×

5 ปีไม่เคยขึ้นค่าตอบแทน! โรงพยาบาลเอกชนโอดครวญ ประกันสังคมลดค่ารักษาสูงถึง 40% ชี้ 10 ปีถอนตัว 27 แห่ง และอาจมีอีก จนทำผู้ป่วยเดือดร้อน

23.09.2024
  • LOADING...

สมาคมโรงพยาบาลเอกชนออกแถลงการณ์แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอาจทำให้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งต้องถอนตัวจากการเป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม หลังถูกปรับลดงบค่ารักษาในกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงลงถึง 40% โดยลดลงจาก 12,000 บาทต่อหน่วย Adjusted RW เหลือเพียง 7,200 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้ยังไม่มีการปรับค่าตอบแทนเป็นเวลากว่า 5 ปี ทำให้มีผลกระทบโดยตรงต่อโรงพยาบาลเอกชน

 

นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2565-2566 สำนักงานประกันสังคมปรับลดค่ารักษาพยาบาลสำหรับโรคที่มีค่า Adjusted RW มากกว่า 2 ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทั้งสองปี ทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคมต้องเผชิญกับภาระขาดทุน

 

เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้จ่ายไปล่วงหน้าแล้ว รวมถึงภาษีที่ต้องจ่ายตามประมาณการรายได้ ทำให้การปรับลดงบประมาณนี้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสถานะการเงินของโรงพยาบาล

 

แม้ในปี 2565 สำนักงานประกันสังคมปรับเพิ่มค่าหัวเหมาจ่ายจาก 1,640 บาทเป็น 1,808 บาท แต่สำหรับกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงและโรคเรื้อรัง กลับไม่มีการปรับเพิ่มค่าตอบแทนเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งส่งผลให้จำนวนโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมกับระบบประกันสังคมลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

“โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนโรงพยาบาลที่เข้าร่วมลดลงจาก 120 แห่ง เหลือเพียง 93 แห่งในปัจจุบัน แม้จะมีโรงพยาบาลใหม่เข้าร่วมบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กที่ไม่สามารถรองรับผู้ประกันตนได้มากพอ” นพ.ไพบูลย์ กล่าว

 

หากสถานการณ์นี้ยังดำเนินต่อไป จะส่งผลให้โรงพยาบาลหลายแห่งที่เป็นสมาชิกของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นได้ ซึ่งอาจทำให้โรงพยาบาลเอกชนเหล่านี้ตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม และส่งผลให้จำนวนโรงพยาบาลที่รองรับผู้ประกันตนลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ หากโรงพยาบาลเอกชนลดลง จะสร้างภาระให้กับโรงพยาบาลรัฐที่ต้องรองรับผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น

 

สมาคมโรงพยาบาลเอกชนจึงเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมพิจารณาทบทวนอัตราค่าตอบแทนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และปรับระบบการจ่ายค่ารักษาสำหรับโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยเสนอให้กำหนดอัตราขั้นต่ำที่ 15,000 บาทต่อหน่วย Adjusted RW เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งลดภาระทางการเงินด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ออกบทวิเคราะห์เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นธุรกิจที่เติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจากโครงสร้างประชากรและอัตราการเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้น

 

รวมถึงข้อบังคับทางกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตน ส่งผลให้โรงพยาบาลมีรายได้เพิ่มจากระบบประกันสังคม โดยผู้ประกันตนที่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลสูงถึง 13.7 ล้านคน รวมถึงสวัสดิการประกันกลุ่มที่บริษัทเอกชนมอบให้แก่พนักงานจำนวนกว่า 2.6 ล้านกรมธรรม์

 

นอกจากในมิติของจำนวนอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจโรงพยาบาลเป็นกลุ่มธุรกิจบริการที่ไม่อ่อนไหวต่อราคาและรายได้ จากการที่เป็นธุรกิจบริการที่จำเป็นและทดแทนไม่ได้ในมิติของคุณภาพและระยะเวลาการเข้ารักษา ส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมีอำนาจส่งผ่านราคาค่าบริการได้ง่าย เป็นผลให้ค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ผ่านมา

 

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้มูลค่าตลาดของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนสามารถขยายได้ต่อเนื่อง โดย ttb analytics ประเมินว่า ปี 2567 ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมีรายได้รวม 3.22 แสนล้านบาท ขยายตัว 4% จากปี 2566 ที่มีรายได้รวม 3.14 แสนล้านบาท

 

ภาพ: wandee007 / Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising