เกาะติดสถานการณ์ล่าสุด 15 ต.ค. หลังใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
22.30 น. หลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุมวันนี้ (15 ต.ค.) ในเวลา 22.00 น. และนัดหมายอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (16 ต.ค.) 17.00 น. ผู้ชุมนุมบางส่วนช่วยกันเก็บขยะและทำความสะอาดพื้นที่ชุมนุม
22.10 น. กลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรทยอยเดินทางกลับ หลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุมในวันนี้ (15 ต.ค.) เวลา 22.00 น. และนัดหมายอีกครั้งเวลา 17.00 น. ในวันพรุ่งนี้ (16 ต.ค.) ขณะที่บางส่วนยังคงร่วมกิจกรรมร้องเพลงร่วมกันท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายลงมา
21.41 น. เฟซบุ๊กเยาวชนปลดแอก-Free YOUTH โพสต์ข้อความระบุว่า วันนี้ 22.00 น. จะทำการปิดเวที #15ตุลาไปราชประสงค์ และในวันพรุ่งนี้ 17.00 น. เรามาพบกันใหม่ที่นี่ ถนนราษฎรประสงค์
วันนี้มวลชนนับแสนได้มาร่วมกันแล้ว หลังจากนี้จะเพิ่มขึ้นมากขึ้นทุกวัน ทุกวัน ไม่มีอำนาจใดยิ่งใหญ่กว่าประชาชน ไม่ว่าจะสลายเท่าไหร่ เราจะเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ
และหากมีการรัฐประหารหรือรัฐบาลแห่งชาติ เราออกมาต่อต้านจนถึงที่สุด เวลานี้คุณไม่อาจหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงได้อีกต่อไปแล้ว ประชาชนจงเจริญ
21.35 น. มวลชนจำนวนหนึ่งรวมตัวกันบริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้มีตัวแทนเจ้าหน้าที่ออกมาเจรจาปล่อยตัวแกนนำที่ถูกจับกุม ขณะที่ฝนเริ่มโปรยปรายลงมาเล็กน้อย
BREAKING: แกนนำคณะราษฎรที่ทำหน้าที่ประสานงานกับสื่อมวลชน เปิดเผยต่อสื่อมวลชนผ่านกลุ่ม LINE ว่าจะปักหลักชุมนุมที่แยกราชประสงค์จนถึงเวลา 22.00 น. คืนนี้ (15 ต.ค.)
21.20 น. มวลชนเบนความสนใจจากแนวกั้นของตำรวจที่ตรึงกำลังอยู่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วหันมาตะโกนขับไล่รถฉีดน้ำแรงดันสูงของตำรวจควบคุมฝูงชนที่จอดอยู่ในฝั่งตรงข้ามแทน จนสุดท้ายรถคันดังกล่าวจึงยอมถอยออกไป
20.50 น. ภาพบรรยากาศมุมสูงจากทางเชื่อมสกายวอล์กแสดงให้เห็นภาพรวมจำนวนของผู้ชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์
20.41 น. ช่อ-พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เข้าร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรบริเวณสกายวอล์ก ฝั่งโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์
20.20 น. มีการขอความร่วมมือให้มวลชนร่วมกันนั่งบนบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมาร์เก็ต เนื่องจากเป็นทางออกบริเวณเดียวที่มีมวลชนไม่หนาแน่นนัก ซึ่งอาจเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่สามารถนำกำลังเข้าไปปะทะและเข้าไปถึงหน้าเวทีได้
19.50 น. บรรยากาศมวลชนจากมุมมองบนสกายวอล์กฝั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
19.40 น. มวลชนช่วยกันดันแผงกั้นหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อขยายพื้นที่ทางเดินเท้าให้กว้างขึ้น
19.30 น. มวลชนจำนวนมากเขย่าประตูลูกกรงบนทางเดินสกายวอล์กจนสามารถเปิดประตูและสัญจรผ่านได้ตามปกติแล้ว
19.15 น. การ์ดมวลชนคณะราษฎรเริ่มปิดกั้นพื้นที่เข้า-ออกบริเวณชุมนุมฝั่งที่มุ่งมาจากประตูน้ำ เพื่อไม่ให้รถจักรยานยนต์สัญจรผ่านเข้าไปยังพื้นที่การชุมนุม
19.05 น. มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนได้ปักหลักตั้งกองกำลังบริเวณหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
18.50 น. มวลชนขึ้นไปยังบริเวณทางเดินสกายวอล์ก หลังจากช่วงเย็นที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดทุกช่องทางการสัญจรบริเวณทางเดินลอยฟ้าทั้งหมด
18.12 น. มวลชนจำนวนมากเข้าจับจองพื้นที่บริเวณหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และบิ๊กซี ราชดำริ จนบริเวณดังกล่าวแน่นขนัดไปด้วยผู้คน
18.10 น. กลุ่มผู้ชุมนุมร่วมกันเปิดแฟลชของบนโทรศัพท์ เพื่อส่องแสงสว่างให้กับพื้นที่ชุมนุม หลังพบว่าบริเวณดังกล่าวมีปัญหาเรื่องของไฟฟ้าที่ติดๆ ดับๆ อยู่เป็นระยะ สลับกับการชู 3 นิ้ว และตะโกนว่า “หยุดคุกคามประชาชน”
15.38 น. มวลชนล้อมรถตำรวจที่ขนรั้วลวดหนามในขณะที่จอดติดไฟแดงอยู่บริเวณหน้าศูนย์การค้าเกษรพลาซ่า
15.24 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแถวตรึงกำลังหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่านเข้าไปในพื้นที่ได้
15.00 น. เจ้าหน้าที่ปิดทางเข้าสกายวอล์กฝั่งเกษรวิลเลจ ขณะที่ตำรวจควบควมฝูงชนเริ่มตรึงกำลัง ก่อนถึงเวลานัดหมายชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรในเวลา 16.00 น.
14.50 น. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเริ่มปิดประตูรั้วบริเวณสกายวอล์กฝั่งเซ็นทรัลเวิลด์ ด้าน BTS ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ
14.46 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนทยอยเคลื่อนกำลังเข้าพื้นที่ราชประสงค์ บริเวณหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมบางส่วนเริ่มเดินทางเข้าพื้นที่อย่างต่อเนื่องก่อนถึงเวลานัดหมาย 16.00 น.
อัสสัมชัญคอนแวนต์ประกาศให้นักเรียนกลับบ้านตั้งแต่เวลา 13.00 น. หลังมีชุมนุมที่แยกราชประสงค์วันนี้
สืบเนื่องจากกรณีการนัดชุมนุมของคณะราษฎรที่แยกราชประสงค์ในเวลา 16.00 น. ของวันนี้
ล่าสุดวันนี้ (15 ตุลาคม) ทางเพจเฟซบุ๊ก ‘โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์-Assumption Convent’ ได้ออกประกาศระบุว่า ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ที่มีความห่วงใยในความปลอดภัย จึงมีประกาศดังต่อไปนี้
1. อนุญาตให้นักเรียนกลับบ้านในวันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม) ตั้งแต่เวลา 13.00 น.
2. หยุดเรียนในวันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม 2563
3. งดการเรียนพิเศษในวันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม 2563 และทางโรงเรียนจะคืนเงินในภายหลัง
4. สอบปลายภาคเรียน
4.1 ม.ปลาย วันจันทร์ที่ 19 และวันพุธที่ 21 ตุลาคม
4.2 ม.ต้น วันอังคารที่ 20 และวันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม
เซ็นทรัลเวิลด์, เกษรวิลเลจ, บิ๊กซี ราชดําริ และเดอะ มาร์เก็ต แบงคอก ยืนยันเปิดให้บริการตามปกติ
วันนี้ (15 ตุลาคม) จากการที่คณะราษฎรได้ออกแถลงการณ์ว่าจะมีการชุมนุมในเวลา 16.00 น. ณ แยกราชประสงค์นั้น
THE STANDARD ได้สอบถามไปยังศูนย์การค้าที่ตั้งอยู่บริเวณแยกราชประสงค์ ได้แก่ เซ็นทรัลเวิลด์, เกษรวิลเลจ, บิ๊กซี ราชดําริ และเดอะ มาร์เก็ต แบงคอก พบว่า จะมีการเปิดให้บริการตามปกติ ไม่ได้ปิดก่อนเวลาปกติแต่อย่างใด
12.29 น. กลุ่มนักกิจกรรมในพื้นที่ภาคใต้นัดหมายรวมพลในเวลา 17.00 น. ที่หน้าค่ายเสนาณรงค์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อแสดงจุดยืนในการคัดค้านการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการจับกุมผู้ชุมนุม
เกาะติดสถานการณ์ล่าสุด 15 ต.ค. หลังใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
11.14 น. เจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความจุฬาลงกรณ์ มาติดต่อสอบถามถึงแนวทางการช่วยเหลือนิสิตจุฬาลงกรณ์ทั้ง 2 คนที่ถูกควบคุมตัวที่ ตชด. ภาค 1 โดยระบุว่านิสิตทั้ง 2 คนเพียงแค่เข้าร่วมชุมนุมและใช้เสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น
เกาะติดสถานการณ์ล่าสุด หลังใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
11.06 น. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่ล้อมรั้วโดยรอบและนำต้นไม้บางส่วนเข้าประดับตามจุดเดิม หลังเมื่อวานนี้ (14 ตุลาคม) คณะราษฎรได้ทวงคืนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยให้ประชาชน
อานนท์เผย ถูกคุมตัวมาที่ ตชด. ดำเนินคดี ม.116 รวม 2 หมายจับ เตรียมส่งตัวไปเชียงใหม่
อานนท์ นำภา แกนนำคณะราษฎร เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าถูกควบคุมตัวมาที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 และมีการดำเนินคดีรวม 2 หมายจับ ได้แก่ หมายจับที่เชียงใหม่ ม.116 และหมายจับที่ปทุมธานี โดยมีคนไปแจ้งความที่ตนขอให้ตรวจสอบการใช้เงินของสถาบันกษัตริย์ และตำรวจแจ้งว่าผิด ม.116
อานนท์ระบุว่าตอนนี้กำลังสอบสวน จากนั้นจะส่งตัวไปเชียงใหม่ตามหมายจับ
10.10 น. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล ขณะที่แกนนำคณะราษฎรประกาศชุมนุมต่อที่แยกราชประสงค์ในเวลา 16.00 น.
ดัชนีหุ้นไทยเปิดตลาดร่วง 9.19 จุด สู่ระดับ 1,254.8 จุด หลังรัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) พบว่าดัชนีหุ้นไทยเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 1,254.8 จุด ร่วงลง 9.19 จุด จากการเปิดตลาดช่วงเช้าที่อยู่ 1,263.99 จุด คาดว่าตลาดรับข่าวรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
ทั้งนี้ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยลบต่อเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองและปัจจัยลบในต่างประเทศ โดยระหว่างวันคาดว่านักลงทุนและนักวิเคราะห์ต้องจับตามองสถานการณ์การเมืองในประเทศอย่างต่อเนื่อง
เกาะติดสถานการณ์ล่าสุด หลังใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
09.20 น. ที่ ตชด. ภาค 1 เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าไปยังบริเวณด้านใน คาดว่าจะมีการคุยถึงรายละเอียดข้อกฎหมายและการประกันตัว หลังจากที่แกนนำคณะราษฎรถูกจับกุมตัวเมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม มีรถบัสของกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนจำนวน 4 คันขับเข้าไปยังบริเวณด้านใน คาดว่าจะเป็นรถบัสที่ขนส่งเจ้าหน้าที่ที่ไปปฏิบัติงานเมื่อคืนนี้กลับมา
เกาะติดสถานการณ์ล่าสุด หลังใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
09.15 น. กลุ่มประชาคม มช. ยืนปราศรัยที่หอนาฬิกา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนและนักศึกษาอย่านิ่งเฉยต่อการสลายการชุมนุมและการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ออกมาชุมนุมเมื่อเกิดรัฐประหาร และเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำโดยด่วน
BREAKING: ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลต้องปล่อยตัวผู้ชุมนุม ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทันที หยุดก้าวล่วงประชาชน
คณะก้าวหน้าขอยืนยันว่าการชุมนุมตลอดวันที่ 14 ตุลาคม เป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
ผู้ชุมนุมใช้ความอดทนอดกลั้นต่อการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงอยู่ตลอดเวลา พวกเขาแสดงออกอย่างสันติ สงบ เรียกร้องในสิ่งที่ประเทศประชาธิปไตยพึงมี
BREAKING: 08.28 น. ณ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 เจ้าหน้าที่จัดกำลังเข้มงวดทั้งบริเวณเชิงสะพานทางเข้ารวมไปถึงด้านใน คาดว่าเพื่อเป็นการป้องกันหากกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาติดตามสถานการณ์
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนรวมถึงบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเดินทางเข้าไปยังบริเวณด้านใน
BREAKING: 08.10 น. ตำรวจเข้าจับกุม รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และณัฐชนน ไพโรจน์ แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ตามหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดธัญบุรี
คณะราษฎรแถลงจุดยืนต่อการสลายการชุมนุม อานนท์-ไมค์ ระยอง-เพนกวิน-ประสิทธิ์ ถูกจับกุม ยืนยันนัดกัน 4 โมงเย็นวันนี้ ที่ราชประสงค์
หลังจากนายกรัฐมนตรีประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีผลบังคับใช้เมื่อเวลา 04.00 น. ในรุ่งสางวันที่ 15 ตุลาคม อานนท์ นำภา แกนนำผู้ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล มีการแจ้งให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ร้ายแรง ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการคุมฝูงชน โดยให้เวลาประชาชน 15 นาทีในการเก็บของ ส่วนเจ้าหน้าที่ปราบจลาจลมาพร้อมโล่และหมวกกันน็อก ขยับเข้าใกล้ผู้ชุมนุมจนยึดพื้นที่โดยรอบทำเนียบรัฐบาลทั้งหมด
ทางด้านแกนนำ อานนท์ นำภา ถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่แสดงหมายจับศาลที่เชียงใหม่และเตรียมนำตัวไปที่เชียงใหม่ ส่วน ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก ถูกจับกุมด้วย แต่ยังไม่ทราบว่าจากคดีอะไร เจ้าหน้าที่นำขึ้นรถที่ไม่ใช่รถตำรวจเดินทางออกไป และยังไม่ทราบว่านำตัวไปที่ใด ทางด้าน เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ มีรายงานว่าถูกตำรวจจับกุมที่บริเวณแยกนางเลิ้ง
ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า บริเวณแยกวิสุทธิกษัตริย์ เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบได้เข้าจับกุม ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีการแสดงหมายจับของศาล คาดว่าเกิดจากคดีชุมนุมในเชียงใหม่ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าจะนำขึ้นรถตู้ไปที่ สน.นางเลิ้ง ก่อนพาไป ตชด. ภาค 1
และเช้าวันนี้ (15 ตุลาคม) คณะราษฎรได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า จากกรณีการสลายการชุมนุมในเช้าวันที่ 15 ตุลาคม 2563 โดยเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมทั้งมีการจับกลุ่มแกนนำและผู้ปราศรัย ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่มีความชอบธรรมแต่อย่างใด เพราะการชุมนุมเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิดมา ไม่ควรมีใครสมควรถูกจับกุมจากการชุมนุมไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม
ทั้งยังกล่าวว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการกระทำที่ภาครัฐมีจุดมุ่งหมายบั่นทอนขบวนการประชาธิปไตย ขัดขวางประชาชน เป็นการกระทำเพื่อรักษาอำนาจของตนเองและพวกพ้อง หาใช่เพื่อส่วนรวมไม่ มีการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ในการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งนั่นอาจตีความได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย คณะราษฎรขอประณามการกระทำดังกล่าวของภาครัฐ
คณะราษฎรยังคงยืนยันจัดการชุมนุมต่อไปในวันนี้ เวลา 16.00 น. ณ แยกราชประสงค์
ตำรวจแถลงหลังเข้าปฏิบัติการตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ชี้ชุมนุมราชประสงค์เย็นนี้ผิดกฎหมาย
วันนี้ (14 ตุลาคม) พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวภายหลังการปฏิบัติการ หลัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยระบุเหตุผลเพื่อให้เกิดความสงบ นอกจากนี้ยังมีการออกข้อกำหนดต่างๆ เช่น การห้ามชุมนุมมั่วสุมเกิน 5 คน
พ.ต.อ. กฤษณะ กล่าวว่านายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้ พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการกับผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนด
หลังจากที่มีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งเตือนให้ผู้ชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาลเลิกการกระทำที่ฝืนข้อกำหนดดังกล่าว ปรากฏว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนฝ่าฝืนและเป็นความผิดซึ่งหน้า จึงได้มีการควบคุมตัว
พ.ต.อ. กฤษณะ ระบุว่ามีผู้ถูกควบคุมตัวกว่า 20 ราย และจะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการสอบสวนและควบคุมตัวต่อไป พร้อมทั้งแจ้งเตือนไปยังผู้ชุมนุมและผู้ที่เชิญชวนผู้อื่นมาชุมนุมไม่ว่าช่องทางใดๆ ขอเรียนให้ทราบว่าขณะนี้รัฐบาลได้มีข้อห้ามตามที่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ดังนั้นการชักชวนและมาชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ช่วงเย็นวันนี้นั้นผิดกฎหมาย และจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้
ขณะที่ พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงการเตรียมการมาตรการป้องกันเหตุร้ายและอาชญากรรมในช่วงนี้ โดยเฉพาะที่จะมีการนัดชุมนุมในช่วงเย็นวันนี้ที่แยกราชประสงค์ โดยเบื้องต้นมีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ 3 ส่วนคือ สกายวอล์ก, ถนนราชดำริ ซึ่งจะเป็นพื้นที่ชุมนุม และพื้นที่ห้างต่างๆ พร้อมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ทั้งนี้ตำรวจจะวางกำลังบริเวณราชประสงค์ตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ ส่วนแกนนำที่ถูกควบคุมตัวได้นำตัวไปยัง ตชด. ภาค 1 ปทุมธานี
นายกฯ ตั้ง ประวิตร เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 นั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรค 3 วรรค 4 และวรรค 6 มาตรา 11 และมาตรา 15 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกฯ จึงมีคำสั่ง ความว่า
ข้อ 1. ให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง พนักงานเจ้าหน้าที่ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
ข้อ 2. ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง มีหน้าที่และอำนาจในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และให้มีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย
คณะราษฎรออกแถลงการณ์ยืนยันการชุมนุมเวลา 16.00 น. ที่ราชประสงค์ หลังถูกสลายการชุมนุมและแกนนำ เพนกวิน, ทนายอานนท์, ประสิทธิ์ และไมค์ ถูกจับกุม ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่มีความชอบธรรมแต่อย่างใด เพราะการชุมนุมเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย
และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการกระทำที่ภาครัฐมีจุดมุ่งหมายบั่นทอนขบวนการประชาธิปไตย ขัดขวางประชาชน เป็นการกระทำเพื่อรักษาอำนาจของตนเองและพวกพ้อง หาใช่เพื่อส่วนรวมไม่
มีการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งอาจตีความได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย คณะราษฎรขอประณามการกระทำดังกล่าวของภาครัฐ
BREAKING: พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร มีผลเวลา 04.00 น. ของเช้าวันที่ 15 ตุลาคมเป็นต้นไป
โดยที่ปรากฏว่ามีบุคคลหลายกลุ่มได้เชิญชวนปลุกระดมและดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะขึ้นในกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการและช่องทางต่างๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายและความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่รุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ทั้งยังกระทบโดยตรงต่อสัมฤทธิ์ผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในภาวะเปราะบาง กรณีจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขกรณีดังกล่าวให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที เพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อยและประโยชน์ส่วนรวม
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีจึงให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563 เวลา 04.00 น. เป็นต้นไป