×

ล็อกดาวน์ครั้งนี้ ‘เจ็บ’ แต่ ‘จบแบบยืดเยื้อ’ แต่ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน

10.07.2021
  • LOADING...
ล็อกดาวน์

ในที่สุดประเทศไทยก็เดินทางมาถึงวันที่ผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่รายวันเฉียด 1 หมื่นรายเป็นครั้งแรก +9,276 รายในวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ ศบค. ตัดสินใจประกาศ ‘ล็อกดาวน์’ กรุงเทพฯ และปริมณฑล (นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) รวม 6 จังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม แต่มาตรการทั้งหมดจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคมเป็นต้นไป

 

คำถามที่หลายคนคงต้องการคำตอบมากที่สุดในขณะนี้คือ ‘ล็อกดาวน์ครั้งนี้เจ็บแต่จบหรือไม่’ 

 

  • คำว่า ‘ล็อกดาวน์’ เป็นคำที่ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ใช้ในการแถลงข่าวเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยอธิบายว่า ศบค. มีหลักคิดในการกำหนดมาตรการครั้งนี้คือ ‘จำกัดการเคลื่อนย้ายและการรวมกลุ่มของบุคคลขั้นสูงสุด รวมถึงกำหนดเวลาการออกนอกเคหสถาน ควบคู่ไปกับการเร่งรัดมาตรการด้านการป้องกันโรค การฉีดวัคซีน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล รวมทั้งการเยียวยา’

 

  • สำหรับการเคลื่อนย้าย มีการประกาศจำกัดการเดินทาง-ห้ามออกนอกบ้านเวลา 21.00-04.00 น. โดยไม่จำเป็น (รวม 4 จังหวัดภาคใต้ คือ สงขลา, ยะลา, นราธิวาส และปัตตานี) ระบบขนส่งสาธารณะจึงงดให้บริการในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนการรวมตัวกันห้ามเกิน 5 คน ราชการและเอกชนทำงานที่บ้านให้มากที่สุด ปิดสถานที่เสี่ยง และเปิดให้บริการสถานที่ที่มีความจำเป็น รวมถึงสวนสาธารณะไม่เกิน 20.00 น.

 

  • ล็อกดาวน์เจ็บแน่นอน แต่คำว่า ‘จบ’ ประเทศไทยยังไม่เคยมีข้อสรุปร่วมกันว่าจะจบแบบไหน สมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจเป็นอย่างไร สำหรับฝั่งสาธารณสุขอาจชัดเจนกว่าตรงที่มีจำนวนติดเชื้อรายใหม่ จำนวนผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาล จำนวนผู้เสียชีวิต รายงานเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่เคยมีเกณฑ์ตัวเลขสำหรับตัดสินใจว่าเมื่อไรจะเพิ่มหรือลดมาตรการทั้งทางสาธารณสุขและสังคม

 

  • ก่อนหน้านั้น 1 วัน เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ผศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอข้อคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับการคาดการณ์สถานการณ์การระบาดของประเทศไทยในวันที่ 99 ของการระบาดระลอก 3 หาก ‘ไม่มี’ หรือ ‘มี’ การล็อกดาวน์ โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์

 

  • #หากไม่มีการล็อกดาวน์ แนวโน้มการระบาดในอนาคตระยะสั้นจะขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของมาตรการ ‘กึ่งล็อกดาวน์’ ตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 25 ซึ่งแนวโน้มผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในระยะ 10 วันที่ผ่านมาสอดคล้องกับการลดการแพร่เชื้อในชุมชนได้เพียง 10-15% เท่ากับว่าเรายังคงไม่สามารถเปลี่ยนแนวโน้มการระบาดให้ลดลงได้ นอกจากนี้จำนวนผู้ติดเชื้อในชุมชนอาจจะมากกว่าที่รายงาน เพราะในความเป็นจริงผู้ติดเชื้อจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงการตรวจหาเชื้อได้

 

  • #หากมีการล็อกดาวน์ ยังไม่แน่ชัดว่า ศบค. จะกำหนดระยะเวลานานเท่าไร แต่ถ้ายึดตามแบบจำลองของ ผศ.นพ.บวรศม คือ 3 สัปดาห์ เราจะต้องกำหนดมาตรการควบคุมโรคให้ลดการแพร่เชื้อในชุมชนให้ได้อย่างน้อย 40% ถึงจะสามารถลดผู้ติดเชื้อลงมาจนพอที่จะไม่เกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข (นี่เป็นตอน ‘จบ’ ที่ต้องการหรือเปล่า) และเมื่อผ่อนคลายมาตรการแล้วผู้ติดเชื้ออาจมีแนวโน้มลดลงต่อไปได้อีก

 

ล็อกดาวน์

 

  • อย่างไรก็ตามเมื่อลากเส้นต่อไป สถานการณ์จะกลับไปใกล้เคียงกับช่วงต้นเดือนมิถุนายนยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดยประมาณ 4 สัปดาห์สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ประมาณ 7-8 สัปดาห์สำหรับจำนวนผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ที่ต้องเตรียมใจไว้ล่วงหน้าคือ 8 สัปดาห์ต่อจากนี้ (จนถึงปลายเดือนสิงหาคม) สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตอาจยังไม่ลดลงมาเท่ากับช่วงต้นมิถุนายน

 

  • แต่ถ้าลดการแพร่เชื้อในชุมชนได้น้อยกว่า 40% การล็อกดาวน์ครั้งนี้จะ ‘เสียของ’ ถึงแม้ผู้ติดเชื้อจะลดลงในช่วงท้ายของการล็อกดาวน์ แต่เมื่อผ่อนคลายมาตรการ ผู้ติดเชื้อที่ค้างอยู่ เช่น ผู้สัมผัสใกล้ชิดภายในครัวเรือน จะทำให้เกิดการแพร่ระบาด ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อจะพลิกกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ส่วนถ้าจะล็อกดาวน์สั้นกว่านี้ เช่น 2 สัปดาห์อย่างที่เป็นข่าว จะต้องลดการแพร่เชื้อลงให้ได้อย่างน้อย 50%

 

  • สิ่งที่ต้องติดตามต่อคือมาตรการที่ ศบค. กำหนดจะสามารถลดการแพร่เชื้อในชุมชนอย่างน้อย 40-50% หรือไม่ โดยอาจเทียบเคียงจากสมมติฐานของแบบจำลอง ได้แก่ การปิดผับ/บาร์ ร้านอาหารจะลดการแพร่เชื้อ 25% การสวมหน้ากากและรักษาสุขอนามัยจะลด 20% การอยู่บ้านจะลด 20% การห้ามการรวมกลุ่มกันจะลด 15% การเว้นระยะห่างทางกายภาพจะลด 10% ส่วนเคอร์ฟิวตอนกลางคืนจะลด 5%

 

  • ที่สำคัญการล็อกดาวน์จะต้องทำควบคู่กับมาตรการสาธารณสุข ซึ่งกำหนดออกมาแล้วเช่นกัน ได้แก่ การเพิ่มการเข้าถึงระบบการตรวจหาเชื้อ ระบบการแยกกักที่บ้านหรือแยกกักในชุมชน การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม/ไอซียูสนาม การฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (และต้องจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงเข้ามาเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น) รวมถึงมาตรการเยียวยาและชดเชยด้วย

 

  • สุดท้ายแบบจำลองทางคณิตศาสตร์นี้น่าจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนด ‘เป้าหมาย’ ขั้นต่ำ เพื่อติดตามและประเมินผลมาตรการล็อกดาวน์เป็นระยะ เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงตามเส้นแนวโน้ม 40-50% ที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ หากไม่ก็อาจต้องปรับมาตรการเพิ่มขึ้น แทนที่จะวัดผลครั้งเดียวในตอนที่ใกล้จะครบกำหนด เพราะแน่นอนว่าล็อกดาวน์ครั้งนี้เจ็บ และตอนจบยังยืดเยื้อไปถึงช่วงผ่อนคลายมาตรการ

 

อ้างอิง:

  • การพัฒนาแบบจําลองบูรณาการเพื่อพิจารณาแนวโน้มการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยระลอกที่ 3 (เมษายน 2564) โดยคณะทํางานพัฒนาแบบจําลองระบบบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising