×

หม่อมอุ๋ย ปาฐกถาชี้ชีวิตยุคดิจิทัลก้าวหน้า แต่การเมืองไทยถอยหลัง เตือนฝ่ายปกครองเปิดใจ ใช้ความเฉลียวฉลาดมากกว่านี้

โดย THE STANDARD TEAM
05.07.2019
  • LOADING...

ในโอกาสครบรอบ 22 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ‘มาตรฐานความเป็นมืออาชีพของสื่อมวลชนในยุคดิจิทัล’ โดยระบุว่า ในยุคดิจิทัล เราติดต่อกันได้เร็วขึ้นทุกรูปแบบ การหาข้อมูลก็ง่ายสะดวก เกิด AI หรือสมองเทียม ซึ่งมาช่วยทำในสิ่งที่คิดว่าจะทำไม่ได้มาก่อน เราก้าวหน้าไปไกลมาก และประเทศไทยเองได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมาก

 

อย่างไรก็ตาม ​สิ่งที่น่าเสียใจในการใช้ชีวิตก้าวหน้า แต่ก็มีสิ่งที่ถอยหลังไป 50 ปี คือการเมืองไทย ซึ่งน่าเศร้า รู้สึกเหมือนตอนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ​ปี 2510​ ก่อนช่วง 2514 และ 2519 โดยสิ่งที่มีความรู้สึกเหมือนกันคือ ​กลุ่มผู้ปกครองที่เป็นทหาร ทำไมถึงมีอภิสิทธิ์เหนือประชาชนคนธรรมดา และตอนนั้นมีเหตุขวากระแทกซ้าย ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วง ไม่อยากให้เลยเถิดไปกว่านี้อีกเลย อยากให้ฝ่ายปกครองที่เป็นพี่ใหญ่ใช้ความเฉลียวฉลาดให้มากกว่านี้

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ในอดีตเคยเจอ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สมัยเป็นนายกฯ ท่านบอกเพิ่งกลับมาจากการพบกรรมการจากสมุทรสาคร โดยคนที่พามาก็เป็นอดีตผู้นำนักศึกษา ซึ่งบอกว่าเราต้องให้เกียรติเขา ส่วนตัวก็อยากให้ผู้ปกครองคิดอะไรแบบนี้ เปิดกว้างรับฟัง เห็นเป็นคนไทย​ด้วยกัน ไม่ใช่คิดว่าเขาจะมาคิดทำลายชาติ เขาอาจจะก้าวหน้าไปนิดคิดไม่ทัน ​หรือหากคิดไม่ดีก็พัง ก็เตือนเพราะเป็นคนไทยด้วยกัน ไม่อยากให้ไปไกลกว่านี้ ทางแก้ทางเดียว ฝ่ายปกครองที่เป็นผู้ใหญ่ต้องใจเย็น มีสติเปิดใจให้กว้าง​

 

นอกจากนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังกล่าวว่า ​ในโลกดิจิทัลทุกอย่างสะดวกรวดเร็ว แต่ความสะดวกก็ต้องปรับตัว ​ซึ่งทุกท่านเข้าใจการปรับตัว โดยเห็นได้จาก 1. สื่อที่รีบตั้งเว็บไซต์ของตัวเอง ​เพราะเป็นช่องทางของโอกาสในการส่งข่าวสาร ​2. ทันทีที่เกิดเหตุก็สามารถนำเสนอเหตุการณ์ได้ทันที รวดเร็วต่างกันไม่กี่วินาที 3. หลังจากนั้นไม่นาน ก็ไปหาข้อมูลว่าเรื่องนั้นส่งลกระทบถึงใคร มีผลดี ผลสืบเนื่องอย่างไร ถือเป็นการปรับตัวที่ดี และ 4. ในส่วนของหนังสือพิมพ์ฉบับวันรุ่งขึ้น ​หากทำเหมือนกันที่ปรากฏในดิจิทัลแล้วคนก็จะเริ่มไม่อ่าน แต่ก็เห็นการปรับตัวของบางฉบับที่นำเสนอในรูปแบบสรุปประมวลเหตุการณ์ ซึ่งใครปรับตัวเองได้ก่อนก็สร้างความได้เปรียบ ​

 

นอกจากนี้ ยังมีของแถมในโลกดิจิทัล คือสิ่งที่ประชาชนประสบและถ่ายทอดผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งกลายเป็นแหล่งของข้อมูลในเหตุการณ์ ​เมื่อนักข่าวเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบจิตใจ ​เขาก็นำไปลงข่าว ​​ต่างจากเดิมที่ไม่มีแหล่งโซเชียลมีเดีย ​จากนั้นก็เริ่มนำไปสู่การสืบสวนต่อว่าเป็นอย่างไร เกิดจากอะไร มีผลดีผลเสียอย่างไร

 

“จะดีมากถ้าเราสามารถทำต่อไป จนถึงจุดที่แก้ปัญหาให้เขาด้วย เช่น รายการของ กิตติ สิงหาปัด เดินเรื่องจากประชาชน และเดินต่อไปสู่การแก้ปัญหา ตรงนี้เป็นหน้าที่ยิ่งใหญ่ ถ้าทำได้ก็จะเป็นคุณ เป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับหนังสือพิมพ์ ซึ่งหน้าที่ของสื่อมวลชนคือการทำความจริงให้ปรากฏ ถ้าคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม สื่อไปทำความจริงให้ปรากฏ เขาก็จะได้รับความเป็นธรรม ​ตรงนี้เป็นโอกาสใหม่ที่มาจากข่าวของประชาชน ผ่านการถ่ายคลิปแต่ต้องระมัดระวังไม่ให้มีการใช้ท่านเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกัน ดังนั้นก่อนหยิบมาเสนอต้องเช็กให้แน่ชัดว่าเป็นเรื่องจริง ซึ่งตรงนี้คงระวังอยู่แล้ว เพราะไม่อยากหน้าแตก” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว ​

 

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวอีกว่า​ มาตรฐานความเป็นมืออาชีพในโลกดิจิทัลเป็นอย่างไรนั้น จะเห็นว่าจะโลกดิจิทัลหรือไม่ใช่ ความเป็นมืออาชีพไม่ต่างกัน เพราะหน้าที่สื่อมวลชนคือทำความจริงให้ปรากฏ มีคุณธรรม​ ไม่เอียงไปทำลายคนนั้น ไม่ประจบคนนี้ ​สองต้องมีความรอบคอบ ตรวจสอบข่าวว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เพราะดิจิทัลอาจพลาดง่าย ​การทำงานที่รวดเร็ว ก็ต้องมีเรื่องของจริยธรรม จรรยาบรรณ

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X