มหกรรมรวมไอเดียและคนมีไอเดีย Chiang Mai Design Week 2017 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-10 ธันวาคม 2560 กลางเมืองเชียงใหม่ นอกจากจะมีไฮไลต์อยู่ที่เปิดพื้นที่ให้งานออกแบบและงานสร้างสรรค์ทุกแขนงแล้ว ต้องยอมรับว่าหลายคนตั้งตารอที่จะได้ชมกับโมเดิร์นอาร์ตรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘Projection Mapping’
ศิลปะจากเครื่องโปรเจกเตอร์
“Projection Mapping คือการนำศาสตร์หลายแขนงมารวมกัน ทั้งวาดเขียน แอนิเมชัน งานกราฟิก สถาปัตยกรรม การทำดนตรี คนเขียนซอฟต์แวร์ และที่ขาดไม่ได้คือความล้ำสมัยของเทคโนโลยีโปรเจกเตอร์”
อาจารย์สุเมธ ยอดแก้ว โปรดิวเซอร์ผู้อยู่เบื้องหลังงาน Projection Mapping ให้คำจำกัดความถึงความหมายของงานศิลปะที่ว่าด้วยเรื่องของแสงรูปแบบใหม่ โดยจุดเริ่มต้นความสนใจเรื่องแสงของอาจารย์มาจากการเฝ้าสังเกตสีสันการทำงานของโปรเจกเตอร์ในห้องเรียน จากนั้นจึงฝึกหัดการสร้างสรรค์งานเรื่องแสงสีด้วยตัวเอง โดยมีเพียงเครื่องโปรเจกเตอร์ราคาไม่กี่พันบาทเป็นอุปกรณ์
สำหรับในเมืองไทย งาน Projection Mapping เป็นงานสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ที่เพิ่งได้รับความนิยมเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในแวดวงพาณิชยศิลป์ เช่น อีเวนต์ คอนเสิร์ต หรือไม่ก็งานแฟชั่นโชว์ ตรงกันข้ามกับยุโรปและอเมริกา ที่การย้อมตึกทั้งหลังให้เป็นสีสันต่างๆ กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว โดยความใหม่ของศิลปินตะวันตกคือ การนำแสงเข้ามาแสดงร่วมกับงานศิลปะประเภทต่างๆ
“ถ้าพูดกันตามตรง เมื่อก่อนที่บ้านเราไม่รู้จักงานประเภท Projection Mapping ไม่ใช่ว่าเพราะไม่มีคนทำ ศิลปินที่อยากทำมี แต่ไม่มีเทคโนโลยี อุปกรณ์ที่ประมวลผลละเอียดได้แบบปัจจุบัน หากเป็นโปรเจกเตอร์รุ่นที่ละเอียดคือราคาแพงมาก มันจึงเป็นศิลปะที่เข้าถึงยาก Projection Mapping มีให้ศึกษาในรูปแบบเฉพาะงานวิจัย ส่วนผมเริ่มศึกษาจากโปรเจกเตอร์ในห้องเลกเชอร์ตัวละ 5,000 บาท ค่อยๆ ฝึกจนเข้าใจ ถ้าไม่รักการทำ Mapping จริงๆ คงเลิกไปนานแล้ว อย่างงานครั้งนี้เราโชคดีตรงที่มีโปรเจกเตอร์ความสว่างสูงจาก Epson เข้ามาสนับสนุน เราจึงสามารถใช้โปรเจกเตอร์เพียง 2 ตัว ย้อมอาคารพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนาทั้งหลังได้อย่างละเอียดชนิดที่เก็บมุม โค้งเสา บานหน้าต่างได้หมด และสามารถใส่ความจัดจ้านของสีสันลงไปได้เต็มที่โดยไม่ต้องกังวลว่าพื้นผิวจะเป็นอย่างไร จะมีแสงรอบนอกเข้ามากวนหรือเปล่า คือถ้าสมัยก่อนมีเทคโนโลยีที่ละเอียดแบบนี้เข้ามา ผมเชื่อว่าก็คงมีศิลปิน Mapping เกิดขึ้นอีกเยอะมาก ตอนนี้เรียกได้ว่ามีน้อยคนมากที่ทำด้านนี้ โดยเฉพาะทำในรูปแบบของงานศิลปะไม่ใช่ทำเชิงพาณิชย์อย่างเดียว แต่เชิงศิลปะหมายถึงการคิดใหม่ทั้งหมดไม่เว้นแม้แต่เรื่องดนตรี”
ใช้แสงเป็นสื่อแห่งความเข้าใจ
เมื่อเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยสามารถสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะที่เข้าถึงคนในยุคสมัยนี้ได้ งาน Chiang Mai Design Week 2017 ครั้งนี้เราจึงได้เห็นศิลปะ Projection Mapping ขนาดใหญ่ บอกเล่าความหมายใหม่ของเชียงใหม่บนตึกเก่า ด้วยคอนเซปต์ DigiCraft Life ถ่ายทอดเอกลักษณ์ของเชียงใหม่ที่เกิดจากความหลากหลาย ความใหม่เก่าของทั้งผู้คน วิถีชีวิต วัฒนธรรม ธรรมชาติ และสถาปัตยกรรม
คุณพงศ์กรณ์ อัครเกษมสิทธิ์ อาร์ตไดเรกเตอร์ผู้ร่วมออกแบบ Projection Mapping ครั้งนี้เล่าว่า ในงาน Projection Mapping ที่ผ่านมาจะเน้นไปที่การโชว์ภาพ 3 มิติบนพื้นผิวอะไรก็ได้ แต่ขอให้เห็นความลึก หนา บางของภาพที่ฉายลงไป ทว่าในงาน Chiang Mai Design Week 2017 คอนเซปต์หลักของงานคือคำว่า ‘คราฟต์’ งานทำมือ โจทย์แรกที่ศิลปินตีออกมาจึงเป็นการวาดภาพทั้งหมดด้วยมือแบบ 2 มิติ จากนั้นจึงใส่แอนิเมชันเพื่อให้ภาพที่ออกมาเคลื่อนไหว เพิ่มดนตรีกลิ่นอายล้านนาโมเดิร์น แถมด้วยการสร้างโมเดลของอาคารที่ใกล้เคียงของจริงมากที่สุดออกมา เพื่อให้สามารถฉาบสี ใส่ชีวิต ใส่เรื่องราวใหม่ให้อาคารหลังนี้ได้อย่างสมจริงทุกองศา รวมแล้วใช้ทีมงานมากถึง 15 คน ในระยะเวลา 4 เดือน และฉายจริงเพียง 15 นาที
“Projection Mapping สำหรับผมมันคืองานที่ละเอียด พิถีพิถัน ต้องคิดใหม่ทุกครั้งที่ทำ เพราะแค่สถานที่เปลี่ยนก็หมายถึงองศาเปลี่ยน ทุกอย่างก็เปลี่ยน หรือสถานที่เดิม แต่มีต้นไม้ขึ้นมาใหม่ก็ต้องแก้ไขใหม่ เพราะอาจจะไปบังทิศทางแสงก็ได้”
อาร์ตไดเรกเตอร์รุ่นใหม่ไฟแรงทิ้งท้ายถึงความท้าทายของการสร้างสรรค์งานศิลปะจากแสง ส่วนอาจารย์สุเมธนั้น คำว่า Projection Mapping คือความสนุกของการนำแสงมาเจอกับพื้นผิว ซึ่งแต่ละพื้นผิว แต่ละวัตถุก็ให้ความยากง่าย สร้างโจทย์ใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงานที่รับประกันความแตกต่างในทุกครั้งที่จัดแสดง
Street Art เปิดชุมชนวัดล่ามช้าง
นอกจากงานศิลปะ Projection Mapping งาน Chiang Mai Design Week 2017 ครั้งนี้ยังมีงานศิลปะกราฟฟิตี้ ที่ชวนศิลปินชาวเชียงใหม่มาเพนต์ลงบนผนังในชุมชนวัดล่ามช้าง ซึ่งเป็นชุมชนเก่าที่กำลังกลายเป็นสถานที่เที่ยวใหม่สำหรับใครหลายคน โดยความน่าสนใจของชุมชนนี้คือ การผสมผสานระหว่างบ้านเก่า วัดเก่า คนเก่าคนแก่ และความใหม่คือเกสต์เฮาส์ ร้านอาหาร คาเฟ่ ซึ่งถ้าใครที่ได้เดินตามรอยงานศิลปะเหล่านี้จะพบเจอความน่ารักบนความหลากหลายรายทางด้วยเช่นกัน