เสาร์ที่ 14 ตุลาคมนี้ คนไทยทั้งประเทศกำลังจะได้ชมเรื่องราวสุดประทับใจผ่าน Project Nine ๙ ต่อไป ที่ถ่ายหนังดังอย่าง GDH ตั้งใจรวบรวมผู้กำกับฝีมือดีถึง 9 คนมาถ่ายทอดเรื่องจริงของ ‘9 บุคคลต้นแบบ’ ที่น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติ
เรื่องราวที่สร้างจากเกร็ด ‘ชีวิตจริง’ มักเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจเสมอ เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องก่อนรับชม THE STANDARD ได้รวบรวมประวัติสั้นๆ ของบุคคลต้นแบบทั้ง 9 มาให้ทราบกันก่อนว่าใครเป็นใคร และเรื่องราวของเขามีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง
1. ดร. เกริก มีมุ่งกิจ
ตอน: นำคนกล้าคืนถิ่น
ถ่ายทอดโดย: เมษ ธราธร, ฉันทวิชช์ ธนะเสวี
ออกอากาศ: เสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2560
ดร. เกริก หรือที่ใครต่อใครเรียกติดปากว่า ‘ลุงเกริก’ ได้ฉายาว่าเป็น ‘เทพแห่งเกษตรกร’ เพราะเขามีประวัติที่ถ้าทราบแล้วรับรองว่าทุกคนต้องยอมรับในความสามารถ!
ลุงเกริกมีบ้านเกิดอยู่ที่อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นลูกเกษตรกรที่พ่อแม่ทำไร่ทำนา แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ตั้งใจเล่าเรียนหนังสือจนได้ศึกษาต่อปริญญาเอกด้านวนเกษตร ซึ่งเป็นการเรียนเกี่ยวกับต้นไม้โดยตรง และเป็นเรื่องที่เขาหลงใหลอยู่ก่อนแล้ว เท่านั้นยังไม่พอ ลุงยังเหินฟ้าไปเรียนต่อถึงประเทศฟิลิปปินส์ ด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศไทย ณ ตอนนั้นยังไม่มีศาสตร์สาขาวิชาดังกล่าวให้เขาเรียนอย่างลงลึก
วันเวลาผ่านไปจนกระทั่งเรียนจบ ลุงเกริกกลับเลือกจะเริ่มต้นทำงานในฐานะ ‘ครูสอนภาษาอังกฤษ’ ก่อนจะผันตัวมาเป็นนายหน้าค้าที่จนมีรายได้เกือบ 100 ล้านบาทในชั่วข้ามคืน แต่ไม่นานอาชีพนี้เองที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตครั้งสำคัญ เพราะความโลภโดยแท้จึงทำให้เขาล้มละลายและเสียเงินมัดจำที่ดินไปจนหมดเกลี้ยง สุดท้ายเขาต้องกลับมาอยู่ตรงจุดเริ่มต้นอีกครั้ง
แต่ชีวิตคนเราก็อย่างนี้ เริ่มต้นอาจล้ม แต่ถ้ามีใจก็ลุกขึ้นใหม่ได้เสมอ เพราะหลังจากนั้นวีรกรรมที่ทำให้ ‘ลุงเกริก’ กลายเป็นบุคคลตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจในแง่การพลิกวิกฤตให้เป็นบทเรียนชีวิต และเริ่มต้นสร้างโอกาสครั้งใหม่ด้วยการวางแผนชีวิตอย่างพอเพียง
ลุงเกริกหันกลับไปทำอาชีพเกษตรกรโดยมีความเชื่อว่า ‘เกษตรกร’ เป็นอาชีพที่มั่นคง เขาใช้เวลา 3 ปีในการเปลี่ยนตัวเองมาเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว ทำเงินได้วันละ 20,000 บาท และยังคงยึดหลักความพอเพียงตามคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจนกลายเป็นไอดอลในแวดวงเกษตรกรไทยจนถึงทุกวันนี้
2. สมจิตร ดวงตาคำ (ลุงเบี้ยว)
ตอน: ผู้พึ่งตนเอง
ถ่ายทอดโดย: นฤเบศ กูโน, ธนภพ ลีรัตนขจร
ออกอากาศ: เสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2560
ชายพิการสู้ชีวิตจนสามารถผันตัวมาเป็นแบบอย่างให้กับคนครบ 32 อย่างเราๆ ได้ ลุงเบี้ยวประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนทำให้ต้องตัดขาทั้งสองข้างออก และต้องใช้ชีวิตอยู่บนเตียงผู้ป่วย ซึ่งเขาใช้เป็นรถเข็น ด้วยความที่ถูกภรรยาทอดทิ้งหลังเกิดอุบัติเหตุ ลุงเบี้ยวต้องอยู่เพียงลำพังและถูกส่งตัวไปยังมูลนิธิสิริวัฒนา เชสเชียร์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมกับคนพิการคนอื่นๆ
ที่พักพิงแหล่งใหม่นี้เองเป็นสถานที่ที่สอนให้ลุงเบี้ยวรู้จักกับหลักของ ‘ความพอเพียง’ และเกิดปิ๊งไอเดียขอพื้นที่ในมูลนิธิมาทำสวนปลูกผัก แม้ว่าการทำสวนในขณะที่ตัวเองพิการจะลำบากสักเล็กน้อย แต่เขาก็ตั้งใจรดน้ำ พรวนดิน จัดการดูแลพืชผักในสวน ไปจนถึงเลี้ยงปลา เป็ด ทำปุ๋ย เป็นเกษตรกรเต็มตัว ซึ่งก็ทำให้เขามีรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากกิจกรรมที่เขารัก
“ตราบใดที่เรายังมีมืออยู่ทั้งสองข้าง เราไม่อดตายแน่นอน เพราะเราก็ใช้มือที่เหลืออยู่นี่แหละทำงาน”
3. ดร. นพ. กิติพงศ์ สุนทราภา (หมอเล็ก)
ตอน: อนาคตของแพทย์
ถ่ายทอดโดย: นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์, ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์
ออกอากาศ: เสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2560
‘หมอเล็ก’ ไม่ได้เป็นคุณหมอที่รักษาผู้ป่วยเท่านั้น แต่เขายังเป็นความหวังของผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทย เมื่อต้นปี 2559 ดร.นพ. กิติพงศ์ สุนทราภา อาจารย์สังกัดภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยผลงานวิจัยและการค้นคว้าล่าสุดของการรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้เซลล์เม็ดเลือดขาว หรือเซลล์บำบัด (Cell Therapy) คือวิธีเปลี่ยนเซลล์เม็ดเลือดขาวให้กลายเป็นเซลล์ฆ่ามะเร็ง เป็นเทคนิคที่เรียกว่า ‘CIK Cells’ (Cytokine-Induced Killer Cells) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงและไม่เป็นอันตราย สำคัญที่สุด! สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้ในระยะเวลา 5 ปีหลังตรวจพบมะเร็ง หมอเล็กยังจัดตั้งกองทุนวิจัยเซลล์บำบัดเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง รหัสกองทุน D-003658 เพื่อรวบรวมเงินบริจาคมาพัฒนาต่อยอดงานวิจัย รวมถึงจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ในงานวิจัยดังกล่าวด้วย
4. หม่อมหลวงอภิชิต วุฒิชัย
ตอน: เพราะ ‘น้ำ’ คือหัวใจ
ถ่ายทอดโดย: นัฐวุฒิ พูนพิริยะ, ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์
ออกอากาศ: เสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2560
เราอาจจะเคยได้ยินชื่อที่พักตากอากาศสไตล์อบอุ่นติดดินแบบไทยๆ ที่ใช้ชื่อว่า ‘อาทิตย์ ธารา’ ที่จังหวัดปราจีนบุรี แต่รู้หรือไม่ว่ารีสอร์ตแห่งนี้เริ่มมาจากความรักในการตกแต่งบ้านแบบไทยที่ อาร์ต หรือหม่อมหลวงอภิชิต วุฒิชัย และกบ-อาภาศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ตั้งใจซื้อที่ดินเปล่าริมแม่น้ำในป่าแห่งนี้และสร้างสรรค์บ้านหลังเล็กๆ อยู่กันเอง จนทั้งคู่เก็บสะสมเงินที่ได้จากการทำงานค่อยๆ ต่อเติมบ้านไปทีละส่วนจนกลายเป็นรีสอร์ตขนาด 13 ห้องนอนที่ใช้คอนเซปต์แบบ ‘บ้านที่พอเพียง’ บ้านที่ไม่มีสิ่งหรูหราเกินความจำเป็น เน้นที่ความเป็นไทย ปรับตัวเข้าหาธรรมชาติ แถมยังสอดแทรกรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับภูมิปัญญาชาวบ้านและศาสตร์แบบไทยๆ เช่น วิชาศาสตร์พยากรณ์ และเมนูอาหารไทยดั้งเดิมรสชาติดีให้ผู้ที่สนใจได้ลองชิมทั้งอาหารไทย และบรรยากาศความพอเพียงไปพร้อมๆ กัน
5. ไมค์ ภิรมย์พร
ตอน: สาธิตชีวิตพอเพียง
ถ่ายทอดโดย: ยงยุทธ ทองกองทุน, ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช
ออกอากาศ: เสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2560
ไม่มีใครไม่รู้จักชื่อ ‘ไมค์ ภิรมย์พร’ นักร้องลูกทุ่งเลือดอีสาน ด้วยชีวิตและบทเพลง ส่งให้ไมค์เป็นที่รู้จักและเรียกขานในฐานะ ‘ขวัญใจคนใช้แรงงาน’
ไมค์เป็นคนจังหวัดอุดรธานี พื้นฐานครอบครัวมีอาชีพทำไร่ทำนา รับจ้างทั่วไป เขาเคยทั้งรับจ้างตัดฟืนขายเพื่อหาเงินมาเลี้ยงชีพและส่งเสียให้ตัวเองเรียนหนังสือจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
เลือดในกายจากแผ่นดินที่ราบสูงทำให้ไมค์เต็มไปด้วยความมุมานะ ฝันของเขาคือการเดินทางสู่การเป็นนักร้องอาชีพ เขาจึงพยายามหางานหลากหลายเพื่อให้ตัวเองมีเส้นสายในวงการดนตรี เคยเป็นทั้งเด็กเสิร์ฟ เด็กยกเครื่องดนตรี ช่วยดูแลนักดนตรี ก่อนจะค่อยๆ ขยับไปร้องเพลงประสานเสียง ร้องเพลงโฆษณา สำคัญที่สุดสำหรับคนมีฝัน ไมค์แต่งเพลง ทำเดโมเป็นของตัวเอง และตัดสินใจส่งผลงานนั้นไปยังค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศ จนสุดท้ายเขาได้เซ็นสัญญากลายเป็นศิลปินลูกทุ่งคนแรกของแกรมมี่!
ปัจุบันไมค์มีผลงานเดี่ยวเต็มอัลบั้มออกมาแล้ว 19 ชุด และผลงานอัลบั้มพิเศษอื่นๆ อีกมากมาย หากติดตามดูในอินสตาแกรมของเขา เราก็จะพบภาพของไมค์ ภิรมย์พร ขวัญใจคนใช้แรงงานผู้เดิมที่ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และยังสามารถหาเงินส่งลูกสาวทั้งสองของเขาจนเรียนจบมหาวิทยาลัยในประเทศแคนาดาได้อีกด้วย
6. ปฏิวัติ อินทร์แปลง
ตอน: สานต่ออาชีพพระราชทาน
ถ่ายทอดโดย: ทรงยศ สุขมากอนันต์, ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์, ณภัทร โชคจินดาชัย
ออกอากาศ: เสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2560
แม้จะอายุเพียง 24 ปี แต่ เบส-ปฏิวัติ อินทร์แปลง ก็ติดอยู่ในลิสต์บุคคลต้นแบบได้อย่างสมภาคภูมิ เบสเป็นเจ้าของฟาร์มโคนมในจังหวัดชุมพร ด้วยความที่เบสในวัย 14 ปี เคยส่งจดหมายไปที่งานสัตวบาล โรงโคนมจิตรลดา ว่าเขาอาศัยอยู่กับแม่เพียงแค่ 2 คน (พ่อของเบสเสียตั้งแต่ยังเด็ก) จึงอยากได้วัวสักตัวมาอยู่เป็นเพื่อน แต่เชื่อหรือไม่ว่าอีก 3 เดือนถัดมา เบสได้รับการแจ้งจากสหกรณ์โคนมว่าทางโรงโคนมจิตรลดาจะส่งโคพระราชทานมาให้ นี่เองที่เป็นจุดเปลี่ยนความฝันในชีวิตของเด็กชายผู้นี้ว่าเขาอยากลุกขึ้นมาเป็นเกษตรกร เลี้ยงวัว และทำฟาร์มโคนม ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของฟาร์มเนื้อที่ 2 ไร่ ส่งผลิตภัณฑ์นมพาสเจอไรส์ไปหลายจังหวัด ทั้งชุมพร ระนอง ภูเก็ต และอื่นๆ ด้วยความเชื่อมั่นในทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เบสเชื่อตามคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ว่า ‘ทำทุกอย่างที่ใช้ ใช้ทุกอย่างที่ทำ’
7. นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน (หมอล็อต)
ตอน: พิทักษ์ทรัพย์คู่บ้านคู่เมือง
ถ่ายทอดโดย: พิชย จรัสบุญประชา, ภาวดี คุ้มโชคไพศาล, ธีธัช รัตนศรีทัย
ออกอากาศ: เสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2560
‘หมอล็อต’ เป็นนายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หรือเรียกได้ว่าเป็นสัตวแพทย์สัตว์ป่าคนแรกของไทย แต่ที่แน่ๆ เขาก็โด่งดังไม่น้อยบนโลกอินเทอร์เน็ตจากการแชร์ภาพสุดประทับใจของชายหนุ่มที่ช่วยนำทางช้างป่าตกมันให้รอดชีวิต และด้วยความที่เขาไม่ได้ทำอาชีพแค่เป็นสัตวแพทย์สัตว์ป่าเท่านั้น แต่เขายังเป็นทั้งนักกีฬา อาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย วิทยากร และติดอันดับหมอหน้าตาดีอีกด้วย
ทำให้ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ให้คนหันมารู้จักอาชีพสัตวแพทย์สัตว์ป่าและเข้าใจในธรรมชาติของสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น สิ่งที่เขามักย้ำให้กับคนที่เรียกเขาว่าเป็นฮีโร่รักสัตว์ฟังอยู่เสมอคือ เขาไม่ได้ทำเพราะมันเป็นสิ่งที่เขารัก แต่เขาทำเพราะมันเป็นหน้าที่และสังคมได้ประโยชน์ จึงทำให้หมอล็อตมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ดังกล่าวอย่างเต็มที่ตามบทบาทของข้าราชการผู้รับใช้ในหลวง
8. ชาติชาย ไทยกล้า
ตอน: นักผจญ(สาธารณ)ภัย
ถ่ายทอดโดย: ปวีณ ภูริจิตปัญญา, จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล
ออกอากาศ: เสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2560
นักดับเพลิง ถือว่าเป็นอาชีพที่เด็กๆ ต้องมองว่าเป็นฮีโร่ในชีวิตจริง เพราะงานนี้ต้องอาศัยทั้งความกล้าในการปฏิบัติหน้าที่ ชาติชาย ไทยกล้า คือผู้อำนวยการสถาบันฝึกดับเพลิงกู้ภัยชั้นสูง ไทยไฟร์ ทาฟต้า เขาเริ่มงานเกี่ยวกับความปลอดภัย การดับเพลิงที่บริษัทคาลเท็กซ์ เชฟรอน ก่อนจะถูกส่งไปฝึกดับเพลิงที่ประเทศสิงคโปร์ และพัฒนาทักษะด้านนี้มาจนสำเร็จหลักสูตรครูฝึกดับเพลิงและกู้ภัยที่สหรัฐอเมริกา
ชาติชายผ่านประสบการณ์ทั้งการเล่าเรียนไปจนถึงการฝึกสอนผู้อื่นมามากกว่าจะเป็น ‘นักผจญเพลิง’ อย่างเต็มตัว ชาติชายเป็นนักดับเพลิงที่หันมาร่างหลักสูตรใหม่ให้กับการฝึกสอนการดับเพลิงในไทยจนเกิดเป็นสถาบันฝึกดับเพลิงของตัวเอง (ไทยไฟร์ ทาฟต้า) ด้วยความรักในชาติไทยและภูมิใจกับการช่วยเหลือสังคม ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติหลักของนักผจญเพลิงที่ดี เขาจึง ‘เสียสละ’ เพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริงจนกลายมาเป็นหนึ่งในบุคคลต้นแบบ หรืออาจจะกลายเป็นฮีโร่สำหรับผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็ได้
9. ครูเรียม สิงห์ทร
ตอน: คำฝากฝังจากในหลวง ร.9
ถ่ายทอดโดย: คมกฤษ ตรีวิมล, ธงชัย ทองกันทม
ออกอากาศ: เสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2560
คุณครูสาววัย 24 ปี ที่ตัดสินใจเดินทางไปที่โรงเรียนบ้านขอบด้ง ดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นครูสอนเด็กๆ บนเขา แต่กลับต้องเจอสภาพทุรกันดารและพื้นที่ปลูกฝิ่น นักเรียนในโรงเรียนก็เป็นเด็กชาวมูเซอดำทั้งหมด และส่วนใหญ่ก็หนีกลับบ้าน ไม่ยอมเรียนหนังสือ ทำให้ครูเรียมหมดกำลังใจ อยากกลับไปกรุงเทพฯ จนวันหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยี่ยมโรงเรียนบ้านขอบด้ง พร้อมทรงมีพระราชดำรัสกับครูเรียมและเด็กๆ ว่า “ฉันฝากเด็กชาวเขาเหล่านี้ด้วย ตัวฉันอยู่ไกล ครูดูแลด้วยนะ” ประโยคนี้เองที่ทำให้ครูเรียมเตือนสติตัวเองว่าขนาดทั้งสองพระองค์อยู่ไกลก็ยังเสด็จฯ มาที่นี่ มาสร้างโครงการหลวง สร้างโรงเรียน ตัวเธอเองก็ต้องไม่ท้อและตั้งใจสอนหนังสือให้กับเด็กๆ ที่ต้องการการศึกษา ปัจจุบันครูเรียมยังคงเป็นครูที่โรงเรียนบ้านขอบด้ง และมีนักเรียนเกือบ 300 คน เพราะเธอเชื่อในการให้โอกาสเด็ก ถึงแม้จะเป็นเด็กบนดอยก็ต้องมีความรู้ความสามารถเท่าเทียมกับเด็กในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย
แค่เพียงอ่านประวัติสั้นๆ ของบุคคลต้นแบบทั้ง 9 ท่านก็ยังสร้างความประทับใจและความชื่นชมได้มากขนาดนี้ ยิ่งเมื่อเรื่องราวของพวกเขาทั้งหมดถูกนำเสนอผ่านฝีมือของผู้กำกับและนักแสดงมากความสามารถอีกหลายชีวิต ‘Project Nine ๙ ต่อไป’ ยิ่งน่าจะสร้างปรากฏการณ์ให้ประชาชนชาวไทยหันมาน้อมนำพระราชดำรัสและคำสอนของพ่อหลวงมาปรับใช้กับตัวเองต่อในอนาคตได้อย่างสมบูรณ์
Project Nine ๙ ต่อไป จะเริ่มฉายตอนแรกด้วยเรื่องราวของ ดร. เกริก มีมุ่งกิจ ในตอน นำคนกล้าคืนถิ่น, สมจิตร ดวงตาคำ ตอน ผู้พึ่งตนเอง และ ดร. นพ. กิติพงศ์ สุนทราภา (หมอเล็ก) ตอน อนาคตของแพทย์ ในวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคมนี้ สามารถติดตาม Project Nine ๙ ต่อไป ทุกวันเสาร์ของเดือนตุลาคม เวลา 15.00 น. และรีรันในวันเสาร์ เวลา 21.45 น. และวันอาทิตย์ 11.00 น.) ทางช่อง GMM25