ครม. เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ หั่นค่าโอน-จดจำนอง เหลือ 0.01% บ้าน-คอนโดไม่เกิน 7 ล้านบาท ควบคู่ LTV เร่งกระตุ้นอสังหา มีผลถึง 30 มิ.ย.69
เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อบรรเทาปัญหาอุปทานคงค้างสูง ดังนี้
- ลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ เหลือ 0.01% จากปกติ 2%
- ลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ อันเนื่องมาจากการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวในคราวเดียวกัน เหลือ 0.01% จากปกติ 1% สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้
– อาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือบ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว
– ห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด โดยมีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาท ต่อสัญญา โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน
เผ่าภูมิระบุว่า กระทรวงการคลังต้องการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์โดยบรรเทาปัญหาอุปทานคงค้างที่อยู่ในระดับสูง จึงกำหนดระยะเวลามาตรการนี้ ให้สอดคล้องกับมาตรการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV โดยให้มาตรการนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่กฎหมายได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2569
ด้าน คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สาระสำคัญของเรื่องมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย ที่กระทรวงการคลังเสนอ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์
โดยมีหลักการเช่นเดียวกับมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม สำหรับที่อยู่อาศัย ปี 2567 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (9 เมษายน 2567) ตามข้อ 2 ซึ่งสิ้นสุดแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ซึ่งได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยรวม 2 ฉบับ ดังนี้
1.1 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ ที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาท ต่อสัญญา (จากเดิม 2%) เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ อันเนื่องมาจากการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวในคราวเดียวกัน (จากเดิม 1%) เหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และบ้านแถวหรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน
1.2 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีห้องชุดตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยลดค่าจดค่าจดทะเบียนการโอนห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุดที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาทต่อสัญญา (จาก 2%) เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนจำนองห้องชุดอันเนื่องมาจากการจดทะเบียนการโอนในคราวเดียวกัน (จากเดิม 1%) เหลือ 0.01% โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน
ทั้งนี้ สำหรับผู้ซื้อซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทยที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองและผู้ขายที่ต้องการขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ และห้องชุดในราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาทและให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2569
2. กระทรวงการคลังได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าว จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสูญเสียรายได้จากค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จำนวนไม่เกิน 20,014.65 ล้านบาท (1,334.31 ล้านบาทต่อเดือน) แต่จะช่วยสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชน รักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม
คาดเพิ่ม GDP ไทย 1.06%
ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์มูลค่าประมาณ 537,303.88 ล้านบาทต่อปี (44,775.32 ล้านบาทต่อเดือน) ซึ่งจะช่วยเพิ่มการบริโภคภายในประเทศได้ประมาณ 88,690.22 ล้านบาทต่อปี (7,390.85 ล้านบาทต่อเดือน) และเพิ่มการลงทุนได้ประมาณ 303,434.15 ล้านบาทต่อปี (25,286.18 ล้านบาทต่อเดือน) และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มขึ้น 1.06% ต่อปี เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีมาตรการ
3. โดยที่เรื่องนี้เป็นการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้ซื้อซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทยที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และผู้ขายที่ต้องการขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัยอาคารพาณิชย์ และห้องชุด ซึ่งจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสูญเสียรายได้ จึงเห็นควรให้มีความเห็นกระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วย ประกอบกับเรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ข้อ 2 (7) (ฎ) ซึ่งกำหนดให้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมในอัตรา 0.01% ได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารชุด พ.ศ. 2553 ข้อ 1 (7) (ช) ซึ่งกำหนดให้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมในอัตรา 0.01% ได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด