×

ที่นั่งสำรองพิเศษ เราควรนั่งหรือปล่อยให้ว่าง: กรณีศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น

โดย Katto Panarat
06.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS READ
  • วัฒนธรรมการ ‘ลุกให้นั่ง’ ของคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ อย่างโตเกียวนั้น การจะลุกให้นั่งเพราะเห็นควรและสมยอมจะเกิดขึ้นเมื่อคุณไปนั่งในที่ Priority seat ซึ่งเป็นที่สงวนไว้ให้สำหรับบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ
  • ที่นั่งสำรองพิเศษ (Priority seat) จะถูกจัดที่นั่งไว้ให้โดยเฉพาะ โดยในหนึ่งตู้รถไฟของญี่ปุ่นจะมีสองจุดอยู่ที่หัวและท้ายตู้ แต่ละจุดจะมี 3-6 ที่นั่ง
  • เป็นวัฒนธรรมที่ค่อนข้างเป็นสากลที่คนต้องการการดูแลจะพาตัวเองไปอยู่ในที่พิเศษที่จัดเตรียมไว้ให้ นอกเหนือจากนั้นถือว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเพศไหนหรือวัยใดก็ตาม

เมื่อมีผู้สูงอายุท่านหนึ่งต้องยืนบนรถไฟต่อหน้าชายหนุ่มที่กำลังนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือโดยไม่สนใจที่จะลุกให้กับผู้สูงอายุคนนั้นทำให้เกิดเป็นบทสนทนาระหว่างผู้สูงอายุกับชายหนุ่มในคลิปที่ถูกแชร์กันอย่างแพร่หลาย และมีการแสดงความคิดเห็นกันไปต่างๆ นานา

 

ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นที่เมืองไทย จะต้องมีคำถามมากมายว่าทำไมชายหนุ่มผู้นั้นไม่ลุกให้ผู้สูงอายุนั่ง

 

แต่ว่าเรื่องนี้เกิดที่ญี่ปุ่น

 

วัฒนธรรมการ ‘ลุกให้นั่ง’ ของคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ อย่างโตเกียวนั้น การจะลุกให้นั่งเพราะเห็นควรและสมยอมจะเกิดขึ้นเมื่อคุณไปนั่งในที่ Priority seat ซึ่งเป็นที่สงวนไว้ให้สำหรับบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้พิการ

 

ที่นั่งสำรองพิเศษ (Priority seat) จะถูกจัดที่นั่งไว้ให้โดยเฉพาะ โดยในหนึ่งตู้รถไฟของญี่ปุ่นจะมีสองจุดอยู่ที่หัวและท้ายตู้ แต่ละจุดจะมี 3-6 ที่นั่ง ซึ่งถ้าเป็นรถไฟในโตเกียวจะแบ่งแยกสีอย่างชัดเจน สีที่พื้นจะต่างกับส่วนอื่น รวมทั้งสีของเบาะที่นั่ง สีของห่วงจับ และที่ประตูจะมีติดสติกเกอร์ให้เห็นชัดเจนว่าตู้นี้มีที่นั่ง Priority seat (ซึ่ง Priortity seat นั้นห้ามใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อป้องกันคลื่นมือถือรบกวนคลื่นไฟฟ้าสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ)

 

โดยทั่วไปแล้วที่นั่งตรงนี้จะถูกปล่อยว่าง ยกเว้นชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งที่นั่งตรงนี้จำเป็นต้องถูกใช้ หรือในบางเวลาที่ไม่มีผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้พิการมาใช้บริการ บุคคลทั่วไปก็สามารถใช้งานได้ตามปกติ และจะลุกให้เมื่อมีผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้พิการมาบริเวณที่ตรงนั้น

 

บรรดาบุคคลพิเศษที่ต้องการที่นั่งเหล่านี้ก็จะไปยังที่ที่จัด Priority seat ไว้ให้ หรือมีการแสดงตัวที่ชัดเจน เช่น สตรีมีครรภ์จะมีการติดป้ายหรือห้อยพวงกุญแจเพื่อแสดงว่ากำลังตั้งครรภ์ ซึ่งจะได้รับการเอื้อเฟื้อดูแลและระวังจากคนรอบข้างทั้งบนรถไฟฟ้าและทุกสถานที่

 

เป็นวัฒนธรรมที่ค่อนข้างเป็นสากลที่คนต้องการการดูแลจะพาตัวเองไปอยู่ในที่พิเศษที่จัดเตรียมไว้ให้ นอกเหนือจากนั้นถือว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเพศไหนหรือวัยใดก็ตาม

 

ประเทศญี่ปุ่นเองก็พยายามที่จะหาทางลดข้อถกเถียงตรงนี้อยู่เช่นกัน เพราะเรื่องนี้ไม่มีกฎหรือข้อบังคับว่าต้องทำอย่างไร เป็นเรื่องของความรู้สึกและวิจารณญาณของการอยู่ร่วมกันในสังคม

 

มีความพยายามในการหาวิธีแก้ไขปัญหาที่จะทำให้สามารถลดความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ได้ เช่น สร้างแอปพลิเคชันจับคู่ให้คนที่อยากนั่งกับคนที่พร้อมจะสละที่นั่งได้รู้กันเมื่อเปิดแอปพลิเคชันนี้ หรือสำหรับผู้สูงอายุที่บางคนดูอ่อนกว่าวัย ขึ้นรถไฟแล้วไม่เคยมีใครลุกให้นั่ง ทางเขตก็พร้อมจะออก ‘Silver pass’ สำหรับผู้ที่มีอายุมากว่า 70 ปีพกติดตัว

 

แม้แต่การทำสีเบาะที่นั่ง สีที่พื้น และห่วงจับให้ต่างจากพื้นที่อื่นในรถไฟฟ้าก็ทำให้หลายคนฉุกคิดขึ้นได้เหมือนกันว่า

 

“ตอนนี้เราอยู่ในโซนที่นั่งสำรองพิเศษ เราควรเอื้อเฟื้อที่นั่งให้กับคนอื่นด้วย”

FYI
  • (&HAND) เป็นแอปพลิเคชันที่ทดลองใช้ช่วงระยะเวลาแค่ 5 วัน ได้รับการสนับสนุนจาก Tokyo Metro และ LINE มีคนลงทะเบียนใช้มากถึง 11,415 ราย สามารถจับคู่ ‘สตรีมีครรภ์ที่ต้องการที่นั่ง’ และ ‘ผู้ที่พร้อมสละที่นั่งบนรถไฟ’ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้มากถึง 87% คาดว่าแอปพลิเคชันนี้จะถูกพัฒนาต่อไปและนำมาใช้ในชีวิตประจำวันหลังจากนี้
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising