วันนี้ (19 ธันวาคม) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานพิธีรับมอบเกียรติบัตรโรงพยาบาลคุณธรรม ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ถนนนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
จุรินทร์กล่าวว่า ยินดีกับ 166 โรงพยาบาล 57 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 46 ของโรงพยาบาลเอกชนทั้งประเทศที่ได้รับเกียรติบัตรในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้รับเรื่องร้องเรียนเรื่องค่ารักษาพยาบาล แต่ยังไม่มีหน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง และประชาชนยังไม่มีการเข้าถึงข้อมูลราคายาและการรักษาพยาบาลอย่างเพียงพอ จึงเป็นที่มาของการกำหนดเกณฑ์ที่ให้โรงพยาบาลเอกชนต้องแจ้งราคายาและค่าบริการอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้นกระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปดูแลเรื่องยาก่อน และจะดำเนินการเรื่องเวชภัณฑ์และค่าบริการรักษาพยาบาลต่อไป และจากระเบียบข้างต้น ผู้ประกอบการสถานพยาบาลต้องให้ข้อมูลราคายาผ่าน QR Code เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ใช้บริการในการเปรียบเทียบราคา และสถานพยาบาลต้องแจ้งผลการวินิจฉัยเบื้องต้นรวมทั้งค่าบริการก่อนการรักษาจริง และสถานพยาบาลต้องออกใบสั่งยาให้ผู้ใช้บริการสามารถตัดสินว่าจะซื้อยาจากสถานพยาบาลหรือจากภายนอก ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อร้องเรียนสามารถติดต่อกรมการค้าภายในได้ที่สายด่วน 1569 เพื่อที่กรมการค้าภายในจะได้ดำเนินการตามอำนาจและข้อกฎหมายต่อไป
“โรงพยาบาลทั้งหมดที่ได้รับเกียรติบัตรนี้ถือเป็นโรงพยาบาลคุณธรรมที่จำหน่ายยาที่ราคาเป็นธรรม ซึ่งผมหวังว่านอกจากโรงพยาบาลทุกแห่งจะจำหน่ายยาในราคาที่เป็นธรรมแล้ว ยังต้องรวมถึงเวชภัณฑ์และค่าบริการ รวมทั้งต้องรักษาและยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาลตามหลักการขององค์การอนามัยโลกด้วย” จุรินทร์กล่าว
กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) เพื่อยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน รวมไปถึงมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพในระดับสากล และสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านสถานพยาบาล และไม่เพียงแค่เรื่องมาตรฐานการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ยังต้องมีความโปร่งใสและเป็นธรรมในด้านราคายา เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลด้วย ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากลขององค์การอนามัยโลกที่สนับสนุนสมาชิกและติดตามผลของความโปร่งใสต่อราคาและการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมทั้งผลของราคาที่แตกต่างกัน โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์มากขึ้น และเพื่อให้สิทธิผู้บริโภครับรู้ราคายาที่แท้จริง
ขณะที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากภาคประชาชนเกี่ยวกับปัญหาค่ายาและค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนสูงเกินจริงอย่างต่อเนื่อง และไม่มีหน่วยงานเข้าไปกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรม ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงข้อมูลราคายา ทำให้ขาดข้อมูลประกอบการตัดสินใจเข้ารับการรักษา ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในจึงมีภารกิจในการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เพื่อสร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน
กรมการค้าภายในระบุว่าหลังจากที่จุรินทร์เข้าทำหน้าที่เมื่อ 4 เดือนก่อนหน้านี้จึงได้มอบนโยบายการดำเนินการกำกับดูแลสร้างความโปร่งใส เป็นธรรม สร้างมาตรฐานการรับรู้ราคายา ค่าบริการ ค่ารักษาให้แก่ประชาชน กำกับการใช้กฎหมายที่กำหนดให้เป็นสินค้าควบคุม ยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ ภายใต้ พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ฉบับที่ 87/2562 เรื่อง การแจ้งราคา การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล มีผลใช้บังคับวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 ซึ่งกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนปฏิบัติดังนี้
แจ้งข้อมูลราคาซื้อและราคาจำหน่ายยา เวชภัณฑ์ และค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ติดตั้ง QR Code แสดงการเปรียบเทียบราคายา ณ โรงพยาบาลเอกชน ปัจจุบันมียอดการเข้าใช้ระบบจำนวน 189,826 ครั้ง วินิจฉัยและประเมินค่ารักษาให้ผู้ป่วยทราบทุกครั้ง ออกใบสั่งยาให้กับผู้ป่วยนอกให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้าทุกครั้ง เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนสามารถซื้อยาที่ร้านขายยาได้
ทั้งนี้เพื่อสร้างความเป็นธรรม กรมการค้าภายในได้ดำเนินการต่างๆ ควบคู่ไปกับมาตรการเพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม เช่น การจัดตั้งศูนย์รับแจ้งความคดียา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ สร้างความโปร่งใสโดยจัดทำระบบค้นหาและเปรียบเทียบราคายาในโรงพยาบาล และการจัดกลุ่มโรงพยาบาลคุณธรรม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลราคายาและโรงพยาบาล เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน โดยกรมการค้าภายในได้นำข้อมูลราคายาจากโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด 350 แห่งมาประมวลผลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด คือจำนวนรายการยาที่โรงพยาบาลนั้นจำหน่ายสูงกว่าราคาเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 50 ของรายการยาที่แจ้ง ส่วนต่างราคาจำหน่ายยาที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยต้องไม่เกินร้อยละ 100 และในช่วงระยะเวลา 1 ปี โรงพยาบาลนั้นไม่เคยมีเรื่องร้องเรียน และสายด่วน 1569 คือเบอร์ที่ประชาชนสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้
และเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้โรงพยาบาลเอกชนมีนโยบายการคิดราคาและค่าบริการโปร่งใส เป็นธรรม เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนและเป็นข้อมูลในการตัดสินใจก่อนเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลที่เข้ารับเกียรติบัตรโรงพยาบาลคุณธรรม จำนวนโรงพยาบาลที่เข้ารับเกียรติบัตรโรงพยาบาลคุณธรรม 166 แห่ง แบ่งตามภาคได้ดังนี้คือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนโรงพยาบาล 72 ราย 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 47 ราย, สมุทรสาคร 7 ราย, นนทบุรี ปทุมธานี จังหวัดละ 6 ราย, สมุทรปราการ 5 ราย และนครปฐม 1 ราย
ภาคกลาง จำนวนโรงพยาบาล 31 ราย 14 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา 5 ราย, พิจิตร 4 ราย, พิษณุโลก นครสวรรค์ สุโขทัย จังหวัดละ 3 ราย, สระบุรี เพชรบูรณ์ ลพบุรี สุพรรณบุรี จังหวัดละ 2 ราย, สมุทรสงคราม อ่างทอง กำแพงเพชร ชัยนาท สิงห์บุรี จังหวัดละ 1 ราย
ภาคตะวันตก จำนวนโรงพยาบาล 10 ราย 4 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี 5 ราย, กาญจนบุรี ตาก จังหวัดละ 2 ราย และเพชรบุรี 1 ราย
ภาคตะวันออก จำนวนโรงพยาบาล 6 ราย 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จังหวัดละ 2 ราย และจันทบุรี ปราจีนบุรี จังหวัดละ 1 ราย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวนโรงพยาบาล 23 ราย 14 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา 5 ราย, กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ ยโสธร ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี จังหวัดละ 2 ราย, ชัยภูมิ มหาสารคาม มุกดาหาร ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี จังหวัดละ 1 ราย
ภาคใต้ จำนวนโรงพยาบาล 14 ราย 9 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 3 ราย, กระบี่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 2 ราย, ตรัง พัทลุง ภูเก็ต ระนอง สงขลา จังหวัดละ 1 ราย
ภาคเหนือ จำนวนโรงพยาบาล 10 ราย 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ 4 ราย, เชียงราย 2 ราย, พะเยา แพร่ ลำพูน อุตรดิตถ์ จังหวัดละ 1 ราย
และขณะนี้มีโรงพยาบาลแจ้งเข้ารับเกียรติบัตรจากกระทรวงพาณิชย์วันนี้จำนวน 137 ราย 57 จังหวัด
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์