×

ปัญหาสร้างโอกาส

05.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ทีวีที่ว่าจะตาย แม้จะยังพูดกันหนักขึ้น แต่เรายังไม่ได้ตาย และยังพบว่ามีโอกาสอีกมากมายซ่อนอยู่ เมื่อผสมผสานกันดีๆ ระหว่างโลกใบใหม่และโลกใบเดิม ‘ปัญหา’ นำมาซึ่งโอกาสเสมอ
  • เราเลือกที่จะเชื่อตัวเลขบนอินเทอร์เน็ตแทน เพราะเราเชื่อว่ามันเป็นตัวเลขสะท้อนความเป็นจริง เนื่องจากส่วนหนึ่งเราใช้มันอยู่ทุกวันในเกือบทุกๆ เรื่อง ทั้งๆ ที่บนโลกอินเทอร์เน็ตนั้น มันก็สามารถสร้างตัวเลขประชากรให้ใหญ่ขึ้นมาเกินจริงได้
  • ถ้าเราเปิดใจกว้างๆ จะพบข้อมูลอันหลากหลายบนความแตกต่างที่ซ่อนอยู่ ไม่ใช่เรื่องของความฉลาดหรือไม่ฉลาด แต่เป็นพื้นฐานข้อมูลบนความแตกต่างของการรับรู้และความสนใจอันหลากหลาย ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างและเหลื่อมล้ำ ความแตกต่างอย่างสุดขั้วนี้เองของทั้งรายได้ รสนิยม ความชอบ ความสามารถในการจ่าย ฯลฯ นำมาซึ่งความหลากหลายของข้อมูล

ผมเริ่มสนใจเรื่องออนไลน์อย่างจริงจังด้วย 3 เหตุผล

 

และทั้ง 3 เหตุผลล้วนมาจากปัญหา

 

เหตุผลข้อแรก คือหลังการประมูลทีวีดิจิทัลแล้ว การสื่อสารไปยังผู้ชมนั้นยากขึ้น เพราะสื่อสิ่งพิมพ์เกือบครบทุกรายมีช่องทีวีเป็นของตัวเองแล้ว โอกาสที่จะให้ช่วยสื่อสารเนื้อหาของสถานีไปหาผู้ชมนั้นจะถูกจำกัดลง ดังนั้นจึงต้องสร้างช่องทางสื่อสารที่ไม่ใช่ทีวีขึ้นมาเพิ่มเติม

 

เราเริ่มต้นจาก ‘ไลน์’ ซึ่งมีคุณสมบัติคล้าย SMS ในวันนั้น และส่งภาพ ส่งสติกเกอร์ ได้ด้วย ผู้คนจำนวนมากใช้ไลน์

 

จากนั้นเราก็ขยายไปที่เฟซบุ๊กเพื่อสื่อสารกับคนดู

 

สุดท้ายก็ไปที่ยูทูบ, แอปฯ, เว็บไซต์ ฯลฯ

 

ทั้งหมดนี้ในช่วงแรกเป้าประสงค์หลักคือเพื่อการสื่อสารกับคนดู และสิ่งที่ได้เรียนรู้ตามมาคือ วิธีการสื่อสารแบบเข้าถึงผู้คนบนโลก online/mobile

 

เหตุผลข้อที่ 2 คือ เมื่อเราทำรายการทีวี สิ่งที่พบเจอคือเสียงสะท้อนจากลูกค้า ลูกค้าโดยมากอาจไม่ใช่คนดูทั้งหมด

 

สิ่งที่ลูกค้าพูดให้ได้ยินบ่อยๆ คือ รายการดีนะแต่ไม่มีเรตติ้ง รายการมีเรตติ้งนะแต่ไม่มีกระแส? รายการมีกระแสนะแต่ไม่มีเรตติ้ง? ฯลฯ

 

ตัดเรื่องรายการดี-ไม่ดีออกไปก่อน เพราะเป็นเรื่องความชอบและรสนิยมส่วนตัวผสมอยู่มาก

 

เอาเรื่องที่จับต้องได้ก่อน

 

เรตติ้งมีคนวัดชัดเจนว่าเป็นใคร เป็นตัวเลขทางวิทยาศาสตร์ที่อุตสาหกรรมใช้ จะเชื่อ/ไม่เชื่อขนาดไหนอยู่ที่ผู้ซื้อ โดยมากที่เจอมักใช้งานตัวเลขเรตติ้งที่ว่า

 

ถัดมาเป็นเรื่องกระแส? กระแสคืออะไร? มาจากไหน? ทำไมบางรายการเรตติ้งดีแต่ไม่มีกระแส? ทำไมบางรายการมีกระแสแต่ไม่มีเรตติ้ง? ทำไมกระแสของผู้คนบางทีเป็นคนละเรื่องกัน?

 

ด้วยเหตุผลข้อนี้ เราจึงรีบขยายแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มอันหลากหลาย เพราะเป็นพื้นที่ในการถกเถียงและแสดงความคิดเห็น เมื่อพื้นที่กระจายออกไปในวงกว้าง สุดท้ายอาจได้ผลที่เรียกว่า ‘ปากต่อปาก’ จนเป็นกระแสในท้ายที่สุด

 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ตามมาคือ ข้อมูลก้อนใหญ่ ใครสนใจอะไร ถกเถียงกันเรื่องอะไร ฯลฯ

 

เหตุผลข้อสุดท้ายคือ ปัญหาที่ว่าทีวีกำลังจะตาย เสียงนี้ได้ยินมาตลอดตั้งแต่เริ่มทำช่องทีวี หลายคนบอกว่า online/mobile/internet คืออนาคต

 

ปัญหาข้อนี้กวนใจมาก ยิ่งได้พูดคุยกับผู้คนที่เต็มไปด้วยความเชื่อแบบนี้ ยิ่งกวนใจ

 

ทางแก้ที่ดีที่สุดคือ หาคำตอบว่าจริงแท้ขนาดไหน?

 

ด้วยเหตุผลข้อนี้ ผมจึงยิ่งต้องลงมือทำออนไลน์ เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นอีกในภาพรวม และภาพแคบ

 

สิ่งที่ได้เรียนรู้มานั้นใหญ่และกว้างไกลเกินกว่าที่คิดไว้ และอาจเป็นกุญแจนำไปสู่อนาคต

 

ถึงวันนี้แล้วผู้คนคงเห็นกันแล้วว่าออนไลน์แพลตฟอร์มทั้งหมดที่เราผสมผสานขึ้นมานั้นกว้างใหญ่ขนาดไหน

 

ทีวีที่ว่าจะตาย แม้จะยังพูดกันหนักขึ้น แต่เรายังไม่ได้ตาย และยังพบว่ามีโอกาสอีกมากมายซ่อนอยู่ เมื่อผสมผสานกันดีๆ ระหว่างโลกใบใหม่และโลกใบเดิม

 

‘ปัญหา’ นำมาซึ่งโอกาสเสมอ

 

เรื่องที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ โอกาสที่มาพร้อมโลกใหม่ที่เรียกกันว่า ‘โลกออนไลน์’ เรียกสวยๆ ก็ใช้คำว่า IoT หรือ Internet of Things มันสวยหรูดูดีขนาดไหน? ในบริบทและสภาพแวดล้อมของประเทศไทยเรา

 

คำนิยมวันนี้ในเรื่องของสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยคือ รวยกระจุก จนกระจาย

 

คำคำนี้น่าจะได้ยินเพิ่มมากขึ้น และบ่อยขึ้นเรื่อยๆ

 

ช่องว่างระหว่างความรวยและความจนของคนในประเทศนับวันก็จะยิ่งห่างขึ้นเรื่อยๆ

 

สภาพแวดล้อมโดยรวมแบบนี้ จะสร้างความแตกต่างอย่างมากให้กับข้อมูลที่เราพบเจอ หากไม่ไตร่ตรองให้ละเอียดรอบด้าน

 

ตัวอย่างง่ายๆ ที่ผมมักยกตัวอย่างบ่อยๆ เช่น ค่ามือถือและค่าใช้อินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน

 

คุณคิดว่าคนใช้จ่ายกันเดือนละเท่าไร?

 

คำตอบที่ได้จากโอเปอเรเตอร์คือ มีการใช้อินเทอร์เน็ตดาต้ามากขึ้น ซึ่งจริงนะครับ มีการใช้ดาต้ากันมากขึ้น เพราะมีคอนเทนต์ให้เลือกดูเลือกอ่านบนออนไลน์มากขึ้นอย่างมากมายมหาศาล

 

แต่ค่าใช้จ่ายและความสามารถในการจ่ายของคนไทยโดยรวมทั้งประเทศ ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นขนาดไหนในวันนี้?

 

ยังต้องลองหาคำตอบกันต่อไป

 

ในวันที่จีดีพีเราโตน้อยลงมาก การใช้จ่ายของผู้บริโภคค่อนข้างกระจุกตัว เรามีหนี้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มมากขึ้น เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปพร้อมๆ กับที่ยังไม่ค่อยได้เตรียมตัวไว้ล่วงหน้า ผู้สูงอายุเราส่วนมากในประเทศมีเงินสะสมหลังเกษียณน่าจะยังไม่เพียงพอกับโลกในอนาคตที่ดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารเริ่มไม่พอใช้ โครงการประกันสังคม โครงการบัตรประกันสุขภาพ หรือกระทั่งล่าสุด บัตรคนจน จึงยังคงเป็นประเด็นร้อนอยู่เสมอ

 

ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ความหลากหลาย และความแตกต่างอย่างมากในประเทศนั้น สร้างความแตกต่างอย่างสุดขั้ว ซึ่งทำให้เกิดข้อมูลชวนเชื่อกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่เสมอ

 

ประกอบกับข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตโดยส่วนมากนั้นจะกระจุกตัวตามความสนใจเป็นหลัก เราสนใจอะไรจะถูกหล่อหลอมให้เชื่อข้อมูลแต่เพียงแบบนั้น

 

เราจะเสิร์ชหาแต่เรื่องที่เราเลือกที่จะเชื่อ เลือกอ่าน เลือกฟัง เพียงแต่เรื่องที่เราเชื่อ

 

เรื่องเดียวกันกับที่ว่าทำไมรายการทีวีหรือละครบางเรื่องเรตติ้งดีมาก แต่ไม่มีกระแสผ่านตา

 

ส่วนรายการทีวีหรือละครหลายเรื่องกระแสดีมาก แต่กลับมีเรตติ้งไม่มาก

 

หลายครั้งเราโยนความผิดไปที่การตรวจวัดเรตติ้ง เพราะผลไม่ตรงใจและไม่เปิดเผยถึงกระบวนการตรวจวัดในวงกว้าง

 

เราเลือกที่จะเชื่อตัวเลขบนอินเทอร์เน็ตแทน เพราะเราเชื่อว่ามันเป็นตัวเลขสะท้อนความเป็นจริง เนื่องจากส่วนหนึ่งเราใช้มันอยู่ทุกวันในเกือบทุกๆ เรื่อง ทั้งๆ ที่บนโลก อินเทอร์เน็ตนั้นมันก็สามารถสร้างตัวเลขประชากรให้ใหญ่ขึ้นมาเกินจริงได้

 

เรามีประชากรชาวอินเทอร์เน็ตในหลากหลายแพลตฟอร์ม น่าจะมากกว่าจำนวนประชากรจริงในประเทศ หากแบ่งตามเพศ อายุ ภูมิภาค ของผู้ที่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้จริงๆ ในเรื่องนี้เรากลับยังไม่เคยตั้งคำถาม?

