ตลาดบรรจุภัณฑ์ทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจาก 1.10 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2566 มาเป็น 1.33 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2571 ซึ่งการเติบโตนี้มาจากหลากหลายเหตุผล ทั้งการเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์แบบยืดหยุ่น การบริโภคขนมหวานและลูกกวาดที่เพิ่มขึ้น การเติบโตในอุตสาหกรรมอาหาร ตลอดจนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน
เมื่อมองเข้ามาในบ้านเรา ‘อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์’ คือหนึ่งในอุตสาหกรรมของไทยที่ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลพบว่ามีมูลค่ารวมกว่า 3.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% โดยมีการคาดการณ์ว่าปี 2567 จะเติบโตขึ้นอีกกว่า 10%
ลึกเข้าไป ‘อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์’ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องราว 10% ส่งผลให้มีมูลค่าตลาดสูงถึง 7.35 แสนล้านบาท
เบื้องหลังของการเติบโตมาจากการที่บรรจุภัณฑ์ยังคงมีการปรับตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว มีบทบาทสำคัญในการรองรับกระบวนการผลิตทั้งในธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม การท่องเที่ยว และการส่งออก
แต่สิ่งสำคัญคือการต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวัน ไลฟ์สไตล์ รวมถึงเทรนด์ผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่มองหาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณค่า มีความสะดวกในการใช้งาน มีความปลอดภัย และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
ขณะที่อุตสาหกรรมการพิมพ์คิดเป็นสัดส่วนเป็น 40% ของมูลค่ารวม ซึ่งยังสามารถเติบโตได้ท่ามกลางดิจิทัลดิสรัปชันในด้านเทคโนโลยี ผ่านการปรับตัวเชื่อมโยงระหว่างสื่อสิ่งพิมพ์เข้ากับโลกดิจิทัล เพื่อรองรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์ด้านสิ่งพิมพ์ที่สร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ๆ และทันสมัย
ทำให้มีการนำนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาชิ้นงานให้ตอบโจทย์ความต้องการที่มากขึ้น อาทิ การพิมพ์ QR Code การพิมพ์ฉลากบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบ Smart Label ที่เชื่อมโยงกับ Digital Data ช่วยให้ผู้บริโภครับรู้ข้อมูลสินค้าได้ผ่านการสแกน QR Code เป็นต้น
อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เติบโตไปด้วยกันคืออุตสาหกรรมลูกฟูก ซึ่งได้รับอานิสงส์จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังเติบโต ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ตลาดจะเติบโตกว่า 10.5% และจะมีมูลค่าสูงถึง 8.2 แสนล้านบาท
อุตสาหกรรมลูกฟูกยังได้รับผลดีจากธุรกิจที่รองรับการขนส่งสินค้า ซึ่งจากการเติบโตส่งผลให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่องพัสดุเพื่อบรรจุสินค้าเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งจากผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่คาดการณ์ว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทยจะมีการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3% ต่อปี ตามสภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
แต่สิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือปัจจุบันเมกะเทรนด์ที่ผู้บริโภคทั่วโลกหันมาตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน ผ่านการสนับสนุนสินค้ารักษ์โลกกันมากขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ที่มุ่งดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้วัสดุที่ปลอดภัย การพัฒนาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก และแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ท่ามกลางตัวเลขที่เติบโตและการต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ได้เป็นสารตั้งต้นสำหรับการจัดงานมหกรรมแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์การพิมพ์และกระดาษลูกฟูกแห่งภูมิภาคเอเชีย หรือ ‘Pack Print International 2023 and Corrutec Asia 2023’
โดยในงานจะมีการเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องได้จัดแสดงนวัตกรรมด้านการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ที่ล้ำสมัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำไปต่อยอดทางธุรกิจ ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากลในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว
ไฮไลต์อยู่ที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่นั้นครอบคลุมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Economy) บรรจุภัณฑ์พรีเมียม (Premium Design) เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัย (Safety & Security) และบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน (Sustainability) โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โซลูชันบรรจุภัณฑ์จากพืชและไฟเบอร์ และอื่นๆ
ข้อมูลระบุว่า ปีที่ผ่านมามีสถิติผู้เข้าชมกว่า 10,000 คนจากทั่วโลก ทำให้เชื่อมั่นว่าในปีนี้จะได้รับการตอบรับที่ดีจาก Exhibitor มากขึ้น 20% รวมทั้งคาดการณ์ผู้เข้าชมและเข้าร่วมงานกว่า 15,000 คน
ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนได้ที่นี่:
https://www.pack-print.de/landing
อ้างอิง: