×

เกียรตินาคินเผย ศักยภาพการหากำไรของ บจ. ลดลงเกือบครึ่ง ทำต่างชาติเทขายหุ้นไทย 7 แสนล้านบาท ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

06.09.2023
  • LOADING...
ณชา อนันต์โชติกุล และ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคินภัทร เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างของตลาดทุนไทยที่เปลี่ยนไปในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา โดยหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสำคัญและเป็นสาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นมีเสน่ห์ลดลงคือ บริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) มีความสามารถในการทำกำไรลดลง โดยค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ของ บจ.ไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ลดลงจาก 16.5% มาเหลือเพียง 8.3% 

 

ณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่าย KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ROE โดยเฉลี่ยของ บจ.ไทยค่อยๆ ลดลงจาก 16.5% ช่วงปี 2546-2551 มาเหลือประมาณ 11-12.7% ในระหว่างปี 2552-2561 ก่อนที่ตัวเลขดังกล่าวจะลดลงมาเหลือ 8.3% ในช่วงปี 2562-2565 

 

ด้วยความสามารถในการทำกำไรที่ลดลง เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ราว 7 แสนล้านบาท 

 

“ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติออกจากหุ้นไทย เพราะมีทางเลือกใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น เช่น ตลาดหุ้นจีนที่เติบโตหลังการเปิดประเทศ รวมทั้งตลาดหุ้นในประเทศเอเชียเหนือที่น่าสนใจมากขึ้น โดยเปรียบเทียบแล้วทำให้ต่างชาติมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า”​ ณชากล่าว

 

ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงนี้เป็นผลจากโครงสร้างธุรกิจในตลาดหุ้นไทยที่ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ใน Old Economy โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรกของไทยในปัจจุบัน สะท้อนว่าบริษัทไทยไม่ได้ปรับตัวเร็วนักเมื่อเทียบกับเทรนด์ของโลก 

 

ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นไทยช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับผลตอบแทนรวม (Total Return) ของตลาดหุ้นในกลุ่มพัฒนาแล้ว (MSCI World) โดย 10 ปีที่ผ่านมา SET ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี เทียบกับ MSCI World ที่ 14% ต่อปี และ 5 ปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1% ต่อปี เทียบกับ 10% ต่อปี 

 

“หากเทียบให้เห็นภาพง่ายขึ้น ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หากเราลงทุนในหุ้นไทย 100 บาท เงินดังกล่าวจะกลายเป็น 135 บาท แต่ถ้าลงทุนใน MSCI World จะกลายเป็น 217 บาท” 

 

อย่างไรก็ตาม หากมองภาพระยะยาว 20 ปี จะเห็นว่า SET ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 22% ต่อปี สูงกว่า MSCI World ที่ 19% ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่หุ้นไทยเพิ่งจะผ่านวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ดัชนีเริ่มต้นจากฐานที่ค่อนข้างต่ำ 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้การทำกำไรจากหุ้นไทยจำเป็นต้องอาศัยการเลือก (Selective) มากขึ้น โดยบางกลุ่มอุตสาหกรรมยังคงเติบโตได้ค่อนข้างดี เช่น กลุ่มการแพทย์ กลุ่มพาณิชย์ กลุ่มขนส่ง และกลุ่มสาธารณูปโภค เป็นต้น หรือบางธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงเมื่อเทียบกับบริษัทต่างประเทศ

 

ด้าน พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บล.เกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า การพัฒนาตลาดทุนไทยต่อจากนี้เป็นโจทย์เดียวกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งต้องอาศัยการแก้ไขเชิงโครงสร้าง แรงต้านที่สำคัญต่อการพัฒนาของไทยคือโครงสร้างประชากรวัยทำงานที่กำลังลดลง 

 

“โจทย์สำคัญคือเราจะทำอย่างไรเพื่อเพิ่ม Productivity ของคนให้มากขึ้น การคิดว่าจะดึงการลงทุนแบบใดเข้ามาเพื่อให้ช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโต รวมทั้งทบทวนเรื่องนโยบายการเปิดรับคน ทุกวันนี้เราเห็นแรงงานทั่วไปเข้ามาเยอะมาก แต่กลับกีดกันไม่ให้แรงงานทักษะสูงเข้ามา” 

 

อย่างไรก็ดี ตลาดทุนไทยยังมีจุดแข็งในเรื่องมูลค่าซื้อขายและสภาพคล่องที่ยังสูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน แม้ว่าสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของต่างชาติจะลดลงจากกว่า 30% มาเหลือ 28% แต่สัดส่วนการซื้อขายของต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 50% ของทั้งตลาด 

 

“สภาพคล่องที่สูงอาจเป็นมรดกจากในอดีตที่ตลาดหุ้นไทยเกิดมาก่อนหลายตลาดในภูมิภาค และมีบริษัทที่หลากหลาย แต่ระยะหลังเราเสียความน่าสนใจไปมาก เพราะไม่มีของใหม่มากนัก” 

 

พิพัฒน์กล่าวต่อว่า หากตลาดทุนจะดีได้ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วนคือ 1. สภาพคล่องสูง-ต้นทุนต่ำ และ 2. บริษัทที่เติบโต ซึ่งปัจจุบันเราจำเป็นจะต้องหาหุ้นใหม่ๆ ที่มีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น ต้องผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโต และต้องทำให้ตลาดมีความน่าเชื่อถือ

 

“ในอดีตนักลงทุนไทยอาจจะมี Home Bias หรือชอบลงทุนกับหุ้นในประเทศ แต่ด้วยผลตอบแทนของหุ้นไทยกับต่างประเทศที่ต่างกันมากขึ้น ทำให้นักลงทุนเริ่มออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง” 

 

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับโครงสร้างตลาดทุนที่เปลี่ยนแปลงไปคือ เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ปัจจุบันการส่งคำสั่งซื้อขายโดยใช้ Algo Trading เพิ่มขึ้นจาก 23% เมื่อปี 2562 มาเป็น 38% ในปีนี้ 

 

ที่ผ่านมาเรามักได้ยินถึงความกังวลที่ว่า Algo Trading จะกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยทั่วไป แต่ในความเป็นจริงแล้วการเข้ามาของ Algo Trading ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาด และช่วยลดความผันผวนในระยะสั้น นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ คือ ทำให้ราคาของแต่ละสินทรัพย์เคลื่อนไปตามจุดที่เหมาะสม

 

ส่วนนักลงทุนที่อาจจะได้รับผลกระทบคือ กลุ่มที่ใช้กลยุทธ์เดียวกันกับ Algo Trading แต่อาจจะไม่สามารถทำได้เร็วหรือมีประสิทธิภาพมากในระดับเดียวกัน 

 

สำหรับเทรนด์ของการใช้ Algo Trading มาช่วยในการส่งคำสั่งซื้อขายน่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามเทรนด์โลก และการที่นักลงทุนหันมาลงทุนกับ Passive Fund มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้กองทุนประเภท Exchange Traded Fund (ETF) ต่างใช้โปรแกรมมาช่วยส่งคำสั่งแทนคน เนื่องจากทำได้เร็วกว่า ถูกต้องมากกว่า และต้นทุนต่ำกว่า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X