×

ทั่วโลกกำลังเผชิญภาวะสมองไหล ผลสำรวจชี้ คนทำงาน 63% จาก 180 ประเทศ อยากย้ายไปทำงานต่างประเทศ

16.08.2024
  • LOADING...

จากการรวบรวมข้อมูลร่วมกันระหว่างกลุ่มบริษัท SEEK Thailand, Boston Consulting Group (BCG) และ The Network เกี่ยวกับเทรนด์และแนวโน้มการย้ายงานจากผู้หางานทั่วโลกปี 2567 โดยสำรวจความเห็นจากผู้ร่วมตอบแบบสำรวจ 1.5 แสนคน จาก 180 ประเทศ

 

ดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ Jobsdb by SEEK Thailand กล่าวว่า หลายประเทศมีโอกาสจะสูญเสียแรงงานศักยภาพจากเทรนด์การย้ายไปทำงานต่างประเทศ หรือเรียกว่า ‘ภาวะสมองไหล’

 

ผลสำรวจพบว่า 63% ของคนทั่วโลกสนใจย้ายถิ่นฐานการทำงานไปยังต่างประเทศ และมีถึง 66% ที่สนใจทำงานผ่านระบบออนไลน์นอกสถานที่ โดยมี 3 ปัจจัยที่ทำให้คนกลุ่มนี้อยากย้ายถิ่นฐานการทำงาน ได้แก่

  1. เพิ่มโอกาสหางาน
  2. พัฒนาคุณภาพชีวิต
  3. สร้างรายได้ที่สูงขึ้น

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ผลสำรวจยังบอกอีกว่า จากคนที่สนใจย้ายถิ่นฐานทำงานไปยังต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุ 20-30 ปี คิดเป็นสัดส่วน 73% รวมทั้งกลุ่มคนที่มีตำแหน่งงานระดับผู้บริหารเป็นต้นไป สัดส่วน 71% และกลุ่มคนที่มีความรู้และวุฒิการศึกษาสูงกว่ามัธยมศึกษาขึ้นไป สัดส่วน 67%

 

ดวงพรมองว่าข้อมูลนี้บ่งบอกถึงสภาวะ ‘สมองไหล’ หรือการหายไปของบุคลากรที่มีศักยภาพของประเทศ เพราะคนส่วนใหญ่ที่อยากไปทำงานในต่างประเทศเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาสูง หรือมีประสบการณ์บริหารงานในระดับสูงมาแล้ว

 

สำหรับคนไทย ความต้องการออกไปทำงานต่างประเทศมีอัตราที่ลดลงจาก 84% ในปี 2561 ลงมาที่ 66% ในปี 2566 ซึ่งตัวเลขนี้ดวงพรวิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นเพราะช่วงวิกฤตโควิดทำให้คนไทยหลายคนเลือกที่จะกลับมาอยู่ในประเทศไทย

 

อย่างไรก็ตาม สัดส่วน 66% ยังเป็นอัตราที่สูง และยิ่งกลุ่มคนที่ต้องการออกไปทำงานในต่างประเทศเป็นวัยรุ่น สัดส่วน 79% และกลุ่มที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป สัดส่วน 66% ทำให้ไทยมีโอกาสสูญเสียแรงงานศักยภาพจำนวนไม่น้อย

 

โดยหมวดหมู่งานที่คนกลุ่มนี้สนใจออกไปทำมากที่สุด 3 ลำดับ ได้แก่ หมวดการศึกษาและการอบรม หมวดกฎหมายและการบริหารจัดการธุรกิจ และหมวดเทคโนโลยี

 

ดวงพรกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกัน ปัญหาหลักที่ทำให้คนไทยบางส่วนไม่สามารถย้ายไปทำงานในต่างประเทศได้คือความสามารถด้านภาษา เพราะคนส่วนใหญ่จะพูดได้แค่ภาษาไทย ถึงแม้ว่าคนไทยจะมีความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ แต่ถ้าหากสื่อสารไม่ได้ การหางานในต่างประเทศก็จะเป็นไปได้ยาก และหากมีแรงงานต่างชาติเข้ามาแย่งงานอาจเป็นปัญหาต่อภาคแรงงาน

 

นอกจากนี้ คนไทยถึง 41% ไม่มีความสุขกับงาน เพราะงานไม่ตรงกับสายที่ถนัดและได้เงินเดือนน้อย เฉลี่ยประมาณ 13,000 บาทต่อเดือน และมีเพียง 18% ที่มีความสุขกับงานที่ทำเพราะมีรายได้สูง

 

รายงานดังกล่าวยังได้ระบุถึง 10 อันดับเมืองที่คนสนใจย้ายไปทำงานมากที่สุดคือ ลอนดอน, อัมสเตอร์ดัม, ดูไบ, อาบูดาบี, นิวยอร์ก, เบอร์ลิน, สิงคโปร์, บาร์เซโลนา, โตเกียว และซิดนีย์ ตามลำดับ ซึ่งประเทศไทยอยู่อันดับที่ 31 ในปี 2566 เพิ่มขึ้นมาจากอันดับที่ 39 ในปี 2564 โดยมีจุดเด่นในการดึงดูดแรงงานหลักๆ อยู่ 3 ประเด็น คือ คุณภาพชีวิต การต้อนรับจากสังคมและวัฒนธรรม และค่าครองชีพ

 

ดวงพรกล่าวเสริมว่า หากเทียบกับประเทศในอาเซียน ประเทศไทยตอบโจทย์ใน 3 ข้อนี้มากที่สุด และเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวต่างชาติประทับใจและต้องการใช้ชีวิตในประเทศไทยนานขึ้น และได้ยกตัวอย่างผู้บริหารของบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่งในประเทศไทยที่ถูกเรียกตัวกลับไปประจำการที่ประเทศญี่ปุ่น เขามีความรู้สึกเสียใจเป็นอย่างมากและไม่ต้องการกลับไปทำงานในญี่ปุ่น เพราะการใช้ชีวิตในไทยค่อนข้างง่าย ค่าครองชีพไม่สูง และสังคมไม่กดดัน

 

และที่สำคัญ โครงสร้างภายในประเทศไทยก็สนับสนุนให้คนต่างชาติเข้ามาใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น โดยมีทั้งป้ายต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ มีอาหารหลากหลายสัญชาติ และจำนวนโรงเรียนนานาชาติที่มีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising