×

ปริญญามองคดียุบเพื่อไทย ต้องมองว่าที่ทักษิณเรียกคุยพรรคร่วมที่จันทร์ส่องหล้าเข้าข่ายชี้นำหรือไม่

โดย THE STANDARD TEAM
21.10.2024
  • LOADING...

วานนี้ (20 ตุลาคม) ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นถึงกรณีที่เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง พิจารณา 6 คำร้องที่มีผู้ร้องขอให้ กกต. พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทยและ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม จากเหตุที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค กระทำการครอบงำหรือชี้นำ และ 6 พรรคการเมืองยินยอมให้ทักษิณครอบงำหรือชี้นำ โดยเห็นว่าคำร้องมีมูลและให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน

 

ผศ. ดร.ปริญญา กล่าวว่า ข้อเท็จจริงคือภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่ง ในเย็นวันเดียวกัน ทักษิณเรียกพรรคร่วมรัฐบาลประชุมกันที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เข้าใจว่าเพื่อให้ได้ข้อสรุปอย่างรวดเร็วว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะเป็นใครและไม่ให้เกิดการพลิกผัน แต่ปัญหาคือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ในมาตรา 28 ไม่เคยมีมาก่อน

 

ผศ. ดร.ปริญญา ระบุต่อไปว่า คำถามคือการที่ทักษิณเรียกประชุมถือเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำหรือไม่นั้น กกต. รับคำร้องแล้ว ข้อต่อไปต้องดูว่า กกต. จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแบบเดียวกับตอนที่ยื่นยุบพรรคก้าวไกล หรือจะใช้มาตรา 93 ที่ต้องมีการไต่สวนเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยชี้แจงก่อน โดยหลักการควรจะเปิดโอกาสให้ชี้แจงก่อน ในการต่อสู้คดีต้องสู้ว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้ถูกครอบงำ ควบคุม หรือชี้นำ

 

“คำว่าควบคุมหรือครอบงำอาจจะพิสูจน์ง่าย แต่คำว่า ชี้นำ เป็นคำที่กว้าง อยู่ที่ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นว่าที่ทักษิณเชิญมาประชุมเข้าข่ายเป็นการชี้นำหรือไม่ หากเข้าข่ายก็ต้องดูต่อไปว่าถึงขนาดที่ทำให้พรรคการเมืองและสมาชิกพรรคขาดอิสระเลยหรือไม่ หากใช่ ก็จะกลายเป็นปัญหาและต้องรอฟังกันต่อไปว่าเมื่อ กกต. รับคำร้องแล้วจะมีคำสั่งให้พรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆ มาชี้แจงเมื่อไร” ผศ. ดร.ปริญญา กล่าว

 

ส่วนที่มีการยื่นคำร้องขอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ทักษิณ ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 นั้น ผศ. ดร.ปริญญา ชี้ว่า คำร้องมุ่งไปที่ทักษิณและพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

 

ส่วนคำร้องที่ กกต. ไม่ได้ร้องทักษิณเพราะไม่ใช่สมาชิกพรรค จึงต้องดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะดำเนินการต่ออย่างไร หากวินิจฉัยว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองจริง กกต. จะต้องทำคำร้องใหม่ในการยุบพรรคและไม่สามารถทราบได้ว่าคำร้องไหนจะพิจารณาตัดสินก่อนและหลัง

 

“หากเป็นการถูกร้องในเรื่องการล้มล้างการปกครอง ต้องรอฟังว่าศาลจะกำหนดขั้นตอนการไต่สวนอย่างไร และส่วนของ กกต. ในชั้นคำร้องยุบพรรค ให้รอฟังก่อนว่า กกต. จะยื่นโดยตรงหรือไต่สวนก่อน ส่วนตัวเชื่อว่าต้องไต่สวนก่อนเพื่อให้มีข้อเท็จจริงมากกว่านี้” ผศ. ดร.ปริญญา กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X