ายกเลิกนโยบายผู้ป่วยโควิดเป็น ‘ผู้ป่วยฉุกเฉิน’ (UCEP COVID) จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยอย่างไร เรื่องนี้มีความกังวลมาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2565 ยิ่งในช่วงนี้มีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้น การยกเลิกนโยบายนี้อาจทำให้ผู้ติดเชื้อถูกปฏิเสธการรักษา แล้วจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลงไปอีกหรือไม่

 

เพราะตามแผนปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ของกระทรวงสาธารณสุข นโยบายนี้จะถูกยกเลิกในวันที่ 1 มีนาคม 2565 และ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้โรคโควิด-19 ‘รักษาตามสิทธิ’ ตามที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเสนอขึ้นมาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565

 

แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงสาธารณสุข ‘ทบทวน’ การยกเลิกนโยบายนี้ หลังจากนำเรื่องหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายเข้า ครม. ดังนั้นในขณะนี้ผู้ป่วยโควิดยังถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน จึงรักษาฟรีได้ทุกที่ทุกสิทธิ และโรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถปฏิเสธผู้ป่วยได้ หากโรงพยาบาลไม่มีศักยภาพหรือไม่มีเตียงต้องส่งต่อผู้ป่วย และไม่สามารถเรียกเก็บเงินมัดจำได้

 

ความกังวลต่อการยกเลิกนโยบายนี้มีหลายประเด็นที่จะต้องพิจารณาพร้อมกัน ทั้งทางการแพทย์ (โควิดจำเป็นต้องรักษาแบบฉุกเฉินหรือไม่) สาธารณสุข (ถ้าผู้ป่วยต้องไปรับการรักษาตามสิทธิมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร) เศรษฐศาสตร์ (UCEP COVID มีภาระด้านงบประมาณเท่าไร) และการเมือง (ทำไม ครม. ถึงให้ สธ. กลับไปทบทวน และหากยกเลิกจริง รัฐบาลควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยหรือไม่)

 

ระบบประกันสุขภาพของไทย

ก่อนจะพูดถึงสิทธิ UCEP ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประกันสุขภาพของไทยก่อน ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 3 ระบบหลัก ได้แก่ 

  1. ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ ‘บัตรทอง’ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 
  2. ระบบประกันสังคม ของสำนักงานประกันสังคม 
  3. ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง

 

ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา คนไทยทุกคนจะได้รับสิทธิบัตรทองเป็นพื้นฐานตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หรือนโยบาย ‘30 บาท รักษาทุกโรค’ ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยผู้ป่วยจะต้องร่วมจ่ายค่าบริการ 30 บาท ต่อมาปี 2549 รัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ยกเลิกการเก็บค่าบริการนี้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่ารักษาหรือ ‘รักษาฟรี’ มาตลอด

 

หากทำงานเป็นข้าราชการ สิทธิบัตรทองก็จะเปลี่ยนเป็นสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2521 แต่ถ้าทำงานภาคเอกชน หรือเป็นลูกจ้างในภาคราชการก็จะกลายเป็น ‘ผู้ประกันตน’ และได้รับสิทธิประกันสังคมแทน ซึ่งเริ่มในปี 2533 ผู้ป่วยทั้ง 2 สิทธิไม่ต้องเสียค่ารักษาเช่นกัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าในปัจจุบันคนไทยได้รับการรักษาฟรีตามสิทธิ ‘ทุกคน’

 

โดยระบบบัตรทองครอบคลุมประชาชนมากที่สุด 49 ล้านคน รองลงมาเป็นระบบประกันสังคม 12 ล้านคน และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ 5 ล้านคน ทั้งนี้สิทธิประโยชน์และงบประมาณของแต่ละระบบยังมีความเหลื่อมล้ำ (ไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้) แต่การรักษาโรคทั่วไป รวมถึงโรคติดต่อทางเดินหายใจ เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไม่ได้แตกต่างกันในประเด็นสำคัญ

 

สิทธิ UCEP คืออะไร

ในขณะที่ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) เป็นสิทธิการรักษาฟรีของผู้ป่วยฉุกเฉินตามนโยบาย ‘เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่’ เริ่มในปี 2560 เพื่อแก้ปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ‘นอกสิทธิ’ ซึ่งเดิมต้องสำรองค่ารักษาไปก่อนแล้วมาเบิกคืนตามอัตราที่กำหนด ทำให้ถูกเรียกเก็บค่ามัดจำก่อนให้บริการ หรือไม่ยอมให้คนไข้กลับหรือย้ายจนกว่าจะจ่ายค่ารักษา

 

ถึงแม้จะแก้ด้วยนโยบาย ‘เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน’ (EMCO) ในปี 2555 แล้ว แต่ยังขาดกฎหมายรองรับ และการจ่ายชดเชยมีอัตราต่ำ โรงพยาบาลยังเรียกเก็บค่ารักษาจากประชาชน จึงมีการแก้ พ.ร.บ.สถานพยาบาล และกำหนดหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายเสนอ ครม. เห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่จำกัดเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือ ‘สีแดง’ และสำหรับการรักษาภายใน 72 ชั่วโมงแรกเท่านั้น

 

โดยภาวะ ‘ฉุกเฉินวิกฤต’ ตามเกณฑ์ของ สปสช. มีทั้งหมด 6 อาการที่เข้าข่าย ได้แก่

  • หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
  • หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
  • ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น
  • เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
  • แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
  • อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการที่เข้าข่าย

 

ทำไมถึงเตรียมยกเลิก UCEP COVID  

สำหรับโควิด กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้ผู้ป่วยโรคโควิดเป็น ‘ผู้ป่วยฉุกเฉิน’ (UCEP COVID) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล และมติ ครม. ที่เห็นชอบหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 ผู้ป่วยโควิดจึงสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ ขณะเดียวกันโรงพยาบาลเอกชนก็ไม่สามารถปฏิเสธผู้ป่วยได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะเรียกเก็บจาก สปสช.

 

จนกระทั่งปี 2565 สธ. มีแผนปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น จึงเตรียมยกเลิกนโยบายนี้ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบายเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ว่าในช่วงแรกยังมีความรู้ความเข้าใจทั้งการรักษาและการควบคุมโรคน้อย ผู้ป่วยก็เพิ่มมากขึ้น จึงนำ UCEP เข้ามาใช้ควบคู่กับการควบคุมโรค คือทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าสู่โรงพยาบาลให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

 

แต่ขณะนี้มีความรู้เกี่ยวกับโควิดมากขึ้น และเป็นการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่รุนแรงน้อยกว่าเดลตา โดยผู้ติดเชื้อกว่า 90% ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก ไม่จำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล จึงเน้นให้รับการดูแลในระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) รวมถึงเตรียมปรับให้ผู้ติดเชื้อโควิดเข้าสู่ระบบการ ‘รักษาตามสิทธิ’ ซึ่งไม่เสียค่าใช้จ่าย 

 

ยกเว้นไปโรงพยาบาลเอกชนนอกระบบโดยไม่มีอาการจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง แต่หากผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤตยังใช้สิทธิ UCEP ได้ตามปกติเหมือนโรคอื่นๆ ซึ่งการเตรียมปรับโควิดมาสู่การรักษาตามสิทธิจะช่วยให้ระบบสาธารณสุขมีเตียงสำหรับดูแลผู้ป่วยโรคอื่นได้ ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งกำกับดูแลโรงพยาบาลเอกชนชี้แจงในวันเดียวกันว่า

 

ยืนยันว่าการปรับโควิดมาสู่การรักษาตามสิทธิ ไม่กระทบในช่วงนี้ที่มีการติดเชื้อสูงขึ้น เนื่องจากเป็นการกระจายผู้ป่วยไปตามจุดต่างๆ ที่ขึ้นทะเบียนตามสิทธิ และหากผู้ติดเชื้อโควิดมีอาการเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤต ยังเข้ารักษาทุกที่ได้ตามสิทธิ UCEP โดยจะมีการเพิ่มเติมรายการที่ยังไม่ครอบคลุม เช่น อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เครื่องช่วยหายใจ เพื่อให้โรงพยาบาลเบิกจ่ายได้ 

 

แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ครม. ได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง โดยจะเน้นทำความเข้าใจประชาชน ทั้งการเข้าสู่ระบบเมื่อติดเชื้อ ช่องทางติดต่อ การใช้สิทธิรักษาของแต่ละระบบประกันสุขภาพ ความเข้าใจเรื่องระดับอาการที่มีการดูแลแตกต่างกัน เช่น อาการสีเหลือง-แดงที่เข้ารักษาได้ทุกที่มีเกณฑ์อย่างไร เพื่อให้ประชาชนเข้ารับบริการได้ถูกช่องทาง 

 

ภาระด้านงบประมาณของ UCEP

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงข่าวถึงงบประมาณที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด ซึ่ง สปสช. ได้นำเสนอในที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ว่าทั้ง 3 ระบบประกันสุขภาพใช้งบประมาณรวมทั้งหมด 3,841.15 ล้านบาท และ 97,747.94 ล้านบาทในปี 2563 และปี 2564 ส่วนปีนี้ สปสช. ตั้งงบไว้ 32,4888 ล้านบาท และอยู่ระหว่างเสนอขอรับงบเพิ่ม 51,065.12 ล้านบาท

 

และเมื่อเฉลี่ยค่ารักษาต่อผู้ป่วย 1 ราย แบ่งตามระดับอาการและประเภทโรงพยาบาล เป็นดังนี้

  • สีเขียว โรงพยาบาลรัฐ 23,248 บาท โรงพยาบาลเอกชน 50,326 บาท (2.2 เท่าของโรงพยาบาลรัฐ)
  • สีเหลือง โรงพยาบาลรัฐ 81,844 บาท โรงพยาบาลเอกชน 92,752 บาท (1.1 เท่าของโรงพยาบาลรัฐ)
  • สีแดง โรงพยาบาลรัฐ 252,182 บาท โรงพยาบาลเอกชน 375,428 บาท (1.5 เท่าของโรงพยาบาลรัฐ)

 

การแถลงข่าวครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่พูดถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโควิด ซึ่งน่าจะเกี่ยวกับกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมยกเลิกนโยบาย UCEP COVID เพราะ นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวถึงสัดส่วนเงินที่ใช้สำหรับสิทธินี้ด้วยว่า ระหว่างปี 2563-2564 มีจำนวนบริการ 768,491 ครั้ง แบ่งเป็นผู้ป่วยสีเขียว 88% สีเหลือง 11% และสีแดง 1% สะท้อนถึงภาระด้านงบประมาณของนโยบายนี้ได้ชัดเจน

 

ทำไม ครม. ถึงให้ สธ. กลับไปทบทวน

ข้อดีของการยกเลิกนโยบาย UCEP COVID อย่างแรกคือการประหยัดงบประมาณ เพราะจากที่ นพ.ทวีศิลป์แถลง ผู้ใช้สิทธินี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสีเขียว และยอดการจ่ายค่าชดเชยกรณี UCEP COVID ให้โรงพยาบาลเอกชนสูงถึง 16,225 ล้านบาท ถึงแม้เมื่อผู้ป่วยกลับไปรักษาตามสิทธิ ทั้ง 3 ระบบก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อยู่ดี แต่น่าจะควบคุมการเบิกจ่ายได้ง่ายกว่า 

 

เพราะอัตราจ่ายกรณี UCEP เป็นการจ่ายตามรายการบริการ (Fee Schedule) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการไว้ ในขณะที่การรักษาตามสิทธิ สปสช. จะจ่ายตามรายป่วย (Per-Case Payment) โดยใช้กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis-Related Groups: DRGs) ว่าผู้ป่วยโควิดสีเขียว-เหลือง-แดงจะเหมาจ่ายเท่าใด

 

อย่างต่อมาคือความเท่าเทียมของการเข้าถึงบริการตามความจำเป็น (Equal access for equal need) โควิดจะกลายเป็น ‘โรคทั่วไป’ (สธ. มักใช้คำว่า ‘โรคประจำถิ่น’) ผู้ป่วยโควิดสีเขียวจะไม่เข้าเกณฑ์ผู้ป่วย ‘ฉุกเฉินวิกฤต’ จึงไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เหมือนกับผู้ป่วยโรคหวัดที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน ทำให้ระบบสาธารณสุขมีเตียงสำหรับดูแลผู้ป่วยโรคอื่นได้

 

ทว่าการยกเลิกนโยบายนี้จะมีข้อเสียในสถานการณ์ที่การระบาดรุนแรง เพราะเมื่อผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดภาวะคอขวดที่ระบบคัดกรองผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยสีเหลือง-แดงอาจได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีโรงพยาบาลรัฐไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่มีโรงพยาบาลเอกชนกระจายอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งสามารถช่วยดูแลผู้ป่วยสิทธิ UCEP COVID ได้

 

ที่สำคัญผู้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ยังมีปัญหาเรื่องสิทธิไม่ตรงกับที่อยู่จริง ซึ่งค้างคามานาน หลายคนย้ายเข้ามาทำงานจึงมีสิทธิการรักษาบัตรทองอยู่ต่างจังหวัด บางคนยังไม่ได้ติดต่อย้ายสิทธิประกันสังคม รวมถึงบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ หากยกเลิกสิทธิ UCEP COVID คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้ไม่ได้รับการดูแลรักษาตามมาตรฐาน

 

สำหรับเหตุผลที่ ครม.ให้ สธ. กลับไปทบทวนการยกเลิกนโยบายนี้ ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ว่า เพราะต้องมีการซักซ้อมทำความเข้าใจ ปรับการบริการ รองรับผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการหรือกลุ่มสีเขียวที่มีค่อนข้างมาก รวมถึงให้เพิ่มคู่สาย 1331 ให้การบริการครอบคลุม ก่อนที่จะเสนอเรื่องดังกล่าวกลับมาสู่ที่ประชุม ครม. อีกครั้ง

 

สิทธิสำหรับผู้ป่วยโควิดจะเป็นอย่างไร

เนื่องจาก ครม. มีมติให้ ‘ชะลอ’ ประกาศยกเลิกสิทธิ UCEP COVID ของกระทรวงสาธารณสุขที่จะเริ่มในวันที่ 1 มีนาคม 2565 ออกไปก่อน ดังนั้นในขณะนี้ผู้ป่วยโควิดจึงยังเป็น ‘ผู้ป่วยฉุกเฉิน’ สามารถสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในขณะที่ สธ. อาจเสนอเรื่องนี้เข้า ครม. ใหม่อีกครั้ง โดยน่าจะเป็นนโยบาย UCEP Plus แทน

 

ซึ่ง นพ.ธเรศ เคยกล่าวถึงเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ว่าผู้ป่วยสีเขียวจะได้รับการ ‘รักษาตามสิทธิ’ ที่บ้านหรือชุมชนเป็นหลัก (นโยบาย HI/CI First) ส่วนผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ส่วน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าจะมีการเพิ่มในส่วนผู้ป่วยสีเขียวที่มีโรคประจำตัวที่ควบคุมไม่ได้ให้สามารถใช้สิทธิ UCEP Plus ได้เช่นกัน

 

ทั้งนี้วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขยังคงเดินหน้าเตรียมแผนปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น กล่าวว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือนจากนี้ โดยจะจัดระบบบริการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เพิ่มการดูแลในระบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ‘เจอ แจก จบ’ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ แต่ยังไม่มีความชัดเจนถึงกรณีผู้ป่วยที่อาจมีปัญหาเรื่องสิทธิ

 

สุดท้ายการบริหารจัดการให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นคงไม่ใช่แค่การยกเลิก ‘สิทธิฉุกเฉิน’ สำหรับผู้ป่วยโควิด หรือ UCEP COVID เท่านั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องพิจารณาควบคู่กันคือความจำเป็นของ ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ ในการบริหารสถานการณ์โควิดหรือไม่ และควรเร่งพิจารณา พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่จะนำมาใช้แทนหลังจากนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนเตรียมตัว

 

ผู้เขียนขอขอบคุณ นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข ที่ให้ข้อเสนอแนะในการเขียนบทความ

 

อ้างอิง:

  • TDRI Factsheet 29: ความเหลื่อมล้ำ 3 ระบบประกันสุขภาพ https://tdri.or.th/2014/09/tdri-factsheet-29/ 
  • นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) https://www.nhso.go.th/page/coverage_rights_emergency_patients 
  • ประสบการณ์ของผู้ป่วยที่ใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนนอกเครือข่ายระบบประกันสุขภาพภาครัฐและขอใช้สิทธิ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP)” https://kb.hsri.or.th/dspace/bitstream/handle/11228/4934/hsri-journal-v12n3-p370-383.pdf 
  • ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฏหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื่อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/080/T_0047.PDF 
  • สธ.แจงเตรียมปรับ “โควิด” รักษา รพ.ตามสิทธิฟรี หากมีอาการวิกฤตยังรักษาทุกที่ตามสิทธิ UCEP ได้ https://pr.moph.go.th/index.php?url=pr/detail/2/04/170824/ 
  • เปิดเกณฑ์ “UCEP พลัส” ป่วยโควิด19 รักษาฟรีทุกที่ https://www.bangkokbiznews.com/social/989085 
  • สธ.ทบทวน “โควิด” รักษาฟรีตามสิทธิ ตามมติ ครม. ขณะนี้ยังใช้กลไก UCEP COVID ตามเดิม https://pr.moph.go.th/index.php?url=pr/detail/2/04/171136/ 
  • ครม. ให้ผู้ป่วยโควิดยึดหลักเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉินรักษาฟรีทุกที่ เบรกประกาศ ‘ยกเลิก UCEP หรือสิทธิฉุกเฉิน’ ออกไปก่อน https://thestandard.co/cabinet-let-coronavirus-patients-have-free-cure-and-dismiss-ucep/ 
  • ไทยจ่ายค่ารักษาโควิดแล้วกว่า 1 แสนล้าน พร้อมปรับอัตราใหม่ 1 มี.ค.65 https://www.hfocus.org/content/2022/02/24539
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising