ผ่านมาแล้ว 2 เดือน นับตั้งแต่ที่เกมฟุตบอลทั่วโลกต้องหยุดแข่งขัน (ยกเว้นแค่บางชาติที่ยังพยายามแข่งขันต่อ เช่น เบลารุส, นิการากัว) ในที่สุดลีกฟุตบอลต่างๆ ก็เริ่มที่จะมีความหวังในการกลับมา ‘คิกออฟ’ อีกครั้ง
ลีกรองแห่งแรกที่กลับมาคือ ฟุตบอลเคลีก เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนที่เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้วลีกระดับท็อปแห่งแรกอย่างบุนเดสลีกา เยอรมัน จะกลับมาแข่งขันอีกครั้งเมื่อวันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา
การกลับมาในครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง แล้วลีกอื่นๆ กำลังอยู่ในขั้นตอนไหน มีความหวังมากหรือน้อยแค่ไหนที่จะกลับมา เรามาอัปเดตข้อมูลไปด้วยกันอีกสักครั้ง
Photo: The Standard
แฮร์รี เคน กัปตันทีมท็อตแนม ฮอตสเปอร์ กลับมารายงานตัวฝึกซ้อมแล้ว
พรีเมียร์ลีก (กำหนดการกลับมาแข่ง: คาดว่าวันที่ 19 หรือ 26 มิถุนายน)
ลีกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมสูงสุดของโลก และเป็นลีกอันดับหนึ่งของแฟนฟุตบอลชาวไทย เป็นลีกที่มีปัญหาในการกลับมามากที่สุดลีกหนึ่ง
โดยพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ซึ่งหยุดพักแข่งขันมาตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากที่มีการตรวจพบโควิด-19 ในตัว มิเกล อาร์เตตา โค้ช ‘ปืนใหญ่’ อาร์เซนอล และ คัลลัม ฮัดสัน-โอดอย นักเตะดาวรุ่งของทีม ‘สิงโตน้ำเงินคราม’ เชลซี ได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการที่จะกลับมาแข่งขันให้ได้
หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือ เรื่องของจำนวนเงินค่าเสียหายที่จะเกิดขึ้น หากไม่สามารถแข่งขันได้ครบทั้งฤดูกาลที่มีการประเมินมูลค่ารวมสูงสุดเอาไว้มากกว่า 1 พันล้านปอนด์ เฉพาะแค่ค่าเสียหายที่จะต้องจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ซื้อลิขสิทธิ์ก็มากถึง 752 ล้านปอนด์แล้ว ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่จะกระทบต่อสถานะทางการเงินของสโมสรฟุตบอลทุกแห่ง และจะลามไปถึงโครงสร้างของวงการฟุตบอลอังกฤษทั้งระบบที่พึ่งพิงพรีเมียร์ลีก ทำให้มีการตั้ง Project Restart เพื่อทำให้กลับมาแข่งขันต่อให้ได้
แต่การเจรจาที่เกิดขึ้นหลายครั้งไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนมากเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องมีการประเมินสถานการณ์ร่วมกับทางด้านรัฐบาล ที่จะเป็นผู้อนุญาตว่าจะสามารถกลับมาฝึกซ้อมและลงแข่งได้อีกครั้งเมื่อไร ขณะที่อีกส่วนคือความขัดแย้งกันเองระหว่างสโมสรต่างๆ ที่มีความเห็นไม่ลงรอยกัน
ประเด็นที่มีความขัดแย้งกัน มีตั้งแต่จะกลับมาแข่งขันต่อหรือไม่ หรือจะตัดจบและโมฆะฤดูกาลนี้ไปเลย ซึ่งคนที่ออกมาเรียกร้องคนแรกคือ คาร์เรน เบรดี รองประธานสโมสรเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ทีมที่ต้องเผชิญกับการดิ้นรนหนีการตกชั้น ไปจนถึงการใช้สนามแข่งเป็นกลางที่หลายสโมสรไม่เห็นด้วย ส่วนเรื่องการแข่งในสนามปิดเป็นเรื่องที่ทุกสโมสรทำอะไรไม่ได้ ต้องยอมรับสภาพอยู่แล้ว
ไม่นับเรื่องของสัญญานักฟุตบอลที่จะหมดในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ในขณะที่การแข่งขันยังดำเนินต่อไป และเรื่องของมาตรการความปลอดภัยต่างๆ ไปจนถึงความขัดแย้งระหว่างสโมสรกับนักฟุตบอลในทีม ในเรื่องของการลดค่าเหนื่อยที่ไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ทั้งหมด ต้องแยกเป็นกรณีของแต่ละสโมสรไป
ความขัดแย้งต่างๆ ทำให้จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถกำหนดวันที่พรีเมียร์ลีกจะกลับมาแข่งขันอีกครั้งได้
อย่างไรก็ดี จากการประชุมนัดล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 พฤษภาคม) ทุกสโมสรตกลงที่จะฝึกซ้อมแบบกลุ่มย่อยครั้งละไม่เกิน 5 คน โดยมีมาตรการรองรับต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็น Step One
ในขั้นตอนต่อไป (Step Two) ต้องรอการอนุญาตจากรัฐบาลที่จะกลับมาซ้อมแบบกลุ่มใหญ่ที่มีการสัมผัสตัวได้ และทุกสโมสรจะต้องเห็นพ้องในการขยับไปสู่ขั้นต่อไป โดยมีการประเมินว่าช่วง Step One จะเวลาสั้นที่สุด 1 สัปดาห์ หรืออาจจะยาวถึง 2 สัปดาห์ ส่วน Step Two จะใช้เวลาซ้อมอีก 3 สัปดาห์ รวมแล้วคือนับจากวันที่ 18 พฤษภาคมไปจนกว่าจะพร้อมเปิดฤดูกาล ต้องใช้เวลาราว 5 สัปดาห์
อย่างไรก็ดี ในวันศุกร์นี้ (22 พฤษภาคม) จะมีการประชุมร่วมกันของพรีเมียร์ลีกอีกครั้ง เพราะยังมีประเด็นเรื่องของข้อเรียกร้องให้ใช้สนามแข่งของตัวเองตามเดิมเหมือนในบุนเดสลีกา
อีกด้านที่เป็นปัญหาคือ นักฟุตบอลที่มีความกังวลในเรื่องการติดโควิด-19 ซึ่งมีหลายคนที่แสดงความวิตกอย่างชัดเจน เช่น แดนนี โรส, ราฮีม สเตอร์ลิง, ทรอย ดีนีย์ (ซึ่งมีลูกชายวัย 5 เดือน ที่มีปัญหาเรื่องระบบการหายใจ)
ล่าสุดคือ เอ็นโกโล ก็องเต ที่ปฏิเสธจะกลับมาซ้อม เพราะยังไม่มั่นใจในความปลอดภัย เนื่องจากมีการอ้างอิงสถิติว่านักฟุตบอลผิวสี (รวมถึงชาวเอเชียและชนกลุ่มน้อยที่เรียกว่า BAME) มีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าคนผิวขาว 2 เท่า
เรื่องนี้ทางด้านพรีเมียร์ลีกเตรียมจะสร้างความมั่นใจให้ด้วยผลการวิจัยของ Aarhus University และ University of Southern Denmark ที่ระบุว่า การแข่งขันฟุตบอลในระดับลีกสูงสุดมีค่าเฉลี่ยในการสัมผัสตัวกันแค่เพียง 88 วินาทีในแต่ละเกม ซึ่งทำให้โอกาสติดเชื้อน้อยมาก โดยที่พรีเมียร์ลีกเตรียมนำข้อมูลที่ได้จากการเก็บสถิติติดตามตัวด้วยอุปกรณ์ Tracking และ GPS มาใช้ประกอบการชี้แจงด้วย
ขณะที่รัฐบาลอังกฤษเองมีรายงานว่า โอกาสติดโควิด-19 กลางแจ้งนั้นมีน้อยมาก และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้อนุญาตให้ฟุตบอลกลับมาแข่งขัน
สรุปแล้วคือ พรีเมียร์ลีกยังไม่สามารถระบุวันกลับมาเริ่มต้นแข่งในเวลานี้ และยังเหลือ 3 เรื่องใหญ่ที่ต้องจัดการ คือ 1. การอนุญาตจากรัฐบาลให้เข้าสู่ Step Two 2. เรื่องสนามแข่ง และ 3. ความมั่นใจของนักฟุตบอล
นอกเหนือจากนี้คือ เรื่องของการถ่ายทอดสดที่มีปัญหาในอังกฤษ เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้มีการถ่ายทอดสดผ่านระบบ Free-to-Air หรือฟรีทีวีในบางนัด โดยเฉพาะในวันเสาร์ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจและลดปัญหาแฟนบอลไปรวมตัวดูฟุตบอลกันที่บ้านเพื่อนหรือไปให้กำลังใจทีมหน้าสนาม
กำหนดการกลับมาที่เป็นไปได้คือวันที่ 19 หรือ 26 มิถุนายน
มาตรการบางส่วนของพรีเมียร์ลีก
– นักฟุตบอลและสตาฟฟ์ทุกคนจะต้องถูกตรวจหาเชื้อสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
– หากมีนักฟุตบอลติดเชื้อ นักฟุตบอลคนดังกล่าวจะต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 2 สัปดาห์
– กรณีที่มีนักฟุตบอลติดเชื้อหลายคน พรีเมียร์ลีกยังไม่ได้แจ้งว่าจะมีแนวทางในการปฏิบัติอย่างไร (การตรวจครั้งแรกพบนักฟุตบอลและสตาฟฟ์ติดเชื้อ 6 ราย จากการตรวจ 748 ราย)
– การงดใช้ห้องแต่งตัว ทำให้นักฟุตบอลต้องเตรียมตัวทุกอย่างจากบ้านเอง ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ชุดสำหรับการฝึกซ้อม ต้องเดินทางมาด้วยตัวเอง เมื่อมาถึงสนามแล้วจะต้องจอดรถในจุดจอดที่ระบุให้ และเมื่อซ้อมเสร็จให้กลับทันที ชุดที่ซ้อมเสร็จแล้วให้ซักด้วยตัวเอง
– ก่อนแข่งมีการเสนอให้นักฟุตบอลทุกคนกักตัวเป็นเวลา 2 สัปดาห์
– การซ้อม Step One จะใช้เวลาต่อเซสชัน 75 นาที และอีก 15 นาทีสำหรับการนวดกล้ามเนื้อในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น โดยจะมีการแบ่งเป็นกลุ่มที่จะเข้ามาซ้อมในแต่ละช่วง
– อุปกรณ์ทุกอย่างต้องมีการผ่านการฆ่าเชื้อทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นลูกฟุตบอล เสาประตู หรือธงมุมสนาม
การขับเคี่ยวระหว่างเรอัล มาดริดและบาร์เซโลนา มีโอกาสจะกลับมาดำเนินต่อ
ลาลีกา (กำหนดการกลับมาแข่ง: คาดว่าวันที่ 12 มิถุนายน)
ในขณะที่พรีเมียร์ลีกเต็มไปด้วยปัญหาที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ทางด้านลาลีกา สเปน ซึ่งเดิมถูกประเมินว่า เป็นลีกที่ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศรุนแรงเป็นอันดับต้นๆ ของยุโรป กลับใช้เวลาไม่นานในการหาทางที่จะกลับมา
โดยล่าสุดทางด้าน ฆาเบียร์ เตบาส ประธานลาลีกา คาดหวังว่า ฟุตบอลสเปนจะกลับมาได้ภายในวันที่ 12 มิถุนายน และในสัปดาห์ที่ผ่านมาทางด้านสโมสรในลาลีกาได้เริ่มต้นกลับมาซ้อมแบบกลุ่มใหญ่กลุ่มละ 10 คนได้แล้ว ซึ่งหมายความว่า มีโอกาสที่จะกลับมาได้เร็วกว่าพรีเมียร์ลีกแน่นอน
สิ่งที่ทำให้ลาลีกามีโอกาสกลับมาได้เร็วกว่าเกิดจากความร่วมมือที่ดีระหว่างลาลีกา กับทางรัฐบาลสเปน โดยรัฐบาลเชื่อว่า กีฬาเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจที่จะต้องพยายามฟื้นคืนกลับมาให้ได้ ทำให้มีการผลักดันและร่วมมืออย่างเต็มที่ มีการติดตามให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
อีกจุดที่สำคัญคือ การที่ลาลีกาและสหพันธ์ฟุตบอลสเปน (RFEF) ซึ่งเดิมมีความขัดแย้งกัน เลือกที่จะวางความขัดแย้งลง และหันมาร่วมมือกันในการฟื้นฟุตบอลแดนกระทิงดุอีกครั้ง ทำให้แม้แต่เรื่องของการจัดแข่งฟุตบอลในคืนวันจันทร์ที่เคยขัดแย้งกันรุนแรง ก็ได้รับการมองข้ามไปก่อน โดยเมื่อกลับมาแข่งขันแล้วจะมีการจัดให้แข่งทุกวัน และคาดหวังว่า จะจบฤดูกาลได้ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม เพื่อให้สโมสรที่มีกำหนดการแข่งในรายการของ UEFA ได้เตรียมความพร้อม
ทางด้านลาลีกาได้ส่งเอกสารเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่มีความยาวทั้งสิ้น 34 หน้า ให้กับแต่ละสโมสรได้พิจารณา ขณะที่ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของนักฟุตบอล ทางด้านเตบาสเป็นคนแรกที่ได้มีการนำผลศึกษาของ Aarhus University และ University of Southern Denmark มาเปิดเผย และการันตีว่า โอกาสที่จะมีการติดเชื้อในสนามฟุตบอลมีจำนวนน้อยมาก
มาตรการบางส่วนของลาลีกา
– ทุกสนามที่มีการแข่งขันจะอนุญาตให้มีคนมาสูงสุดแค่ 197 คน โดยแบ่งออกเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนสีเขียว โซนสีฟ้า ที่อยู่ในสนาม และโซนสีแดงที่อยู่นอกสนาม ห้ามแฟนบอลเข้ามาในบริเวณสนามเด็ดขาด
– ในโซนสีเขียวจะได้รับอนุญาตแค่ 94 คน โดยมีนักฟุตบอล 22 คนในสนาม 18 คนที่เป็นตัวสำรอง 16 คนที่เป็นโค้ชและทีมแพทย์, เจ้าหน้าที่กาชาด 6 คน, ตำรวจ 6 นาย นอกนั้นคือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ช่างภาพทีวี, ผู้ตัดสิน VAR และเจ้าหน้าที่สนาม
– ทีมเจ้าบ้านจะต้องมาถึงสนามก่อน โดยผู้เล่นแต่ละคนจะมีกำหนดเวลาในการที่จะต้องมาถึงสนาม จากนั้นจึงเป็นทีมเยือน โดยผู้เล่นจะนั่งแค่คนเดียวในแถวของเบาะรถบัส หากมีจำนวนคนเกิน 25 คน จะต้องแยกใช้รถ 2 คัน ทีมเยือนได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำหรือรถไฟเพื่อเดินทาง นอกจากนี้จะต้องรักษาระยะห่างระหว่างที่พักในโรงแรม และมีการจัดเตรียมอาหารแยกเฉพาะคน
– นักฟุตบอลจะต้องมีการตรวจหาเชื้อ 24 ชั่วโมงก่อนแข่งขัน และจะต้องได้รับใบอนุญาตจึงจะสามารถลงแข่งได้
– ห้องพักของนักกีฬาจะต้องได้รับการฆ่าเชื้อและมีการปิดผนึกก่อนแข่ง 24 ชั่วโมง โดยเจ้าหน้าที่ดูแลชุดแข่งขันจะมาเปิดถุงพลาสติกก่อนแข่งแค่ 3 ชั่วโมง
– อุณหภูมิในห้องแต่งตัวควรจะอยู่ที่ 21 องศาเซลเซียล และมีระดับความชื้น 50-60 เปอร์เซ็นต์
– นักฟุตบอลสามารถฉลองประตูร่วมกันได้
คริสเตียโน โรนัลโด กลับมารายงานตัวฝึกซ้อมอีกครั้ง หลังกักตัว 14 วัน นับตั้งแต่เดินทางกลับจากบ้านเกิดที่โปรตุเกส
เซเรีย อา (ยังไม่มีกำหนดในการกลับมาแข่งขัน)
ภาพของ คริสเตียโน โรนัลโด ที่กลับมายกนิ้วโป้งให้แก่ช่างภาพและแฟนๆ ที่รอคอยที่หน้าศูนย์ฝึกของยูเวนตุส เป็นภาพที่สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่วงการฟุตบอลอิตาลีอย่างมาก
อย่างไรก็ดี เซเรีย อา อิตาลี ยังไม่สามารถที่จะระบุชัดได้ว่าจะสามารถกลับมาแข่งขันได้เมื่อไร หรือจะสามารถกลับมาแข่งขันได้หรือไม่ โดยทางด้าน วินเชนโซ สปาดาฟอรา รัฐมนตรีกระทรวงกีฬาอิตาลี เผยว่า จะมีการเรียกประชุมใหญ่ในวันที่ 28 พฤษภาคม ร่วมกับ เปาโล ดัล ปิโน ประธานเซเรีย อา และ กาบริเอเล กราวินา ประธานสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี
วันนั้นจะเป็นวันที่ตัดสินว่า เซเรีย อา จะกลับมาได้หรือไม่ และถ้ากลับมาได้ควรจะกลับมาแข่งขันเมื่อไร
ก่อนหน้านี้เซเรีย อาคาดหวังว่า จะกลับมาได้ในช่วงวันที่ 13 มิถุนายน แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากรัฐบาลยังห้ามจัดการแข่งขันกีฬาจนกว่าจะถึงวันที่ 14 มิถุนายน ซึ่งนั่นหมายความว่า กำหนดการที่เร็วที่สุดที่ฟุตบอลอิตาลีจะกลับมาได้คือ วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน
ส่วนกำหนดการปิดฤดูกาลมีการตกลงกันล่าสุดว่า จะต้องไม่เกินวันที่ 20 สิงหาคม เพื่อที่จะได้เริ่มต้นฤดูกาลใหม่ภายในวันที่ 1 กันยายน
แต่หากการกลับมาถูกระงับอีกจากรัฐบาล จะมีการหารือร่วมกันระหว่างเซเรีย อาและสหพันธ์ เพื่อหาวิธีตัดสินอันดับในฤดูกาลนี้ โดยอาจจะมีการจัดแข่งเพลย์ออฟเพื่อหาแชมป์, หาทีมไปรายการสโมสรยุโรป และหาทีมตกชั้น
ระหว่างนี้นักฟุตบอลได้เริ่มกลับมารายงานตัวฝึกซ้อมแล้ว โดยเป็นการฝึกซ้อมแบบเดี่ยว ซึ่งจะใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ และมีการอนุญาตให้กลับมาฝึกซ้อมแบบกลุ่มแล้ว โดยที่ทุกฝ่ายยืนยันว่า ต้องการที่จะกลับมาแข่งขันต่อให้จบฤดูกาล
มาตรการบางส่วนของเซเรีย อา
– นักฟุตบอลและสตาฟฟ์จะมีการตรวจหาเชื้ออย่างต่อเนื่อง จะมีการตรวจครั้งแรกก่อนซ้อมกลุ่ม 3 วัน, อีกครั้งในวันที่กลับมาซ้อม และหลังจากนั้นจะมีการตรวจทุก 4 วัน โดยจะมีการตรวจเลือดด้วยในทุก 14 วัน
– หากมีการตรวจพบการติดเชื้อ นักฟุตบอลหรือสตาฟฟ์ที่ติดเชื้อจะต้องกักตัว ในขณะที่คนอื่นๆ ยังสามารถซ้อมได้ แต่จะต้องเพิ่มการตรวจเข้าไปอีก และไม่อนุญาตให้นักฟุตบอลมีการสัมผัสกับคนอื่นนอกจากทีมในช่วง 14 วัน จากนั้นเมื่อกลับมาซ้อมแล้วจะต้องมีการตรวจหาเชื้ออีกทุก 48 ชั่วโมง
โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ประเดิมชัยชนะสวยหรูในรูร์ ดาร์บี เหมือนบุนเดสลีกาที่เริ่มต้นการกลับมาอีกครั้งได้อย่างสวยงาม
บุนเดสลีกา (กลับมาแข่งขันได้แล้ว)
บุนเดสลีกากลับมาแข่งขันได้แล้วเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากจากการจัดการแข่งขันที่เรียบร้อย
สิ่งที่หลายคนกังวลคือ การติดเชื้อของนักฟุตบอล ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อเพิ่มหลังจากแข่งขันแต่อย่างใด แต่ก็มีการเตือนในกรณีของการไม่รักษาระยะห่าง เช่น กรณีนักฟุตบอลของทีมฮอฟเฟนไฮม์ที่ลืมตัวฉลองประตูร่วมกัน
ส่วนเรื่องของแฟนบอลที่มีความกังวลว่าจะมีการฝ่าฝืนมาที่สนามหรือไม่ ก็ปรากฏว่า ไม่มีแฟนบอลมาที่สนามแต่อย่างใด เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคมได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกัน ทางด้านบุนเดสลีกาได้มีการเปิดเผยโปรแกรมการแข่งขันเพิ่มเติม 2 นัดหลังจากนี้ ซึ่งรวมถึงเกมสำคัญอย่าง Der Klassiker ระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และบาเยิร์น มิวนิก ที่จะเป็นเกมตัดสินแชมป์ในฤดูกาลนี้ได้เลยทีเดียว ซึ่งการแข่งในสัปดาห์แรกของการกลับมา ยอดผู้ชมของบุนเดสลีกาสูงขึ้นอย่างมาก
สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือ เวลานี้บุนเดสลีกาคือลีกที่เป็น ‘ต้นแบบ’ ของทั้งโลก ในการกลับมาแข่งขันฟุตบอลอีกครั้งในยุคโควิด-19
ลีกอื่นๆ ที่จะกลับมาแข่งขัน
พรีเมรา ลีกา (โปรตุเกส) ลีกโปรตุเกสประสบปัญหาในการกลับมาแข่งขันอยู่บ้างจากสถานการณ์ภายในประเทศ แต่ล่าสุดแผนการกลับมาคือวันที่ 4 มิถุนายน โดยจะเป็นการแข่งในสนามปิดเช่นกัน
ซูเปอร์ลีกา (เดนมาร์ก) ลีกแดนโคนมจะกลับมาแข่งขันต่อในวันที่ 28 พฤษภาคม และจะปิดฉากให้ได้ภายในวันที่ 29 กรกฎาคม
ซูเปอร์ลีก (ตุรกี) สหพันธ์ฟุตบอลตุรกีประกาศจะกลับมาแข่งขันต่อในวันที่ 12 มิถุนายน
ลีกที่ไม่มีการแข่งขันต่อ
ลีก เอิง (ฝรั่งเศส) ยกเลิกการแข่งขันที่เหลือ หลังรัฐบาลประกาศห้ามจัดการแข่งขันกีฬาจนจบเดือนสิงหาคม โดยใช้การคิดคะแนนเฉลี่ยต่อนัด (Points-Per-Game) ตัดสินอันดับ ทำให้ปารีส แซงต์ แชร์กแมงได้แชมป์สมัยที่ 7 ในรอบ 8 ปี ไปครอง แต่ก็มีปัญหา เมื่อทีมที่เสียประโยชน์อย่างโอลิมปิก ลียง ที่อดไปรายการสโมสรยุโรป และอาเมียงส์ที่ถูกตัดสินตกชั้น จะดำเนินคดีเรียกร้องความยุติธรรม
เอเรอดิวิซี (เนเธอร์แลนด์) ลีกดัตช์ประกาศยกเลิกการแข่งขัน โดยไม่มีการตัดสินแชมป์ และไม่มีการเลื่อนชั้น-ตกชั้น มีเพียงการมอบสิทธิ์ให้ทีมที่ได้ไปสโมสรยุโรปเท่านั้น ซึ่งทีมที่ลุ้นแชมป์อย่างอาแซด อัล์กมาร์ ไม่พอใจกับการตัดสินนี้ และพิจารณาจะดำเนินคดีเช่นกัน
จูปิแลร์ โปร ลีก (เบลเยียม) ลีกเบลเยียมเป็นลีกยุโรปชาติแรกที่มีการประกาศว่าจะไม่มีการแข่งขันต่อ เหตุผลเนื่องจากเหลือโปรแกรมในช่วงฤดูกาลปกติอีกแค่นัดเดียว ที่เหลือจะเป็นเกมเพลย์ออฟตัดสินต่างๆ โดยมีการประกาศในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่จะยกแชมป์ให้คลับ บรูกก์ที่นำโด่ง 15 คะแนน
พรีเมียร์ชิป (สกอตแลนด์) สกอตติช พรีเมียร์ชิปถูกตัดจบเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยใช้วิธีคิดคะแนนเฉลี่ยต่อนัด ทำให้กลาสโกว์ เซลติกได้เป็นแชมป์สมัยที่ 9 ติดต่อกัน ขณะที่ฮาร์ทส สโมสรเก่าแก่ ต้องตกชั้นอย่างน่าเศร้า และเตรียมจะฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- https://www.skysports.com/football/news/12040/11974437/coronavirus-what-is-the-state-of-play-in-europes-top-leagues
- https://www.theguardian.com/football/2020/may/18/la-liga-plans-for-197-people-to-attend-games-but-no-restriction-on-celebrations
- https://www.marca.com/en/football/international-football/2020/05/14/5ebd7dc546163fea878b45f7.html
- https://www.skysports.com/football/news/12961/11990543/cristiano-ronaldo-to-return-to-juventus-training-as-clubs-near-group-training-return
- https://www.skysports.com/football/news/12961/11990543/cristiano-ronaldo-to-return-to-juventus-training-as-clubs-near-group-training-return
- https://forzaitalianfootball.com/2020/05/new-medical-protocol-for-serie-a-agreed/
- https://www.skysports.com/football/news/11854/11991801/coronavirus-serie-a-set-august-20-finish-date-and-september-1-start-for-new-season
- https://www.sportspromedia.com/news/bundesliga-return-sky-deutschland-fox-sports-record-viewership-coronavirus
- https://www.telegraph.co.uk/football/0/when-football-premier-league-return-matches-training-testing/
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ได้ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum