×

ผบ.ตร. แจงชัด โครงการ ‘ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน’ ใช้ไม่ได้กับกรณีทักษิณ เหตุโทษสูงกว่า 1 ปี และเป็นโทษหนัก

โดย THE STANDARD TEAM
16.11.2023
  • LOADING...
ต่อศักดิ์ สุขวิมล

วันนี้ (16 พฤศจิกายน) พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ร่วมแถลงเปิดโครงการ ‘ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน’ 

 

พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ กล่าวว่า โครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อยกระดับการทำงานให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อคืนสิทธิให้กับประชาชน และได้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งในขณะนี้สามารถคืนสิทธิให้ประชาชนที่มีประวัติอาชญากรรมติดตัวได้แล้วกว่า 9.3 ล้านคน จากกว่า 13  ล้านคน

 

ทั้งนี้ ในส่วนของการทำงานบริษัทเอกชน แต่ละบริษัทมีหลักเกณฑ์และมาตรฐานในการรับคนทำงานไม่เหมือนกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าโครงการดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะพยายามแก้ปัญหาให้คนได้รับสิทธิในการกลับไปใช้ในชีวิตในสังคมตามปกติให้ได้มากที่สุด

 

ส่วนในประเด็นของ ทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่ระหว่างต้องโทษและรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจนั้น พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ กล่าวว่า โครงการนี้ไม่ครอบคลุมถึงกรณีทักษิณ เพราะมีโทษสูงกว่า 1 ปี และเป็นโทษหนัก เรื่องการลดโทษไม่ได้อยู่ในความดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่อยู่ในการดูแลของกระทรวงยุติธรรมหรือกรมราชทัณฑ์ 

 

สำหรับจุดประสงค์โครงการ ‘ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน’ มีขึ้นเพื่อคืนความเป็นธรรมให้ประชาชนแก้ไขปัญหาในการคัดกรองประวัติ เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากที่เคยมีประวัติถูกดำเนินคดีอาญา แต่ศาลพิพากษายกฟ้องหรือพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่ยังมีประวัติอาชญากรรมอยู่ในฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร ทำให้ถูกตัดสิทธิ ไม่ได้รับพิจารณาเข้าทำงาน ขาดโอกาสหางานในการกลับไปใช้ชีวิต ทำให้ขาดรายได้ และอาจทำให้ต้องก่ออาชญากรรม

 

โดยโครงการนี้เริ่มตั้งแต่ยุคของ พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีต ผบ.ตร. ที่เล็งเห็นว่าหลายสิบปีที่ผ่านมามีประชาชนที่มีประวัติอาชญากรรมสูงถึง 13 ล้านคนไม่สามารถเข้าทำงานได้ ทำให้นายจ้างชาวไทยต้องรับสมัครแรงงานมาจากเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา แทน

 

ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ประวัติบุคคลให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรค 2 ที่ระบุว่า หากไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยได้มีการปรับหลักเกณฑ์การถอนประวัติหรือการถอนข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากรในประเด็นดังนี้ 

 

คดีมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง, ยกฟ้อง, มีกฎหมายยกเลิกความผิดนั้น เช่น ใบกระท่อมหรือกัญชา, ผู้เสพยาเสพติดที่ผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่มีผลเป็นที่น่าพอใจ, ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรม, มีกฎหมายล้างมลทิน, ได้รับการอภัยโทษ, ไม่มีการกระทำความผิดซ้ำภายใน 20 ปี, ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชน, มีคำพิพากษาใหม่ว่ามิใช่ผู้กระทำความผิด และคดีขาดอายุความ 

ประชาชนสามารถตรวจสอบประวัติผ่านทางเว็บไซต์ crd-check.com ฐานข้อมูลนี้จะเชื่อมต่อกับตำรวจ อัยการ ศาล และกระทรวงยุติธรรม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X