วันนี้ (13 มกราคม) สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกรณีราคาสินค้าบริโภคที่พุ่งสูงว่า รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีพยายามแก้ไขปัญหาอยู่ และต้องดูด้วยว่าสินค้าแพงนั้นอยู่ในสินค้าใดและปัจจัยใด ซึ่งรัฐบาลได้หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยมาโดยตลอดเรื่องอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมาย ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และการพยากรณ์ของหลายสถาบัน ก็เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ 1-3% จะดูเฉพาะเจาะจงบางสินค้าไม่ได้ ทั้งนี้มีการเตรียมรับมือและไม่ได้มีการประมาทแต่อย่างใด ซึ่งบางส่วนที่ตรึงไว้ได้ก็ตรึง แต่บางส่วนก็ต้องเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี แต่ต้องพยายามเพิ่มการผลิตให้มากขึ้นในกรณีที่เกิดความขาดแคลน พร้อมกับย้ำว่าไม่อยากให้ประชาชนไปเฝ้ามองเพียงราคาสินค้าใดสินค้าหนึ่ง
ส่วนหากอัตราเงินเฟ้อขยับกรอบเข้าใกล้แตะเพดานในอัตรา 3% จะเรียกประชุมฉุกเฉินหรือไม่นั้น สุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ขอให้รอเกิดกรอบเกินขึ้นก่อน และติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลมีความห่วงใย และนายกรัฐมนตรีเองก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อยู่แล้วและจะติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะประชุมกับกระทรวงการคลังอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ละเลย แต่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และก็ได้เห็นในหลายเรื่องที่รัฐบาลพยายามตรึงราคา เพื่อไม่ให้ผลกระทบกับเรื่องนี้เกิดขึ้นในวงกว้าง และคิดว่าสถานการณ์เป็นเรื่องชั่วคราว การตรึงราคาบางส่วนจึงเป็นประโยชน์และทำให้ไม่เกิดการตื่นกระแสมากเกินไป จนกระทั่งผู้ประกอบการตัดสินใจขึ้นราคาสินค้า
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องมีมาตรการทางการคลังหรือมาตรการคนละครึ่งมาช่วยหรือไม่นั้น สุพัฒนพงษ์ระบุว่า ขณะนี้ได้มีกำหนดการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังในการประเมินสถานการณ์ คงไม่ได้ดูสถานการณ์เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ต้องดูสถานการณ์โลกด้วย ขณะที่ช่วงโควิดที่ผ่านมาการผลิตมีการชะลอตัว เนื่องจากการลงทุน การแพร่ระบาด การล็อกดาวน์ ผู้ประกอบการจึงยังไม่กล้าขยายกำลังการผลิต และบางส่วนของสินค้าก็ยังมีการระงับจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีหลายปัจจัยหลายอย่างเป็นองค์ประกอบ แต่ก็ยังถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว การผลิตน่าจะมีมากขึ้นหากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังสามารถควบคุมได้ดี หรือประเทศการผลิตเปิดประเทศแล้ว ก็จะเดินหน้าการผลิตกลับสู่สภาพเดิมได้
ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่ว่าคนละครึ่งเฟส 4 จะเร่งให้เร็วขึ้นนั้น สุพัฒนพงษ์ย้ำว่าเป็นไปได้หมด แต่ต้องประเมินอีกครั้งหนึ่ง หรืออาจจะมีมาตรการอื่นๆ ก็ได้ ขณะนี้กำลังดูอยู่อีกหลายมาตรการ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้มีการตั้งข้อเสนอว่ารัฐบาลจำเป็นที่จะต้องใช้เงินก้อนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สุพัฒนพงษ์ระบุว่า เป็นเรื่องที่ทางสภาพัฒน์ได้ศึกษาการสร้างเศรษฐกิจพื้นฐานให้กับท้องถิ่นให้มากที่สุด