 

ถ้ายกตัวอย่างให้ชัดเจนขึ้นอีกหน่อย

 

หนังไทยหรือหนังฝรั่งหลายเรื่องทำรายได้ดีมากในสังคมเมือง และมีเสียงชื่นชมมากบนโลกออนไลน์ แต่เมื่อไปฉายออกนอกเมืองนั้น รายได้กลับไม่สวยงามนัก

 

ในขณะที่หนังไทยหลายเรื่องนั้นรายได้และเสียงวิจารณ์บนโลกออนไลน์เข้าขั้นย่ำแย่

แต่รายได้นอกสังคมเมืองกลับเติบโตเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับรายได้ในสังคมเมือง

 

หรือถ้ายกตัวอย่างในทางการเมืองจากอดีตจนปัจจุบัน จะพบว่าโดยส่วนมากสังคมเมืองมักเลือกแบบหนึ่ง สังคมนอกเมืองมักเลือกอีกแบบหนึ่ง สังคมบางพื้นที่ก็จะเลือกอีกแบบหนึ่ง

 

ถ้าเราเปิดใจกว้างๆ จะพบข้อมูลอันหลากหลายบนความแตกต่างที่ซ่อนอยู่ ไม่ใช่เรื่องของความฉลาดหรือไม่ฉลาด แต่เป็นพื้นฐานข้อมูลบนความแตกต่างของการรับรู้และความสนใจอันหลากหลายในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างและเหลื่อมล้ำ

 

ความแตกต่างอย่างสุดขั้วนี้เองของทั้งรายได้ รสนิยม ความชอบ ความสามารถในการจ่าย ฯลฯ นำมาซึ่งความหลากหลายของข้อมูล

 

หลายคนเริ่มเลือกใช้วิธีจำกัดวงการสื่อสารให้แคบลงไปเรื่อยๆ

 

เมื่อก่อนมีคำว่า target segment ตามมาด้วย niche target

 

มาถึงวันนี้เราพูดกันเรื่อง micro influencer ย่อให้เล็กลงไปอีก เพราะเราไม่สามารถสังเคราะห์ข้อมูลในภาพใหญ่กันได้เพียงพอ เราเลยเลือกที่จะจับกลุ่มให้เล็กลงไปอีกหลายๆ กลุ่ม

 

คำถามคือ ในวันนี้เมื่อเทคโนโลยีดีขึ้นมาก ทุกอย่างมีราคาถูกลง ต้นทุนในการผลิตถูกลง สินค้าและบริการมีราคาถูกลง การพุ่งไปที่ niche อาจไม่สร้างกำไรเพียงพอต่อธุรกิจ

 

สังเกตดีๆ จะพบว่า สินค้าลักซูรีแบรนด์ต่างๆ ในอดีตถึงวันนี้ เริ่มกลับมามีราคาที่จับต้องได้ ใครๆ ก็สามารถซื้อได้ หรือใช้ระบบเงินผ่อนดอกเบี้ย 0% ได้

นั่นอาจเป็นเพราะว่า niche target อาจไม่เพียงพอต่อการทำกำไรให้ธุรกิจ หลายธุรกิจจึงต้องเริ่มกระจายสู่วงที่กว้างขึ้น

 

บางสินค้าพุ่งไปที่ทางเลือกในการลิมิเต็ดเอดิชัน ที่สามารถสร้างราคาและดีมานด์ในระยะสั้นได้ เพื่อที่จะยังคงพยายามรักษาระดับราคา และระดับกำไรของธุรกิจไว้

 

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ เป็นตัวอย่างของความแตกต่างอย่างสุดขั้วในภาพรวมของประเทศ

 

ความแตกต่างที่ว่า นำมาซึ่งความแตกต่างของข้อมูลข่าวสาร นำมาซึ่งความแตกต่างในการรับรู้ นำมาซึ่งความแตกต่างในความคิดเห็น นำมาซึ่งความแตกต่างในพฤติกรรมการบริโภค และนำมาซึ่งสารพัดความแตกต่าง

 

ความแตกต่างอย่างสุดขั้วเหล่านี้เอง จะเป็นปัญหาใหญ่ให้ขบคิดในทุกธุรกิจในอนาคต

 

ความรู้ความเข้าใจในภาพกว้างและภาพแคบอย่างละเอียดลออ จะช่วยให้เชื่อมโยงและแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ และจะสร้างโอกาสที่ดีในอนาคต

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising